ถ้าใครเป็นคนชอบธรรมชาติน่าจะเคยได้ยินชื่อของ ‘แม่น้ำอเมซอน ริโอ นีโกร’ แม่น้ำที่มีสีดำสนิทและใหญ่ที่สุดในโลกที่มีจุดกำเนิดในประเทศโคลอมเบีย แต่ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซูริค ในสวิตเซอร์แลนด์ เพิ่งค้นพบว่ามีแม่น้ำที่ดำสนิทยิ่งกว่านั้นถึง 1.5 เท่า
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เดินทางไปสำรวจ ‘แม่น้ำรูกิ (Ruki River)’ ในประเทศคองโก และต้องตกตะลึงเมื่อพบว่า บางช่วงของแม่น้ำรูกิ ใกล้กับเขตเอมบานดากา มีความดำสนิทชนิดเมื่อจุ่มมือลงไปแล้ว มองไม่เห็น
สำหรับสาเหตุที่ทำให้มันมีสีดำสนิท เป็นเพราะการหมักหมมของสารอินทรีย์ทั้ง ใบไม้, กิ่งไม้ และซากสัตว์ที่ตกลงมา รวมถึงสภาพพื้นที่ตั้งของแม่น้ำที่เป็นพื้นดินราบเรียบ ทำให้เมื่อฝนตกน้ำขังและหมักหมมสารอินทรีย์มากขึ้นไปอีก
“สารอินทรีย์จากพืชผักที่ละลายในแม่น้ำแห่งนี้ดูดกลืนแสงสว่าง และยิ่ง (สารอินทรีย์ในน้ำ) เข้มข้นเท่าไหร่ มันจะยิ่งมีสีดำมากขึ้นเท่านั้น” ทราวิส เดรก หัวหน้านักวิจัยที่ตีพิมพ์งานชิ้นนี้ลงในวารสาร Limnology and Oceanography กล่าว เขาเปรียบว่ามันเหมือนกับการที่เรายัดถุงชาหลายถุงลงในแก้วเดียวกัน เพื่อให้กลิ่นและรสชาติของชาเข้มข้นขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง แม่น้ำสายนี้เหมือนอ่างบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชนาดใหญ่ ซึ่งถ้ามันถูกทำให้ลอยสู่ชั้นบรรยากาศจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในตอนนี้มันยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ข้างต้นน้อยมาก
“น้ำที่ขังอยู่ลุ่มน้ำคองโกเก็บสะสมก๊าซคาร์บอนประมาณ 29 ล้านตัน” หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว “และมันคงดีต่อสภาพแวดล้อมมากกว่า ถ้าลุ่มน้ำแห่งนี้ยังคงเปียกอยู่แบบนี้”
อ้างอิงจาก:
https://aslopubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/lno.12436
https://www.iflscience.com/why-the-ruki-may-be-the-worlds-darkest-river-71206
https://www.odditycentral.com/travel/scientists-discover-the-worlds-darkest-river.html
https://www.youtube.com/watch?v=ohUepTebMOg