ถ้าจะบอกว่าเทศกาลไม่เคยมีผู้หญิงใน ‘ฮาดากะ มัตสึริ’ (Hadaka Matsuri) หรือ เทศกาลเปลือย ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่ศาลเจ้าโคโนมิยะ ประเทศญี่ปุ่น คงไม่ใช่เรื่องถูกต้องเสียทั้งหมด
“เบื้องหลัง ผู้หญิงมักจะทำงานหนักเพื่อสนับสนุนผู้ชายในเทศกาลนี้” อัตสึโกะ ทามาโกชิ ซึ่งครอบครัวของเขาทำงานในเทศกาลโคโนมิยะ มาหลายชั่วอายุคน เป็นคนหนึ่งที่ช่วยย้ำว่าพวกเขาอยู่ที่นั่นมาเสมอ
บรรยากาศผู้ชายเกือบเปลือย ทั้งแย่งชิง ดัน และผลักมุงหน้าไปทางศาลเจ้า พร้อมเสียงตะโกน “วาโชอิ! วาโชอิ!” ที่หมายถึง ยอดเยี่ยม ยังคงดึงดูดความสนใจของผู้ที่เข้าชมเทศกาลไม่ต่างจากเดิม
ทว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ยังเกิดขึ้นในมุมหนึ่งของเทศกาล ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 1,250 ปี เมื่อผู้หญิงกลุ่มแรกมีโอกาสเข้าร่วมเทศกาลคราวนี้หลังได้รับอนุญาต
โดยห่างออกไปจากกลุ่มผู้ชายไม่ไกล บรรดาผู้หญิงที่มาก็รวมตัวกัน เพื่อสะท้อนภาพสังคมที่ต้องสู้มายาวนาน กับการหาที่ว่างอย่างยากลำบากในพื้นที่ที่ผู้ชายครอบงำ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีกฎห้ามให้ผู้หญิงเข้าร่วม เพียงแต่ไม่เคยมีการลุกขึ้นมาถกเถียง หรือเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการมีเทศกาลที่สนุกสนานสำหรับทุกคน ผมคิดว่าพระเจ้าคงจะมีความสุขที่สุด” นารูฮิโตะ สึโนดะ หนึ่งในนักบวชประจำศาลระบุ
แต่ไม่ใช่ทุกคนในชุมชนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ บางส่วนยังแสดงความกังวล
อย่างไรก็ดี ผู้หญิงที่เข้าร่วมก็ใช่ว่าจะเปลือยเปล่า หลายคนเลือกสวมเสื้อคลุมฮัปปิ ซึ่งเป็นเสื้อคลุมยาวสีม่วง และกางเกงขาสั้นสีขาว ขณะถือเครื่องบูชาไม้ไผ่ของตนเอง โดยไม่ได้เข้าร่วมสมรภูมิรบกับบรรดาผู้ชายแต่ประการใด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความสำคัญของช่วงเวลานี้หายไป
“ฉันรู้สึกว่าในที่สุดเวลาก็เปลี่ยนไป…แต่ฉันก็รู้สึกถึงความรับผิดชอบด้วย” ยูมิโกะ ฟูจิเอะ หนึ่งในผู้หญิงที่เข้าร่วมกล่าว
ทั้งนี้ ในการจัดอันดับดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ของ World Economic Forum ในปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า ญี่ปุ่นตกไปอยู่อันดับที่ 125 จาก 146 ประเทศ ซึ่งถือว่าต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา
อ้างอิงจาก