ในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2567 (Japanese Film Festival 2024) ที่ผ่านมา มีหนังเรื่องหนึ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษ หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า A Man (2022) ของผู้กำกับ เค อิชิคาวะ
เหตุผลที่เราสนใจไม่ใช่เพียงเพราะตัวหนังคว้าหลายรางวัลในเวที Japan Academy Awards หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าเป็นรางวัลออสการ์ญี่ปุ่น ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายและนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังประกอบกับเนื้อหาลุ่มลึก น่าติดตาม และการแสดงอันสมบทบาทของนักแสดงในเรื่องอีกด้วย
ส่วนอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เราประทับใจกับหนังเรื่องนี้อย่างมาก คือการปรากฏตัวของผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งในหนัง ที่ไม่เพียงเป็นแค่พร็อพประดับฉากธรรมดา หากแต่ผลงานชิ้นนี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แฝงเร้นถึงประเด็นในหนังอย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ A Mam (2022)*
A Man เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองชนบทของญี่ปุ่น โดย ริเอะ หญิงสาวแม่หม้ายลูกติด ได้พานพบกับ ไดสุเกะ ชายหนุ่มแปลกหน้าที่เพิ่งเข้ามาใช้ชีวิตและทำงานในเมืองแห่งนี้ ทั้งคู่ตกหลุมรัก แต่งงาน และสร้างครอบครัวที่อบอุ่นผาสุกร่วมกัน เรื่องก็คงจะไม่มีอะไร ถ้าไดสุเกะไม่บังเอิญประสบอุบติเหตุจนเสียชีวิตลง
1 ปีต่อมา ริเอะบังเอิญทราบความจริงจากญาติของไดสุเกะที่เดินทางมาเยี่ยมเยือน ว่าสามีที่ใช้ชีวิตอยู่กับเธอเป็นเวลา 3 ปีนั้น ไม่ใช่ไดสุเกะตัวจริง หากแต่เป็นใครบางคนที่สวมรอยแอบอ้างใช้ชื่อและนามสกุลที่ว่าอยู่แทน ด้วยความช็อก ริเอะจึงจ้าง อากิระ ทนายและนักสืบตามสืบเสาะตัวตนที่แท้จริงของสามีเธอว่าเขาเป็นใครกันแน่ แต่ยิ่งอากิระสืบลึกลงไปเท่าใด เขาก็ยิ่งค้นพบความจริงอันน่าสะเทือนใจ ที่ส่งผลให้ตัวเขากลับมาตั้งคำถามถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวตนของชายที่แอบอ้างเป็นไดสุเกะ ไปจนถึงตัวตนของมนุษย์ในหลากแง่มุม และท้ายที่สุด ตัวตนของเขาเอง และประเด็นเกี่ยวกับตัวตนที่ว่านี้เอง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับงานศิลปะที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ
ผลงานที่ว่านี้มีชื่อว่า La reproduction interdite หรือ Not to Be Reproduced (1937) ผลงานภาพวาดของ เรอเน มากริตต์ (René Magritte) จิตรกรชาวเบลเยียม หนึ่งในศิลปินชั้นนำแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealsim) ผลงานของเขามีรายละเอียดอันโดดเด่นเหนือธรรมดา และเต็มไปด้วยเรื่องราวแปลกประหลาดน่าพิศวง จนดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้แต่ในความฝันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพขบวนรถจักรไอน้ำที่พุ่งออกมาจากเตาผิง (Time Transfixed, 1938) หรือภาพก้อนหินขนาดมหึมาที่มีปราสาทสถิตอยู่บนยอด กำลังล่องลอยอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆบนท้องฟ้าราวกับไร้น้ำหนัก (The Castle of the Pyrenees, 1959)
ในทางกลับกัน เขากลับซ่อนจินตนาการอันโลดโผนพิสดารเอาไว้ภายใต้บุคลิกเรียบร้อย สุขุม เงียบขรึม ท่ามกลางเหล่าเพื่อนพ้องศิลปินร่วมขบวนการที่ต่างก็มีบุคลิกโดดเด่นแปลกประหลาด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินสุดซ่าอย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี ที่มีบุคลิกตรงข้ามกับมากริตต์ราวฟ้ากับเหว) เขาเร้นกายจากแสงไฟสาดส่องราวกับเป็นบุคคลปริศนา เช่นเดียวกับบุคคลในภาพวาด Not to Be Reproduced ภาพนี้ของเขา
Not to Be Reproduced เป็นภาพวาดสีน้ำมันที่นำเสนอภาพของผู้ชายคนหนึ่งกำลังยืนหันหลังมองกระจกเงาบานหนึ่งอยู่ ภาพวาดนี้คงจะไม่แปลกอะไร ถ้าเงาสะท้อนของชายคนที่ว่านี้จะไม่หันหลังให้กับเขา (และผู้ชม) แทนที่จะสะท้อนเงาทางด้านหน้าของเขาที่จ้องมองกระจกอยู่ออกมา อย่างที่เราคาดหวังว่าจะเห็น
ความน่าสนใจของภาพวาดภาพนี้ก็คือ ถึงแม้ภาพวาดนี้จะแสดงความพิลึกพิลั่นอันเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่กระจกเงาจะสะท้อนภาพด้านหลังของคนที่ยืนจ้องมันออกมา หากแต่ในภาพยังมีหลักฐานที่ยืนยันว่าสิ่งที่ชายผู้นี้ยืนจ้องอยู่นั้นคือกระจกเงาจริงๆ (หาใช่หน้าต่างที่มีฝาแฝดของชายผู้นี้ยืนอยู่ข้างหน้าไม่) ก็คือหนังสือเล่มหนึ่ง ที่วางอยู่ทางมุมขวาของเคาน์เตอร์เตาผิงหินอ่อน ที่เงาสะท้อนของหนังสือบนกระจกนั้นเป็นเงาสะท้อนแบบกลับข้างจากซ้ายเป็นขวาตามปกติ
หนังสือเล่มที่ว่านี้คือนิยายชื่อ The Narrative of Arthur Gordon Pym of Nantucket ของ เอ็ดการ์ อัลเลน โพ (Edgar Allan Poe) นักเขียนเรื่องลึกลับ/สยองขวัญ/สืบสวนชื่อดังระดับตำนาน ผู้เป็นนักเขียนคนโปรดของมากริตต์ จนทำให้เขาใส่หนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นการชาบูแด่โพนั่นเอง แถมเรื่องราวในนิยายเล่มนี้ยังเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่น น่าพิศวง และมีตอนจบที่ขัดใจผู้ชมจนเป็นที่เลื่องลือไม่ต่างอะไรกับภาพวาดภาพนี้ของมากริตต์
ส่วนชายผู้ยืนจ้องกระจกในภาพนี้ก็คือ เอ็ดเวิร์ด เจมส์ (Edward James) กวีชาวอังกฤษ และผู้อุปถัมภ์ตัวยงของเซอร์เรียลลิสม์ ผู้จ้างวานให้มากริตต์วาดภาพนี้ขึ้นมา โดยเอ็ดเวิร์ดจ้างให้มากริตต์วาดภาพนี้เพื่อนำไปประดับในห้องบอลรูมในบ้านของเขา ร่วมกับภาพวาดของมากริตต์อีก 2 ภาพอย่าง The Red Model (1937) และ Time Transfixed (1938)
ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน มากริตต์ยังเคยวาดภาพพอร์ตเทรตของเจมส์อีกภาพอย่าง The Pleasure Principle (1937) ที่นำเสนอภาพทางด้านหน้าของเจมส์นั่งอยู่บนโต๊ะ แต่ใบหน้าของเขาก็ยังถูกบดบังด้วยแสงสว่างจ้าเหมือนไฟสปอตไลต์หรือไฟแฟลชอยู่ดี
มากริตต์วาดภาพ Not to Be Reproduced ด้วยรายละเอียดอันประณีตสมจริงอย่างชำนิชำนาญ ทั้งเงาสะท้อนบนเรือนผม เสื้อสูท กรอบกระจก เตาผิงหินอ่อน หรือแม้แต่หนังสือ ที่ดูเหมือนจริงจนคล้ายกับภาพถ่าย รายละเอียดเหล่านี้ยิ่งขับเน้นความแปลกประหลาดให้เข้มข้น จนสร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนให้ผู้ชม (ในยุคนั้น) อย่างแรง ยิ่งการวาดภาพเงาสะท้อนในห้องให้ดูว่างเปล่า ไร้การประดับประดาใดๆ ผนวกกับการให้แสงหม่นมัวสลัวราง ยิ่งทำให้ภาพวาดนี้ดูลึกลับน่าพิศวงอย่างมาก
สำหรับมากริตต์ ภาพวาดไม่ใช่การเลียนแบบความเป็นจริง หากแต่เป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ มากกว่าจะแสดงออกถึงสิ่งที่ตามองเห็น เขามักใช้ผลงานของเขากระตุ้นให้ผู้ชมมองข้ามพ้นไปจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ดังเช่นชื่อของภาพวาด Not to Be Reproduced ที่ภาพวาดไม่จำเป็นต้องคัดลอก (Reproduced) ความเป็นจริงเสมอไป ไม่ต่างอะไรกับการที่กระจกเองก็ไม่จำเป็นต้องสะท้อนความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้ามันเสมอไปเช่นเดียวกัน ดังคำกล่าวของมากริตต์ที่ว่า
“คุณสามารถตั้งคำถามว่าอะไรคือจินตนาการและอะไรคือความเป็นจริง สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ (อยู่ตรงหน้าเรา) หรือการปรากฏขึ้นของความเป็นจริงหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่อยู่ภายในและภายนอกความจริงนั้น การมีอยู่ของเราคือความเป็นจริงหรือความฝัน ถ้าความฝันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการตื่นและการมีชีวิต การมีชีวิตและการตื่น ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความฝันด้วยเช่นกัน”
ปัจจุบันภาพวาด Not to Be Reproduced ถูกสะสมและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Boijmans Van Beuningenในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
นอกจากหนังเรื่อง A Man แล้ว ภาพวาดนี้ยังไปปรากฏในหนังอีกหลายต่อหลายเรื่อง อย่าง Dolores Claiborne (1995) Secret Window (2004) และ The Double (2013) อีกด้วย
ความเชื่อมโยงที่น่าสนใจระหว่างภาพวาด Not to Be Reproduced และหนัง A Man นั้นอยู่ในรูปของ ‘กระจกเงา’ ที่สะท้อน (หรือไม่สะท้อน) ตัวตนของผู้ที่จ้องมองมัน เพราะในขณะที่ตัวละครผู้สวมรอยแอบอ้างเป็นไดสุเกะนั้นมีอาการหวาดกลัวเงาสะท้อนของตัวเองที่ปรากฏบนกระจก เพราะมันย้ำเตือนให้เขาระลึกถึงตราบาปอันหนักอึ้งที่ติดตัวเขามานับแต่อดีต จนทำให้เขาต้องหลีกหนีจากตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเอง ด้วยการสวมรอยใช้ชื่อและนามสกุลของคนอื่น
ในทางกลับกัน เงาสะท้อนบนกระจกในภาพวาด Not to Be Reproduced ที่ปฏิเสธที่จะสะท้อนตัวตนของบุคคลผู้ยืนจ้องมองออกมาอย่างชัดเจน (แต่ดันหันหลังให้แทน) นั้น ก็กระตุ้นให้ตัวละครอย่าง อากิระ ที่ตามสืบเสาะความเป็นจริงเบื้องหลังพฤติการณ์ของไดสุเกะตัวปลอม ตั้งคำถามว่า ท้ายที่สุดแล้ว อัตลักษณ์ ตัวตน หรือแม้แต่ชื่อเสียงเรียงนามของคนคนหนึ่งนั้นมีความสำคัญหรือไม่
และอะไรคือความหมายที่แท้จริงของตัวตนของมนุษย์เรากันแน่ หรือแม้แต่ตัวตนของเขา และตัวตนของผู้ชมอย่างเราก็ตาม
อ้างอิงจาก