กรมราชทัณฑ์เห็นชอบให้ ทักษิณ รักษาตัวที่ รพ.ตำรวจต่อ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์เฉพาะทาง เป็นไปตามกฎกระทรวง ทั้งนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยได้
วันนี้ (11 มกราคม) กรมราชทัณฑ์เผยแพร่รายงานกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน ระบุว่า จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ส่งตัวทักษิณออกรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 เนื่องจากอดีตนายกฯ มีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงเห็นว่าควรส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่านั้น
กรมราชทัณฑ์ รายงานว่า ขณะนี้ ทักษิณได้ออกไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกิน120 วัน ซึ่งทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ และได้รับรายงานว่า ทักษิณยังมีอาการเจ็บป่วยหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง
แพทย์ได้แจ้งความเห็นไปทางเรือนจำว่า ทักษิณอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต
ต่อมา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ที่ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป
เมื่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้รักษาแล้ว เห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย
“พิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณฯ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที”
ทางกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 “โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากลรวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย
“กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ.2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด” กรมราชทัณฑ์รายงาน
อ้างอิงจาก