อาจเป็นเพราะอารมณ์ขัน ความเบื่อ จิตใต้สำนึก หรือความตั้งใจที่ทำให้ศิลปินมักซ่อนอะไรบางอย่างไว้ในภาพวาดเสมอ เช่นเดียวกับภาพประกอบในหนังสือจากยุคกลางที่มักมีภาพของนักรบสู้กับหอยทากซ่อนอยู่ในหนังสือเสมอ
ยุคกลางหรือที่หลายคนเรียกกันว่ายุคมืดเป็นช่วงระหว่างศตวรรษที่ 4 – 14 โดยเป็นยุคที่คริสตจักรเรืองอำนาจสูงสุด ความเชื่อคือความรู้ และความคิดแบบวิทยาศาสตร์ยังไม่ตั้งไข่ สาเหตุหนึ่งก็เพราะการผลิตหนังสือในยุคนั้นยังเป็นเรื่องยาก ต้องใช้วิธีคัดลอกด้วยลายมือและส่งให้ศิลปินวาดภาพประกอบอีกทีเพื่อให้น่าอ่านยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตหนังสือเช่นนี้เอง ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาสงสัยว่า ทำไมมีภาพของนักรบสู้กับหอยทากในหนังสือเยอะแยะเต็มไปหมด?
คำถามข้างต้นถูกถามขึ้นครั้งแรกในบทความของ ลิเลียน แรนดาลล์ (Lilian Randall) ปี 1960 เมื่อ เธอพบว่าในหนังสือจากยุคกลาง 29 เล่มมีภาพของนักรบที่สู้กับหอยทากมากถึง 70 ภาพ บางภาพเป็นการเผชิญหน้าของห้าวหาญ แต่บางภาพเรียกได้ว่าเป็นภาพการร้องขอชีวิตจากหอยทากเลยทีเดียว
ถึงแม้นักประวัติศาสตร์ยังไม่มีข้อสรุปให้กับคำถามนี้ แต่หนึ่งในทฤษฎีที่น่าสนใจคือ หอยทากเป็นตัวแทนของชาวลอมบาร์ด (Lombard) หรือชาวเจอร์มานิคที่เข้ามายึดอิตาลีในช่วง 770 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะถูกพระเจ้าชาร์เลอมาญปราบและยึดสิทธิในการถือครองอาวุธ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1290 – 1325 หรือช่วงเดียวกับที่ภาพอัศวินสู้กับหอยทากจำนวนมากถูกเขียนขึ้น ชาวลอมบาร์ดเหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มปล่อยเงินกู้และเจ้าของโรงรับจำนำ หอยทากจึงถูกใช้แทนการเหยียดและเสียดสีชาวลอมบาร์ดว่าอ่อนแอและปลิ้นปล้อน
แต่ยังมีทฤษฎีอื่นที่ตีความภาพนี้อีก โดยพวกเขาเชื่อว่าภาพการต่อสู้ของอัศวินกับหอยทากเป็นภาพแทนของความแข็งแกร่งและกล้าหาญ เพราะในยุคกลาง หอยทากถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่มีความเข้มแข็ง เพราะพวกมันสามารถแบกบ้าน (กระดอง) ของตัวเองไปได้ทุกที่ ดังนั้น การเผชิญหน้ากับหอยทากจึงไม่ต่างจากการทดสอบจิตใจและความเข้มแข็งของนักรบ
แต่ยังมีบางคนที่มองว่าหอยทากเป็นสัญลักษณ์ของอนิจจัง หรือความตายที่หลีกหนีไม่พ้น ในบทความลงเว็บไซต์ digitalmedievalist ของ ลิซ่า สแปนเกนเบิร์ก (Lisa Spangenberg) เธอเปรียบหอยทากกับข้อความใน ไบเบิล ฉบับสดุดี 58 ที่เขียนไว้ว่า “ขอให้เขาเหมือนหอยทากที่ละลายเป็นเมือกเมื่อเคลื่อนตัวไป เหมือนทารกแท้งที่ไม่เคยเห็นดวงตะวัน”
นอกจากคำอธิบายข้างต้น ยังมีบางคนที่มองว่าภาพของหอยทากในหนังสือยุคกลางเป็นภาพแทนของการลุกฮือเพื่อต่อต้านชนชั้นสูง หอยทากแทนความเชื่องช้าแต่ไม่หยุดนิ่งของเวลา หรือบางคนที่มองว่ามันก็แค่ ‘มุกตลก’ ของนักวาดเท่านั้นแหละ.. ก็อาจจะจริง
อ้างอิงจาก:
https://www.bbc.com/future/article/20231221-the-mystery-of-the-medieval-fighting-snails
https://www.smithsonianmag.com/smart-news/why-were-medieval-knights-always-fighting-snails-1728888/
https://www.vox.com/2017/3/29/15093514/knights-snails-medieval-art
https://theconversation.com/why-medieval-manuscripts-are-full-of-doodles-of-snail-fights-206255
https://www.digitalmedievalist.com/2013/09/29/knight-vs-snail/