เมื่อกลิ่นอายความฝันยังคงค้างคา จึงถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาพวาด อันมากล้นไปด้วยจินตนาการ
พอเริ่มหลับตาเข้าสู่ห้วงนิทรา เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยโลดแล่นอยู่ในความฝันอันแสนพิสดาร ซึ่งหลายครั้งมันก็คลับคล้ายคลับคลากับความเป็นจริง จนยากจะแยกได้ ทว่าพอตื่นขึ้นมา จะมีสักกี่คนเชียว ที่จำภาพฝันเหล่านั้นได้
บางทีความฝันอันเหนือจินตนาการ อาจนำพาให้เราได้พบกับการทบทวนเรื่องราวในช่วงชีวิตที่ผ่านมา The MATTER ชวนคุยกับ บอม—สหภาพ เลิศสมาธิจิตร ศิลปินรุ่นใหม่ ผู้นำเอาความฝันอันขมุกขมัว และประสบการณ์ชีวิตที่เคยพบเจอ มาถ่ายทอดสู่ผลงานแนวเซอร์เรียลลิสม์ ผ่านนิทรรศการเดี่ยวของตนเองถึง 2 ครั้ง ในชื่อว่า ‘Formation of Nightmare’ และ ‘Reflections of a Nightmare’ ที่ชวนให้ผู้ชมได้เข้าไปสำรวจเส้นแบ่งอันบางเบาระหว่างความเป็นจริงและความฝัน
ในบทสัมภาษณ์นี้เราจะค่อยๆ พาทุกคนสำรวจห้วงความคิด เริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่รายล้อมไปด้วยศิลปะ สู่ช่วงวัยแห่งการเป็นศิลปิน และสรุปจบด้วยเป้าหมายแห่งอนาคตไปพร้อมๆ กัน
วัยเด็กและการเริ่มต้นในเส้นทางศิลปิน
จุดเริ่มต้นความสนใจในศิลปะเป็นมาอย่างไร
“สำหรับความสนใจในศิลปะอาจต้องเล่าย้อนกลับไปวัยเด็ก คุณพ่อคุณแม่เคยเรียนศิลปะกันมาทั้งคู่เลย แต่พวกเขาไม่ค่อยมีเวลาสอนอะไรพวกนี้ให้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะซื้อพวกดินน้ำมัน กระดาษ ปากกา ดินสอสีอะไรพวกนี้ มาให้มาลองเล่นตั้งแต่อนุบาลเลยครับ”
“ระหว่างนั้นผมก็วาดรูปเล่นๆ มาโดยตลอด มีรับจ้างวาดให้เพื่อนบ้าง แล้วพอขึ้นมัธยมปลาย ด้วยความที่ไม่เก่งสายสามัญเท่าไหร่ คุณแม่เลยอยากให้ไปเรียนสายอาชีพแทน ตัวผมเองแอบหวั่นใจนิดหน่อยครับ แต่พอได้เข้าไปเรียนจริงๆ ก็เปิดโลกผมพอสมควร ประกอบกับตัวเองซึ่งมีพื้นฐานการวาดภาพอยู่แล้ว เลยไปต่อยอดอะไรได้ง่ายมากขึ้น ผมจึงได้เป็นหัวๆ ของรุ่นในสาขาเดียวกัน”
แน่วแน่กับเส้นทางศิลปะมาตลอดเลยไหม
“ใช่ครับ พอช่วงใกล้เรียนจบ ผมเริ่มติววาดภาพ ซึ่งเป็นช่วงที่จุดไฟเรื่องศิลปะในตัวผมขึ้นมามากๆ อาจารย์เลยแนะนำให้ลองไปสอบเพาะช่างหรือลาดกระบังดูครับ ผมจึงลองไปสอบตามคำแนะนำของอาจารย์ ผลสรุปคือติดหมดเลยครับ แต่ว่าอาจารย์ก็ยังอยากให้ผมได้ลองไปสอบอีกที่ นั่นคือ คณะจิตรกรรม ของมหาวิทยาลัยศิลปากร”
“ใจลึกๆ ผมเทไปทางเพาะช่าง เพราะเพื่อนผมส่วนใหญ่ไปเรียนต่อที่นั่นกันหมดเลย แต่ก็อยากลองดู สรุปผมดันสอบติดศิลปากรด้วย ซึ่ง ณ ตอนนั้น ค่าเทอม ค่าแรกเข้า รวมถึงค่าอุปกรณ์ต่างๆ ค่อนข้างสูงเลย ผมมีลังเลอยู่สักพักหนึ่งเหมือนกัน จนคุณพ่อ คุณแม่ รวมถึงอาจารย์ ต่างก็เชียร์ให้ไปศิลปากร ซึ่งทั้งคุณพ่อคุณแม่ยินจะสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายให้ สุดท้ายผมเลยเลือกเรียนศิลปากรครับ”
เหตุผลที่ตัดสินใจยังอยู่บนเส้นทางศิลปะต่อคืออะไร
“ระหว่างช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ประมาณ ปี 4 เพื่อนรอบตัวเริ่มมีติดต่อกับทางแกลอรี่เอาไว้บ้างแล้ว ส่วนตัวผมกับเพื่อนในกลุ่มก็รับทำงานฟรีแลนซ์พวกป้ายต่างๆ ตามห้างอยู่เหมือนกัน เอาเข้าจริง ณ ตอนนั้น ตัวของผมยังไม่มั่นใจเลยด้วยซ้ำว่า อยากทำอะไรต่อ ควรไปทำศิลปินแบบเต็มตัวเลยดีไหม หรือรับทำฟรีแลนซ์แบบนี้ต่อดี”
“ประกอบกับเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่ม มีคุยกับทางแกลอรี่และได้เข้าไปเป็นศิลปินในสังกัด นั่นเลยทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ใจจริงแล้ว ผมเองยังอยากทำงานศิลปะแบบเต็มตัวเหมือนกัน เพราะอยากต่อยอดจากศาสตร์และความรู้ที่เรียนมา”
“หลังจากแสดงศิลปนิพนธ์เสร็จเรียบร้อย ผมเลยรวบรวมพอร์ตของตนเอง แล้วเอาไปยื่นกับทางแกลอรี่ดู ซึ่งก็คือแกลอรี่ที่ผมสังกัดอยู่ตอนนี้ หลังจากนั้นถึงได้มีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของตนเอง แล้วก็มีงานกลุ่มร่วมกับศิลปินคนอื่นบ้าง ต่อเนื่องมา จนมีนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองอีกครั้ง เพิ่งจัดไปเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมานี่เองครับ”
จากความสนุกและความสนใจต่อศิลปะในช่วงวัยเด็ก สู่การค่อยๆ ทำความรู้จักกับศาสตร์นี้อย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงวัยเรียน จนมันได้นำพาให้เขาได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางของศิลปินอย่างเต็มตัว พร้อมกับการได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้ออกมาในรูปแบบผลงานศิลปะ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็น จะต้องรู้ได้ทันทีว่า นี่คือผลงานของบอม
ความฝันและตัวตน
อยากให้ช่วยนิยามคำว่า ‘ศิลปะ’ ในมุมมองของตัวเองหน่อย
“สำหรับผมแล้ว ศิลปะคือการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ ไม่ทางใดก็ทางนึง ผมมองว่าศิลปะสามารถเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ เล่นดนตรี เขียนหนังสือ หรือแม้การพูดคุย ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะทั้งนั้น”
แล้วแนวคิดโดยรวมในผลงานที่ทำคืออะไร
“ผลงานของผมจะพาไปสำรวจเส้นแบ่งที่บางเบาระหว่างความจริงกับจินตนาการในความฝัน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงประสบการณ์ในแต่ละวัน แล้วแปรเปลี่ยนออกมาเป็นภาพ ผ่านการจัดองค์ประกอบมันขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างออกมาในรูปแบบภูมิทัศน์ โดยมีพวกหุ่นนิ่งตั้งอยู่ในตัวผลงาน”
“พวกหุ่นนิ่งซึ่งตั้งอยู่ในตัวผลงาน เป็นเหมือนสัญญะของตัวเอง ที่ผมรู้สึกว่าแสดงออกถึงอะไรบางอย่าง มันก็อาจเชื่อมได้บ้างหรือไม่ได้บ้าง ผมจึงใช้แนวคิดเรื่องความฝันและฝันร้ายมาเป็นตัวเชื่อมมันอีกทีหนึ่ง เพื่อให้สามารถตีความกันออกไปได้กว้างขึ้น”
“ผมเชื่อว่าผู้ชมแต่ละคนน่าจะตีความหมายภาพของผมออกมาได้ไม่เหมือนกันหรอก นั่นเพราะประสบการณ์ของแต่ละคนมี ไม่ได้มีร่วมกันมา ท้ายสุดแล้วแนวคิดหรือความหมายในภาพ อาจขึ้นอยู่กับการตีความที่ไม่เหมือนกันอยู่ดี”
ทำไมต้องเป็นความฝัน
“ผมมองว่าความฝันมันเกิดจากจิตใต้สำนึกและจิตสำนึกของเรามาผนวกรวมกัน มันจึงเป็นเหมือนตัวแทนเรื่องราวประสบการณ์ ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นตอนเด็กหรือตอนโตก็ได้ ผมจึงรู้สึกว่า ผมสามารถหยิบจับสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเขียนแล้วสร้างสัญญะให้มัน จนทำให้พวกมันมีความหมายขึ้นมาได้”
“ตัวผมเองชื่นชอบงานแนวเซอร์เรียลลิสม์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยอยากถ่ายทอดผลงานให้ออกมาเหนือธรรมชาติ หากลองคิดตามว่า เวลาเราฝัน แล้วจู่ๆ มีตัวอะไรไม่รู้โผล่มา แล้วเป็นหน้าเพื่อนเราในวัยเด็ก ซึ่งหากพิจารณาให้ดี มันอาจมาจากปมบางอย่างระหว่างเราและเพื่อนที่เคยมีร่วมกัน”
“สำหรับผมแล้ว ความฝันจึงเป็นเหมือนความทรงจำซึ่งถูกสมองนำมาเชื่อมโยงกันเหมือนกิ่งไม้ ต่อกันไปเรื่อยๆ แล้วความทรงจำเหล่าจากความฝันเหล่านี้ จึงเป็นเหมือนสิ่งเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถเกิดขึ้นในความเป็นจริงได้”
ถูกไหม ถ้าจะบอกว่า ความฝันคือแรงบันดาลใจทำให้สร้างผลงานต่างๆ ขึ้นมา
“ใช่ครับ แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ มาจากภาพสั้นๆ ในความฝัน เหมือนเวลาฝัน ผมมักจะจำมันไม่ได้ 100% หรอกว่า ฝันอะไรไปบ้าง พอตื่นขึ้นมา แล้วถูกใจเรื่องนี้ ผมเลยจะจดมันเอาไว้ เป็นโน้ตสั้นๆ แล้วลองเอามาจินตนาการต่อว่ามันจะเป็นอย่างไร”
“ภาพที่เขียน มันอาจไม่ได้ออกมาเหมือนกับในความฝันจริงๆ เท่าไหร่หนัก ทว่าผมแค่เอากลิ่นอายของมันมาใช้เป็นสัญญะในงาน ร่วมกับประเด็นต่างๆ ที่ผมได้พูดคุยกับผู้คนรอบตัว แล้วดันรู้สึกว่า มันดึงดูดความสนใจ ผมก็นำมันมาใส่ลงไปในผลงานด้วยเช่นกัน”
เหมือนว่าประสบการณ์ในชีวิต มีส่วนไม่น้อยเลยกับการสร้างสรรค์ผลงาน
“มีส่วนครับ ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับฝันร้าย บางครั้งความกดดันในชีวิตก็ส่งผลต่อความฝันด้วยเหมือนกัน หรือบางครั้งอาจกดดันตัวเองจากเรื่องต่างๆ เช่นเราเป็นน้องคนเล็กของบ้าน ผมมักมองภาพพี่ชายตนเองมั่นคงและต้องแบกรับภาระต่างๆ นานา ตัดภาพมาตัวเรา เรากำลังทำอะไรอยู่ บางทีผมก็หยิบรื่องแบบนี้มากดดันตัวเอง หรือ หลากหลายความรู้สึกหรือประสบการณ์จากเรื่องอื่นๆรอบตัว ทั้งหมดทั้งมวลมีส่วนกับผลงานครับ”
นอกจากความฝันกับประสบการณ์ มีอะไรอีกไหม ที่มีส่วนต่อการสร้างผลงานในแต่ละชิ้น
“จริงๆ แล้วความสนใจของผมในแต่ละช่วงเวลา มีส่วนในการเขียนภาพเช่นกันครับ อย่างช่วงหนึ่งผมสนใจเรื่องการกำเนิดมนุษย์ ผมเลยมักจะใส่อะไรที่เกี่ยวข้องกับตำนานเหล่านั้นลงไป แต่ยังคงหาสัญญะอะไรบางอย่างมาเชื่อมโยงกับความฝันของตนเองอยู่ดี”
ถ้าให้มองผลงานของตัวเอง คิดว่าเอกลักษณ์สำคัญคืออะไร
“ความสลัวๆ ของผลงาน ซึ่งมาจากการเลือกใช้สีดำและสีออกตุ่นๆ เพื่ออยากให้มันดูเป็นความมืด ขมุกขมัว เหมือนอยู่ในฝุ่นควัน เป็นบรรยากาศ ที่ทำให้นึกถึงความฝัน พร้อมชวนให้เราไม่มั่นใจว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง”
ความฝันสำหรับบอมจึงไม่ใช่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นขณะตอนหลับ แล้วดับหายไปหลังจากตื่นนอน ทว่ามันคือเรื่องราวชีวิต ที่ได้แต่งแต้มไปด้วยจินตนาการภายในจิตใจ เขาจึงได้หยิบเศษเสี้ยวของความฝันและความทรงจำเหล่านั้น มาถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานมากมาย เพื่อชวนผู้ชมให้ตั้งคำถามต่อเส้นแบ่งอันเบาบางนี้กันต่อไปว่า อะไรคือความฝัน แล้วสิ่งใดกันแน่คือความจริง
ผลงานและเส้นทางในอนาคตของบอม
ล่าสุดกับการร่วมงานกับ Phum Viphurit เป็นอย่างไรบ้าง
“เริ่มต้นด้วยคุณภูมิทักมาหาผมผ่านอินสตาแกรม พร้อมกับบอกชื่นชอบผลงานของผมชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงาน ที่ผมเคยจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งก่อนของผม แล้วอยากให้ผมช่วยวาดภาพหน้าปกอัลบั้มให้ เพราะเขามองว่าคอนเซ็ปต์ของผมน่าจะพอเช่อมโยงกับงานของเขาได้ ซึ่งเป็นการพูดถึงเรื่องความตาย การเกิดใหม่ การเข้าไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ระหว่างทำงานผมกับคุณภูมิตกลงงานผ่านออนไลน์หมดเลยครับ”
ขอ 3 ภาพ ที่ชอบที่สุดของตนเองหน่อย
“ถ้าผลงานที่ชอบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองครั้งแรกครับ ภาพแรกที่ผมชอบคือ ‘Reflection of sorrow’ เป็นภาพดอกทานตะวันอยู่ในกระจก เท้าความก่อนว่า เมื่อก่อนผมชอบฟังเกี่ยวกับตำนานเทพอะไรประมาณนี้ครับ ผมสนใจในตำนานของดอกทานตะวัน ผู้ต้องหันมองพระอาทิตย์อยู่ตลอด”
“จากตำนานตรงนั้น ผมเลยนำมาตีความ โดยผมรู้สึกว่าการที่ดอกทานตะวันจะต้องจ้องพระอาทิตย์ทุกๆ วัน ตายแล้วเกิดใหม่ ตายแล้วเกิดใหม่ไปเรื่อยๆ ผมเลยมองมันเป็นความเศร้า เลยอยากนำเสนอในมุม ของการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัน”
“ซึ่งมันเศร้าแหละ แต่ผมก็ต้องยอมรับมัน เลยเขียนเป็นดอกทานตะวันหลายดอก พร้อมมีหัวกะโหลกมากมาย แล้วเป็นกระจกบานใหญ่มองออกมา ส่วนทำไมต้องมีหลายหัวอยู่ในนั้น เพราะผมรู้สึกว่าบางคนอาจกำลังเศร้าเหมือนกับผมอยู่ก็ได้”
“ชิ้นถัดมาจะเป็น ‘Coming of Age’ ครับ เป็นภาพที่มีรูปปั้นเดวิดยื่นถือหัวยักษ์โกไลแอตอยู่ บอกเล่าเรื่องราวช่วงชีวิตของผม ณ ตอนนั้นเลยครับ โดยเป็นช่วงที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคหรืออะไรบางอย่าง ค่อนข้างหนักหน่วงมากในชีวิต ประกอบกับผมเพิ่งได้ไปฟังตำนานเรื่องของเดวิด เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่สามารถล้มยักษ์ตัวใหญ่ได้”
“ช่วงเวลานั้นผมเองก็เจออุปสรรคครั้งใหญ่ในชีวิต เลยออกมาเป็นภาพนี้ ซึ่งมีการใส่ดอกทานตะวันมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบภาพ เชื่อมโยงกับความเศร้า เหมือนกับภาพ The Reflection of sorrow ที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้า เพื่อแสดงออกว่าตอนนั้นผมทั้งเศร้าและสับสน แต่ก็เชื่อว่ามันต้องผ่านไปให้ได้ครับ”
“ส่วนชิ้นสุดท้ายมาจากนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ของผมครับ ซึ่งเป็นรูปที่คุณภูมิชอบนั่นแหละ ภาพนั้นมีชื่อว่า ‘Seclusion zone’ ต้องออกตัวก่อนว่า ภาพนี้อาจไม่ได้มีเนื้อหาอะไรมากเท่าไหร่นะครับ ผมจำลองประมาณว่า ตัวเองอยู่ในห้องๆ หนึ่ง แค่อยู่คนเดียว ก็มีความสุขดีแล้ว แต่สุดท้าย เหมือนมีแรงกดดันบางอย่าง ซึ่งในรูปผมใช้เป็นผ้าคลุมมันเอาไว้ ผู้ชมจะมองได้ว่าเป็นคนก็ได้ หรือมันอาจไม่มีอะไรอยู่ภายใต้ผืนผ้านั้นเลยก็ได้เช่นกัน ทว่าพอมันอยู่ด้านหลังของเรา มันทำให้เรารู้สึกวาดระแวงและไม่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา”
“องค์ประกอบของภาพนี้ค่อนข้างน้อยครับ จะเป็นวิวโดยส่วนใหญ่ ผมตั้งใจเขียนคนที่กำลังนั่งคิดอยู่ ให้หน้าคนหันหน้าเข้าหาตอบโต้กับผู้ชม โดยไม่รู้ตัวว่ามีบางสิ่งอยู่ข้างหลังเขา ถ้าเป็นผู้ชมจะเห็นสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นตัวคนในภาพ ก็อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงสิ่งนั้นครับ”
เป้าหมายต่อไปในวงการศิลปะ
“สำหรับตัวผม ผมยังคงอยากทำในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ไปเรื่อยๆ แต่ก็ต้องมีการพัฒนาต่อไปด้วยเช่นกัน เพราะผมยังรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรได้อีกเยอะเลย ถ้าสักวันหนึ่งทำให้มันไปได้ไกลระดับสากลมันก็คงดี ตัวผมเองก็อยากให้เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าพร้อมแล้วหรือยัง ซึ่งตัวผมคิดว่ายังคงต้องเก็บประสบการณ์ไปมากกว่านี้อีก”
“เพราะผมชอบเขียนภาพเกี่ยวกับจินตนาการ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่มีเรื่องราวทับซ้อนในหัวค่อนข้างเยอะ เรื่องราวใหม่ๆ ประสบการณ์ต่อๆไปในอนาคตอีกมากมาย ทำให้เราอยากเขียนและสื่อออกมาเป็นผลงานต่อไปครับ”