หลังจากปล่อย ‘จันทรยาน-3’ (Chandrayaan-3) จนเดินทางไปถึงดวงจันทร์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียก็ไม่รอช้า ส่ง ‘อาทิตยา–แอล 1’ (Aditya-L1) ออกจากฐานปล่อยจรวด เกาะศรีหริโกฏ ได้สำเร็จ วันนี้ (2 กันยายน) เวลา 11.50 น. ตามเวลาในอินเดีย มุ่งหน้าศึกษาดวงอาทิตย์
ยาน ‘อาทิตยา–แอล 1’ จะเดินทางไปศึกษาดวงอาทิตย์ ณ ‘จุดจอด’ ที่เรียกว่า จุด L1 หรือ ‘จุดลากร็องฌ์ 1’ (Lagrange point 1) ซึ่งเป็นจุดที่แรงโน้มถ่วงของโลกและดวงอาทิตย์หักล้างกันอย่างสมบูรณ์ ทำให้ประหยัดพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นจุดที่ต้องเดินทางไปด้วยระยะทาง 1.5 ล้านกิโลเมตรจากโลก คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางร่วม 4 เดือน
นั่นจึงเป็นที่มาของ ‘แอล 1’ ในชื่อภารกิจ ส่วน ‘อาทิตยา’ แน่นอนว่ามาจากพระอาทิตย์ นามของเทพในคติฮินดู ซึ่งอาจเรียกอีกชื่อว่า พระสุริยะ หรือ พระสูรยะ ก็ได้
องค์การอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation หรือ IRSO) ระบุวัตถุประสงค์ของภารกิจนี้ไว้หลายประการ หลักๆ คือการศึกษาชั้นบรรยากาศ เช่น ศึกษาชั้นบรรยากาศส่วนบนของดวงอาทิตย์ ศึกษาฟิสิกส์ของโคโรนาและกระบวนการทำความร้อนของมัน ศึกษาสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ หรือศึกษาการเกิดของลมสุริยะ เป็นต้น
หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของภารกิจ ‘อาทิตยา–แอล 1’ สังการาสุพรหมัณยัม เค. (Sankarasubramanian K.) เล่าว่า “ทั้งการศึกษาฟิสิกส์ของดวงอาทิตย์ และดาราศาสตร์ จะทำงานได้ดีด้วยดาต้า ดวงอาทิตย์คือดาวฤกษ์ของเราเอง และการเข้าใจมันก็สำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวันของเรา”
เขาบอกด้วยว่า อุปกรณ์ของภารกิจนี้ จะทำให้เก็บข้อมูลที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในภารกิจอื่นๆ ได้
ทั้งนี้ ISRO ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนว่าภารกิจ ‘อาทิตยา–แอล 1’ นี้ ใช้งบประมาณเท่าไร แต่ในสื่ออินเดีย ก็มีการคาดการณ์ว่า ใช้งบประมาณอยู่ที่ 3.78 พันล้านรูปี หรือราว 1.6 พันล้านบาท
อ้างอิงจาก