“ฉันไม่เคยคิดจะเปลี่ยนโลก ฉันแค่อยากจะนำเสนอโลกอย่างที่มันเป็นอยู่ และในสมัยนั้นเราไม่มีแม้แต่หมอที่เป็นผู้หญิง”
เมื่อภาพยนตร์บาร์บี้ (Barbie) ของเกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig) เพิ่งออกฉายเพียง 2 สัปดาห์ ทำรายได้ทั่วโลกเกือบแตะ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (34.6 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้บาร์บี้กลายเป็นภาพยนตร์จากผู้กำกับหญิงเดี่ยวที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลเป็นที่เรียบร้อย และทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมยังยกย่องให้บาร์บี้เป็นหนึ่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2023 อีกด้วย
และสำหรับผู้ที่ไปชมบาร์บี้มาแล้ว คงจะเห็นการกล่าวถึงแมทเทล (Mattel) บริษัทที่สร้างบาร์บี้ด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างจิกกัดและล้อเลียน จนหลายคนคงจะรู้สึกประหลาดใจว่าทำไมบริษัทแม่ของบาร์บี้ถึงถูกแซะกันนะ?
แต่เราขอหยุดไว้แค่นี้! เพราะมันจะเป็นการสปอย เอาเป็นว่าผู้ที่ยังไม่ได้ดูบาร์บี้ก็สามารถอ่านบทความนี้ได้อย่างสบายใจ
เพราะเราจะมาเล่าเรื่องราวของแมทเทลผู้ให้กำเนิดบาร์บี้ ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันว่าบริษัทพบเจอกับความสำเร็จและมรสุมอะไรบ้างตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา และให้เหตุผลว่าทำไมแมทเทลถึงยังคงสถานะบริษัทของเล่นที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลและยังครองใจเด็กๆ จวบจนปัจจุบัน
จากความต้องการลองสิ่งใหม่ๆ สู่การเปิดร้านของเล่น
แมทเทลบริษัทของเล่นอันยิ่งใหญ่เริ่มต้นขึ้นในโรงรถเมื่อปี 1945 มาจากการร่วมมือระหว่างเอลเลียต แฮนด์เลอร์ (Elliot Handler) กับรูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) คู่สามีภรรยา และแฮโรลด์ แมตต์ แมตสัน (Harold Matt Matson) โดยพวกเขาเป็นทั้งนักออกแบบและวิศวกรที่ให้ความสนใจกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ พวกเขาจึงตัดสินใจเปิดกิจการเกี่ยวกับของเล่นขึ้น แล้วนับตั้งแต่นั้นมาวิธีการเล่นของเด็กก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
เพราะแม้ว่าบริษัทจะเปิดตัวมาร่วม 78 ปีแล้ว แต่แมทเทลยังครองตำแหน่งอันดับต้นๆ ของบริษัทผลิตของเล่น โดยกุญแจสู่ความสำเร็จที่สำคัญของแมทเทลคือ ‘การเป็นผู้นำและพร้อมที่จะปรับตัวตามวัฒนธรรมสมัยนิยมตลอดเวลา’ จนแมทเทลไม่ได้ถูกจดจำว่าเป็นเพียงแบรนด์ผลิตของเล่น แต่ยังถือเป็นตัวบ่งชี้ว่าสังคมในช่วงนั้นๆ เป็นอย่างไร และในทางกลับกันของเล่นของแมทเทลเองก็มีอิทธิพลต่อสังคมอีกด้วยเช่นกัน
กลับมาที่ยุคแรกเริ่มของแมทเทล สินค้าชิ้นแรกที่พวกเขาผลิตก็คือ อุเคะอะดูเดิ้ล (Uke-A-Doodle) กีตาร์ของเล่น และต่อมาก็มีการผลิตปืนแก๊ป รวมถึงของเล่นสำหรับเด็กเล็กต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นของเล่นที่มีกลไก ทำให้พวกมันต่างได้ผลตอบรับที่ดี จนแมทเทลเริ่มเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น
ถึงอย่างนั้น ลูกค้าขาประจำโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเด็กผู้ชาย ทำให้รูธเริ่มคิดหาไอเดียของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงมากขึ้น เพราะลูกสาวของเธอ บาร์บารา (Barbara) ก็มีของเล่นให้เล่นอย่างจำกัด ตรงกันข้ามกับเคน (Ken) ลูกชายของเธอที่สามารถจินตนาการได้ว่าตัวเองอยากจะเป็นอะไรก็ได้ ทั้งนักบินอวกาศ หมอ คาวบอย แต่เด็กผู้หญิงกลับมีเพียงตุ๊กตากระดาษแข็งแบนๆ ซึ่งเป็นทางเลือกเดียวของเด็กยุคนั้นถ้าสนใจเล่นอะไรที่เกี่ยวกับแฟชั่น และตุ๊กตาทารกที่จะจินตนาการเป็นได้แค่เพียงแม่หรือแม่บ้าน
“เด็กผู้ชายสามารถจินตนาการให้ตัวเองเป็นอะไรก็ได้ ต่างกับเด็กผู้หญิงที่มีของเล่นให้เล่นอย่างจำกัด”
ต้นแบบของบาร์บี้เป็นผู้หญิงนอกขนบในสมัยนั้น
ไอเดียที่อยากจะสร้างสรรค์ของเล่นให้เด็กผู้หญิงของรูธก็ยังติดค้างคาอยู่ในใจ อย่างทำไมถึงไม่มีของเล่น 3 มิติ ที่ลูกสาวของเธอจะสามารถจับมาแต่งตัวหรือสร้างจินตนาการร่วมกับมันเพื่อกระตุ้นความคิดที่ว่าผู้หญิงก็สามารถเป็นอะไรก็ได้เช่นกันบ้าง แต่เธอก็ยังคิดไม่ออก จนกระทั่งครอบครัวแฮนเลอร์มีโอกาสไปเที่ยวที่สวิตเซอร์แลนด์ และรูธก็พบกับตุ๊กตาต้นแบบของบาร์บี้นามว่า บิลด์ ลิลลี (Bild Lilli) ซึ่งมีที่มาจากการ์ตูนในหนังสือพิมพ์บิลด์ไซทังของเยอรมนี โดยเธอเป็นตัวละครที่ถูกสร้างมาเพื่อช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้กับผู้ชายเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี รูธชอบลิลลีมาก แต่ติดปัญหาที่ว่าลิลลีไม่ควรจะมาเป็นต้นแบบให้แก่เด็กๆ สักเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลที่สำคัญ คือ มันถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชายและเพื่อสนองความสุขให้ผู้ชายอีก เพราะมันเป็นตุ๊กตาที่ผู้ชายมักจะยื่นให้ผู้หญิงเมื่อเขาต้องการมีอะไรกับเธอ ทว่ารูธก็ตัดสินใจซื้อตุ๊กตาตัวนี้มาหลาย 10 ตัว และก็รีบจับมันเปลี่ยนโฉมทันที (ที่แทบจะไม่ต่างจากเดิม) แต่มันก็ออกมาเป็น ‘บาร์บี้’ ตัวแรกของโลก โดยชื่อของบาร์บี้ก็มาจากบาร์บาราลูกสาวของรูธนั้นเอง
แต่การให้กำเนิดบาร์บี้นั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะรูธต้องต่อสู้กับด่านหินต่อไป ซึ่งก็คือการโน้มน้าวให้สามีและคนที่ช่วยตั้งแมทเทลรักบาร์บี้เหมือนอย่างที่เธอรักให้ได้ แต่พวกเขาล้วนปฏิเสธและต่อต้านบาร์บี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ไม่ชอบแนวคิดที่ให้ตุ๊กตาของเด็กมีหน้าอก’ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ในบริษัทล้วนเป็นผู้ชาย ซึ่งแม้ว่าแมทเทลไม่ได้ระบุสัดส่วนจำนวนพนักงานชายและหญิงไว้อย่างชัดเจน แต่บริบทสังคมในสมัย 1950 ก็ให้คำตอบกับเราได้ประมาณหนึ่ง ประกอบกับคำกล่าวของ แคนเดซ เลห์แมน (Candace Lehman) ผู้เขียนเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในทศวรรษที่ 1950 ที่ระบุว่า “หลังจากทหารอเมริกันกลับบ้านจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงหลายคนตกงานและกลับไปทำหน้าที่เป็นแม่บ้านตามเดิม ซึ่งบรรทัดฐานทางสังคมในขณะนั้นตีกรอบให้ผู้หญิงควรเป็นแม่บ้าน ภรรยา และแม่ของลูกๆ ที่ดีอย่างไร้ที่ติ”
นอกจากนี้ สารคดี The Toys That Made Us ใน Netflix ยังระบุอีกว่า “แท้จริงแล้วพนักงานผู้ชายไม่เข้าใจวิธีการเล่นมากกว่า ซึ่งตรงกันข้ามกับพนักงงานผู้หญิงที่ทั้งชอบและเปิดใจรับไอเดียของรูธอย่างมาก” ทว่ารูธก็สามารถทำลายกำแพงนี้ลงได้ด้วยการพูดหนักแน่นต่อเหล่าผู้บริหารชายว่า “ไม่ว่าอย่างไรก็ตามของเล่นชิ้นนี้จำเป็นต้องได้รับการผลิต” ทำให้บาร์บี้จึงถูกนำไปเปิดตัวที่เทศกาลของเล่นในสหรัฐฯ เมื่อปี 1959 ทันที
แต่ปรากฎว่าบูธบาร์บี้นั้นกลับเงียบกริบ เนื่องจากพนักงานขายล้วนเป็นผู้ชาย ซึ่งพวกเขายอมรับสารพภาพตรงๆ ว่า “พวกเราไม่รู้ว่าจะเสนอขายบาร์บี้ให้กับลูกค้าอย่างไร”
ต่อมา ช่วงยุค 1990 รูธให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ในรายการ Eye to Eye with Connie Chung ว่า “ฉันสร้างบาร์บี้ขึ้นมาเพราะอยากให้เด็กผู้หญิงได้ฝันหรือสวมบทบาทถึงการเติบโตขึ้น และที่จริงแล้วผู้ใหญ่ทุกคนที่เด็กพวกนั้นเห็นก็มีหน้าอกนะ” โดยรูธมองว่า เด็กผู้หญิงจะไม่มีทางมองบาร์บี้เหมือนกับที่ผู้ชายมองอยู่แล้ว เพราะพวกเธอสนใจแค่เพียงว่าจะเล่นกับมันเพื่อสร้างพื้นที่แห่งจินตนาการ และมองข้ามหรือไม่สนใจเรื่องหน้าอกเลยด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ หลังจากที่บาร์บี้ล้มเหลวไม่เป็นท่าในเทศกาลของเล่น ทำให้รูธรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้จนพนักงานชายคนหนึ่งที่เป็นนักออกแบบเสนอให้เธอปรับแก้ลักษณะของบาร์บี้ และในช่วงเวลาเดียวกัน รูธยังเชิญเออร์เนสต์ ดิคเตอร์ (Ernest Dichter) นักวิเคราะห์จิตวิทยาชาวออสเตรียให้มาช่วยทำการตลาดและเจาะกลุ่มเป้าหมาย
แต่คำแนะนำของดิคเตอร์กลับเสนอว่า “ทำอย่างไรก็ได้ให้เหล่าพ่อแม่ของเด็กๆ เชื่อว่าตุ๊กตาตัวนี้จะทำให้ลูกสาวของพวกเขาเรียนรู้ที่จะทำตัวสวยๆ จากมันและเมื่อโตไปก็จะสามารถมัดใจผู้ชายดีๆ มาเป็นสามีได้ ซึ่งถ้ารูธสามารถทำได้ ผู้ปกครองก็จะมองข้ามเรื่องหน้าอกของบาร์บี้ไปโดยปริยาย” นับเป็นชุดความคิดที่สะท้อนถึงการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงแทบไม่เหลือชิ้นดี แต่ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น สังคมในขณะนั้นยังมีความตระหนักรู้ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศค่อนข้างน้อย
ถึงอย่างนั้น คำแนะนำของดิคเตอร์ก็ทำให้รูธสามารถเอาชนะใจทั้งผู้ชายที่แมทเทลและบรรดาพ่อแม่ของเด็กๆ ได้จริง จนบาร์บี้ได้รับไฟเขียวให้ผลิตและส่งไปสู่ร้านค้านับร้อยทั่วสหรัฐฯ เพราะเธอเปิดตัวบาร์บี้ในชุดแต่งงาน ซึ่งบาร์บี้ได้รับความนิยมมากจนของขาดตลาด และในปี 1968 แมทเทลมียอดขายบาร์บี้สูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ (17.3 หมื่นล้านบาท)
“บาร์บี้ถือเป็นตัวแทนของผู้หญิงในช่วงชีวิตหนึ่ง ก่อนที่พวกเธอจะต้องแบกรับภาระครอบครัว” เอ็ม จี ลอร์ด (M.G. Lord) ผู้เขียนหนังสือ Forever Barbie กล่าว
การเผชิญหน้าต่อการเลือกปฏิบัติทางเพศและกระแสต่อต้าน
การประสบความสำเร็จของบาร์บี้อย่างล้นหลาม ทำให้ รูธ แฮนด์เลอร์ กลายเป็นจุดสนใจของสื่อไปโดยปริยาย .. แต่ในทางด้านลบนะ เพราะถ้าลองดูหนังสือพิมพ์ในช่วง 1960 จะแสดงให้เห็นถึงการเหยียดเพศอย่างชัดเจน เช่น หนังสือพิมพ์ The Fort Worth Star-Telegram ฉบับวันที่ 2 มกราคม 1968 พาดหัวข่าวเกี่ยวกับรูธว่า “เหล่าของเล่นมี ‘ตุ๊กตา’ เป็นประธาน (Toys Have ‘Doll’ President)” และในเนื้อข่าวก็มักจะแสดงความคิดเห็นในเชิงขบขันหรือล้อเลียนต่อแนวคิดที่ว่าผู้หญิงก็สามารถเป็นเศรษฐีได้ด้วยตัวเองเหมือนกันนะ ไม่จำเป็นว่าต้องรวยจากทรัพย์สินที่ได้รับจากการหย่าร้าง มรดกตกทอด หรือเพราะเป็นดาราหนังที่โด่งดังเท่านั้นแล้ว
แต่ใช่ว่าทุกสื่อจะต่อต้านรูธ อย่างบทความจาก The Detroit American ก็ยกย่องรูธว่าเป็นผู้หญิงที่เก่งและมีความสามารถ ซึ่งเป็นการพรรณนาถึงผู้หญิงที่ค่อนข้างแปลกแยกจากมุมมองของสังคมที่มีต่อผู้หญิง (ในยุคนั้น) เป็นอย่างมาก
ระหว่างที่ผู้ก่อตั้งบาร์บี้ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทางเพศ (gender discrimination) อย่างโจ่งแจ้ง เธอยังต้องประสบกับการเหมารวมทางเพศ (gender sterotypes) เมื่อแมทเทลต้องการเปิดตัวเคน (Ken) ที่จะมีอะไรหลายๆ อย่างมากกว่าบาร์บี้เพราะเขาเป็นผู้ชาย ทั้งประกอบอาชีพที่บาร์บี้ไม่เคยได้สิทธินั้น เช่น นักโต้คลื่น นักฟุตบอล ในขณะที่บาร์บี้มักจะมีอาชีพให้เลือกอย่างจำกัดและยังเป็นอาชีพที่สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงเป็นได้ เช่น นางแบบแฟชั่น ครู นักบัลเลต์ (ถึงกระนั้นอาชีพที่หลากหลายของบาร์บี้ก็ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่จินตนาการของเด็กผู้หญิงอยู่ดี)
อย่างไรก็ตาม อาชีพของบาร์บี้มักจะขึ้นอยู่กับเคนเท่านั้น อย่างเคนเป็นนักบินอวกาศ บาร์บี้ถึงจะได้เป็นนักบินอวกาศด้วย ดังนั้นบาร์บี้ในช่วง 1960 ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มพลังให้ผู้หญิงอย่างแท้จริง เพราะพวกเธอดูเหมือนจะเป็นแค่ส่วนเติมเต็มของการทดลองทำอาชีพต่างๆ ของเคนมากกว่า
พอย่างเข้ายุค 1970 ยอดขายของบาร์บี้กลับตกต่ำลง และพอตรวจสอบถึงต้นตอปัญหาก็พบว่ารูธและเอลเลียต แฮนเลอร์ฉ้อโกงและแจ้งบัญชีเท็จ ทำให้ทั้งคู่ถูกบีบให้ลาออกจากแมทเทลเมื่อปี 1975 ซึ่งหลังจากรูธออกไป พนักงานผู้ชายก็เข้ามาคุมไลน์ของบาร์บี้แทน และพวกเขาก็ออกแบบสิ่งที่แฟนๆ ของบาร์บี้ต่างตำหนิและตีตราว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเกลียดอย่างที่สุด คือ ตุ๊กตานามว่าสคิปเปอร์ (Skippor) เพื่อนของบาร์บี้ ที่มีกลไกที่พอผู้เล่นหมุนแขนของเธอ สคิปเปอร์ก็จะเปลี่ยนจากเด็กมาเป็นวัยรุ่นที่มีหน้าอกทันที และเมื่อหมุ่นแขนกลับเธอก็จะกลับไปเป็นเด็กตามเดิม ซึ่งการออกแบบบาร์บี้ตัวดังกล่าว พนักงานผู้หญิงต่างขอไม่มีส่วนร่วมอย่างเด็ดขาดทั้งในด้านทำงานหรือแม้แต่ซื้อมัน
ไม่เพียงเท่านี้ รูธและบาร์บี้ยังพบกับกระแสต่อต้านจากนักสตรีนิยม (feminist) ที่ตำหนิตุ๊กตาบาร์บี้ โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนร่างกายที่ไม่สมจริง รวมทั้งทำให้คนผิวขาวดูสำคัญและมีอำนาจมากขึ้นไปอีก (whitewashing) เนื่องจากบาร์บี้มีแต่ผิวขาว และยังเป็นการส่งเสริมลัทธิวัตถุนิยม (materialism) เพราะถ้าลองดูบริบทสังคมในตอนนั้น ซึ่งยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น (cold war) ที่หลายๆ ประเทศยังได้รับผลกระทบจากสงคราม ผู้คนหลายล้านคนยังอดยาก และไร้ที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ พวกเขายังมองว่าบาร์บี้นั้นถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มุมมองที่สังคมมีต่อผู้หญิงยิ่งย่ำแย่ลง อาทิ เหล่าสตรีนิยมเดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียมเมื่อปี 1970 ที่นิวยอร์กต่างตะโกนลั่นว่า “ฉันไม่ใช่ตุ๊กตาบาร์บี้!” ซึ่งในสารคดีเรื่อง Tiny Shoulders: Rethinking Barbie กล่าวว่า “ตุ๊กตาบาร์บี้เป็นเกือบทุกอย่างที่ขบวนการสตรีนิยมพยายามหลีกหนี” เพราะบาร์บี้นั้นเปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์แบบที่ผู้หญิงในโลกแห่งความเป็นจริงไม่สามารถที่จะทำได้เลย
แมทเทลพร้อมปรับตัวกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงเสมอ
คำวิจารณ์และกระแสต่อต้านมากมายที่มีต่อบาร์บี้ ทำให้แมทเทลพยายามพัฒนาและปรับปรุงบาร์บี้อยู่เสมออย่างการสร้างบาร์บี้ที่เป็นซีอีโอ ศัลยแพทย์ หรือแม้แต่นักบินอวกาศ แต่แมทเทลก็ยังทำผิดพลาดหลายครั้งอยู่ดี และครั้งที่ใหญ่ที่สุด คือ ‘ตุ๊กตาบาร์บี้ Slumber Party’ ที่มาพร้อมกับเครื่องชั่งที่ตั้งเลข 110 ปอนด์ (ราว 49 กิโลกรัม) ค้างไว้ และยังมีหนังสือควบคุมอาหารจิ๋วที่มีคำแนะนำเพียงหนึ่งข้อคือ ‘อย่ากิน’ หรือการพยายามที่จะสร้างบาร์บี้ให้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากขึ้นด้วยการเปิดตัวบาร์บี้ผิวดำเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1980 แต่กลับตั้งชื่อว่า ‘โอรีโอ บาร์บี้’ จนเกิดการโต้เถียงกันเป็นวงกว้างว่าเป็นการเหยียดผิวหรือไม่ รวมถึง บาร์บี้ที่เปิดตัวในปี 1992 ซึ่งมีกลไกสามารถพูดได้ แต่กลับมีประโยคหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงทั่วทั้งโลกต่างอึ้งว่า “วิชาคณิตศาสตร์นั้นยาก” ซึ่งสะท้อนถึงอคติทางเพศว่าวิชาคำนวณ คือพื้นที่ของผู้ชาย
และอีกปัญหาใหญ่ที่แมทเทลต้องเจอก็คือ การวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนร่างกายของบาร์บี้นั้นส่งผลเสียต่อชุดความคิดเรื่องภาพลักษณ์ของเด็กผู้หญิง เช่น งานวิจัยหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Body Image พบว่า เด็กผู้หญิงอายุ 6-8 ขวบที่เล่นตุ๊กตาบาร์บี้มักจะตำหนิเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่เล่นกับตุ๊กตาที่มีสัดส่วนของร่างกายที่เหมือนจริงมากกว่า
แต่ที่ผ่านมาแมทเทลก็พยายามน้อมรับคำติชมและปรับปรุงแก้ไขบาร์บี้ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ จนในปัจจุบันบาร์บี้มีสีผิวถึง 35 แบบ ทรงผม 94 แบบ มีบาร์บี้ที่เป็นนอนไบนารี่ (non-binary) บาร์บี้ที่ใช้ภาษามือ และบาร์บี้ที่นั่งรถเข็น
“มันน่าทึ่งมากที่ตุ๊กตาบาร์บี้ยังคงเป็นที่นิยม ซึ่งฉันคิดว่าเป็นเพราะแมทเทลพยายามปรับตัวอยู่เสมอ” คริสเทีย บราวน์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ กล่าว
ทั้งนี้ สารคดี The Toys That Made Us ระบุว่า “พนักงานผู้หญิงที่บริหารสินค้าบาร์บี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แมทเทลกลายแบรนด์ของเล่นระดับต้นๆ ของโลก” แม้ว่าตลอดที่ผ่านมาแมทเทลและบาร์บี้ต่างประสบกับเรื่องอื้อฉาวและความผิดพลาดต่างๆ มากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบาร์บี้ยังมีอิทธิพลกับพวกเราอยู่ และในขณะนี้บาร์บี้ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้น เพราะกระแสการตอบรับที่ดีจากภาพยนตร์ Barbie ที่ทำให้เราเข้าใจโลกของบาร์บี้พร้อมๆ ไปกับโลกของเรา ทั้งประเด็นเรื่องสิทธิสตรี การเหมารวมทางเพศ ชายเป็นใหญ่ นอกจากนี้ แมทเทลเตรียมพร้อมที่จะสร้างภาพยนตร์จากของเล่นที่ถือลิขสิทธิ์อยู่อีก 14 เรื่อง เช่น บาร์นีย์ (Barney) ไดโนเสาร์สีม่วง และฮอทวิล (Hot Wheels) รถแข่งของเล่น
“บาร์บี้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้เด็กผู้หญิงทั้งหลายรู้ว่า พวกเธอจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็นและทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำ” คำกล่าวจาก ลิซ่า แมคไนท์ (Lisa McKnight) รองประธานอาวุโสฯ ของบาร์บี้ที่แมทเทล
อ้างอิงจาก