สำนวน ‘no-brainer’ ในภาษาอังกฤษ หมายถึงเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้สมองคิด แต่สำหรับ ‘แมงกะพรุนกล่อง’ (box jellyfish) นักวิจัยก็เพิ่งพบว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเอาตัวรอด ก็ถือว่าเป็นเรื่อง ‘no-brainer’ เหมือนกัน โดยเป็นสิ่งที่พวกมันทำได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องใช้สมองเลย เพราะตัวมันเองก็ไม่มีสมองอยู่แล้วตั้งแต่แรก!
ข้อค้นพบนี้เป็นผลมาจากการวิจัยศึกษาอย่างยาวนาน โดย ยาน เบียเล็กคี (Jan Bialecki) จากมหาวิทยาลัยคีล (Kiel University) ร่วมกับ อันเดอร์ส การ์ม (Anders Garm) โซฟี คาตริน (Sofie Katrine) ดาม นีลเซ็น (Dam Nielsen) และ เกิสตา นัคมัน (Gösta Nachma) จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) และเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology
เดิมที วงการวิทยาศาสตร์เคยสันนิษฐานกันเอาไว้ว่า สิ่งมีชีวิตอย่างแมงกะพรุน คงจะมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ไม่เยอะหรอก เพราะพวกมันมีระบบประสาทที่ไม่ได้ซับซ้อนเท่าไหร่นัก ที่สำคัญคือ ไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ซึ่งหมายถึงไม่มีสมอง
แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็หักล้างกับแนวคิดดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่า เจ้าแมงกะพรุนกล่องมีความสามารถในการเรียนรู้ได้มากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คิด โดยสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพื่อเอาตัวรอดในการเคลื่อนไหวในสภาพแวดล้อมได้
“การค้นพบเรื่องแมงกะพรุนกล่องนี้สำคัญมาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ระบบประสาทส่วนกลาง หรือสมอง ไม่ได้จำเป็นต่อการเรียนรู้เชิงเชื่อมโยง (associative learning)” พาเมลา ลีออง (Pamela Lyon) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแอดิเลด (University of Adelaide) จากออสเตรเลีย กล่าว
แมงกะพรุนกล่อง หรือในชื่อวิทยาศาสตร์ Tripedalia cystophora อาศัยอยู่ในระบบนิเวศป่าชายเลนในแถบแคริบเบียน โดยใช้ตา 24 ดวง เพื่อหาล่าเหยื่อ คือ โคพีพอด ตามรากโกงกาง ซึ่งรากพวกนี้แหละก็เป็นปัญหา ที่อาจเป็นอันตรายและสร้างความเสียหายต่อร่างกายของแมงกะพรุนที่มีความนุ่มนิ่มได้
นักวิจัยจึงจำลองสภาพป่าชายเลนขึ้นมาในห้องทดลอง และนำแมงกะพรุน 12 ตัวมาศึกษาว่าพวกมันหลบหลีกรากพวกนี้ได้ยังไง ซึ่งก็พบว่า พวกมันสังเกตจาก ‘คอนทราสต์’ หรือความต่างของแสงระหว่างรากกับน้ำ เพื่อวัดระยะห่างในการหลบหลีก โดยเมื่อแสงเปลี่ยน ก็อาจทำให้ว่ายชนเข้ากับราก แต่เพียง 3-5 ครั้ง ก็ทำให้พวกมันเรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ชนซ้ำเข้ากับรากเดิมได้อีก แม้จะมีแสงน้อยก็ตาม
ในการทดลองอีกชุดหนึ่ง นักวิจัยแยกดวงตา (rhopalia) ออกมาจากแมงกะพรุนกล่อง เพื่อมาวางตรงหน้าจอที่มีแถบสีเทา เป็นตัวแทนของรากโกงกาง ซึ่งตอนแรกก็พบว่า เมื่อมีแถบปรากฏ ก็ไม่มีการตอบสนองในเซลล์ประสาทใดๆ แต่ถ้าเพิ่มให้แถบสีเทามากับไฟฟ้าช็อตเล็กน้อย ที่เสมือนเป็นการเลียนแบบการว่ายชนราก ก็พบว่า ระบบประสาทมีการส่งสัญญาณ แปลได้ว่า เป็นการให้แมงกะพรุนว่ายหลบอุปสรรคดังกล่าว
“สำหรับวงการประสาทวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน นี่ถือว่าเป็นข่าวที่ค่อนข้างใหญ่ มันทำให้เห็นในอีกมุมว่า ระบบประสาทง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อน สามารถทำอะไรได้บ้าง และนี่ชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้ขั้นสูงอาจจะเป็นประโยชน์เชิงวิวัฒนาการที่สำคัญ ที่ได้มาจากระบบประสาทตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” อันเดอร์ การ์ม ระบุ
หลังจากได้ข้อค้นพบดังกล่าว นักวิจัยก็กำลังค้นหาว่า กลไกในการเรียนรู้และการจดจำความทรงจำของแมงกะพรุนกล่องนั้นอยู่ที่เซลล์ไหนกันแน่ ซึ่งถ้าหาเจอ ก็จะทำให้ศึกษากระบวนการดังกล่าวได้ และจะช่วยเปิดประตูไปสู่การศึกษาเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก
คำถามสำคัญที่พวกเขาถามกันในตอนนี้ คือ สรุปแล้วความสามารถในการเรียนรู้ มันเกิดขึ้นได้ในเซลล์ประสาทของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตเลยหรือเปล่า โดยไม่เกี่ยวว่าจะมีสมองหรือไม่ – ถ้าใช่ นี่ก็อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอย่างแมงกะพรุนกล่องยังมีชีวิตรอดมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะขาดอวัยวะที่สำคัญกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างสมองไป
อ้างอิงจาก