เวลาเราไปร่วมงานอ่านหนังสือ เป็นปกตที่จะมีการแชร์ความเห็นและถกเถียงกันถึงประเด็นต่างๆ ก่อนย้ายไปสู่หนังสือเล่มอื่นๆ แต่กลุ่มอ่านหนังสือกลุ่มนี้ในเมืองเวนิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลาตลอด 28 ปีเพื่ออ่านหนังสือเล่มเดียวจนจบ และเตรียมอ่านซ้ำใหม่อีกรอบ โดยไม่คิดจะย้ายไปอ่านเล่มอื่น
เกอร์รี ฟิเอลกา นักทำหนังทดลองและผู้ก่อตั้งกลุ่มอ่านอ่านหนังสือนี้เล่าว่า กลุ่มนี้รวมตัวครั้งแรกในปี 1995 เพื่ออ่านหนังสือเล่มเดียวคือ ‘Finnegans Wake’ หนังสือแนวทดลองขนาดยาว 628 หน้าของ เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) นักเขียนชาวไอริช ผู้ถูกเปรียบดั่งเจ้าพ่อวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 เจ้าของผลงาน อาทิ Ulysses, Dublinners, A Portrait of the Artist as a Young Man
ในช่วงแรก สมาชิกกลุ่มประมาณ 10-30 คนจะวนเวียนมาพบปะกันเดือนละหนึ่งครั้งที่ห้องสมุดในเมืองเวนิส และใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ทีละ 2 หน้าร่วมกัน และใช้เวลาที่เหลือเพื่อถกเถียงเนื้อหาของหนังสือ ก่อนที่จะลดจำนวนการอ่านให้เหลือเพียง 1 หน้าและให้เวลามากขึ้นกับการถกเถียง โดยประเด็นที่พวกเขาถกเถียงกัน เช่น จุดเริ่มต้นของเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้อยู่ที่หน้าไหน สถานที่ที่ใช้เป็นฉากหลังคือที่ไหน หรือตัวละครในเรื่องนี้คือใครกันแก่
ความลึกซึ้ง (และชวนสับสน) ของหนังสือเล่มนี้ เป็นเพราะที่ถูกเขียนขึ้นด้วยวิธีกระแสสำนึกฉับพลัน มีการผสมและสร้างคำใหม่ขึ้นเพื่อใช้การเขียน มีการเล่นสำนวนและอ้างถึงบุคคลอื่นๆ หลายครั้ง อีกทั้งยังมีการอ้างอิงภาษาอื่นๆ อีกราว 80 ภาษาในหนังสือ ที่สำคัญ เจมส์ จอยซ์เองก็ไม่มีโอกาสเฉลยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ของเขา เพราะเขาเสียชีวิตหลังจากเขียนมันจบไม่นาน
หลังผ่านไป 28 ปี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มอ่านหนังสือกลุ่มนี้ก็อ่านหนังสือเล่มนี้ร่วมกันจบ หรือคิดเป็นเวลานานกว่าที่จอยซ์ใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้เสียอีก (จอยซ์ใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้ 17 ปี) แต่ดูเหมือนว่าพวกเขายังไม่เตรียมมูฟไปที่หนังสือเล่มต่อไปซะด้วยสิ
“กลุ่มของพวกเรายังไม่ยุติ ประโยคสุดท้ายของหนังสือมันพาเรากลับมาที่หน้าแรกของหนังสือ หนังสือเล่มนี้มันเป็นวงกลม มันไม่มีวันจบ” ฟิเอลกากล่าวกับ The Guardian ต่อ “ไม่มีหนังสือเล่มต่อไปหรอก พวกเราทั้งหมดอ่านหนังสือแค่เล่มเดียว ตลอดไป”
ถ้าจอยซ์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงต้องปลื้มปลิ่มกับประโยคข้างต้น เพราะเขาเคยเอ่ยถึงผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ของเขาไว้ว่า “(จะต้อง) ทุกข์ระทมกับความเพ้อฝันที่ทำให้นอนไม่หลับ” และกล่าวด้วยว่า “สิ่งที่ผมต้องการจากผู้อ่านคือ พวกเขาต้องทุ่มชีวิตทั้งหมดเพื่ออ่านงานของผม”
นี่อาจฟังดูเป็นเรื่องแปลก แต่ฟิเอลกาเล่าว่าไม่ใช่พวกเขาเท่านั้นที่พยายามอ่านหนังสือเล่มนี้ของจอยซ์ เพราะเท่าที่ฟิเอลการู้ มีกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ของจอยซ์อีกอย่างน้อย 52 กลุ่ม เช่น ในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่รวมตัวกันมานาน 40 ปี และอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นรอบที่ 4 แล้ว โดยใช้เวลาอ่านรอบแรกที่ 11 ปี
ทั้งนี้ ยังไม่มีใครแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นภาษาไทย แต่ถ้าใครที่สนใจงานเล่มอื่นๆ ของ เจมส์ จอยซ์ตอนนี้มี Dubliners และ A Portrait of the Artist as a Young Man ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้ว
อ้างอิง:
https://www.theguardian.com/books/2023/nov/12/california-venice-book-club-finngeans-wake-28-years
https://www.facebook.com/booksandbelongings/posts/3204416362925634/