บาร์บี้ (Barbie) ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่มาแรงลำดับต้นๆ ของปีนี้เลยก็ว่าได้ เพราะด้วยกระแสและผลตอบรับที่ดีจากทั้งผู้คนทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม ทางการปากีสถานตัดสินใจ ‘เลื่อนฉาย’ หนังเรื่องนี้ไปก่อนด้วยเหตุผลที่ว่า “มีเนื้อหาไม่เหมาะสม”
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ฟารุคห์ มาห์มูด (Farrukh Mahmood) เลขาธิการคณะกรรมการประจำรัฐปัญจาบ ประเทศปากีสถานออกมาประกาศว่า “ภาพยนตร์ Barbie ต้องได้รับการตรวจสอบและการอนุมัติจากคณะกรรมการระดับจังหวัดก่อน ถึงจะเข้าฉายได้ นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องเซ็นเซอร์ฉากที่ถือว่าละเมิดคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนาของปากีสถาน”
อย่างไรก็ดี ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ก็เลื่อนฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันเช่นกัน และก่อนหน้านี้ เวียดนามยังสั่งแบน Barbie เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพราะเหตุผลที่ว่าหนังเรื่องนี้มีฉากแผนที่จีนอ้างสิทธิ์เหนือน่านทะเลจีนใต้แต่เพียงฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ การห้ามฉายภาพยนตร์ชั่วคราวนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น “เพิ่งได้ยินว่าบาร์บี้ถูกแบนในปากีสถาน? ฉันดูหนังเรื่องนี้แล้ว ซึ่งไม่เห็นว่ามีอะไรที่น่ากังวลทั้งไม่มีคำสบถ ไม่มีภาพเปลือย และไม่มีความรุนแรง”
อย่างไรก็ดี ผู้คนบางส่วนระบุว่า “ก็เพราะเนื้อหาหลักของเรื่องนี้พยายามผลักดันชุดความคิดที่ว่า “ผู้หญิงสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ ส่วนนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างสังคมของปากีสถานที่ยังคงเป็นระบบชายเป็นใหญ่”
ไม่เพียงเท่านี้ ปากีสถานเคยมีประวัติแบนภาพยนตร์ที่ท้าทายบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมมาก่อนแล้ว อย่างเมื่อไม่นานมานี้ชาวมุสลิมฝ่ายอนุรักษนิยมออกมาต่อต้าน Joyland ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลคานส์และยังเป็นภาพยนตร์ปากีสถานที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำปี 2023 โดยคนกลุ่มนี้กล่าวว่าหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาละเมิด ‘บรรทัดฐานของความเหมาะสมและศีลธรรมของสังคม’ เพราะผลงานเรื่องนี้นำเสนอความสัมพันธ์ของชายที่แต่งงานแล้วชาวปากีสถานกับผู้หญิงข้ามเพศ ท้ายที่สุดแล้ว หนังเรื่องนี้ก็ถูกแบนในปากีสถานและยังมีเรื่องอื่นๆ อีก
“การต่อต้าน Barbie ของทางการไม่ต่างกับ Joyland เพราะมันไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ มันขัดแย้งกับเสรีภาพที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ และการกระทำของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐปัญจาบที่รู้สึกว่าภาพยนตร์ที่อิงมาจากตุ๊กตาจะสามารถสั่นคลอนความเชื่อและค่านิยมของผู้คน 100 ล้านคนได้เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ” โอซามา มาลิก (Osama Malik) ทนายความด้านกฎหมายกล่าว
อ้างอิงจาก