ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ในอังกฤษ เริ่มจำกัดการดูแลเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในเยาวชน หลังเกิดข้อกังวลเรื่องการขาดหลักฐานที่พิสูจน์ว่าการดูแลนั้นได้ผลจริง และยังกังวลถึงผลระยะยาวอีกด้วย
การดูแลนี้ หมายถึงกระบวนการสำหรับบุคคลมีภาวะ Gender Dysphoria หรือ ภาวะทุกข์ใจจากการที่บุคคลมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด การดูแลจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเพศสรีระให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ โดยการใช้ยา เช่น ฮอร์โมน หรือการผ่าตัด หรือใช้กระบวนการอื่น ๆ รวมเรียกว่า การยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (Gender-affirming care) ซึ่งจะต้องมีการตรวจประเมินโดยแพทย์อย่างละเอียดก่อนเข้ารับการบริบาล
ดร.ฮิลารี แคสส์ กุมารแพทย์อิสระ เผยแพร่ผลการศึกษา โดยสรุปว่า “สำหรับเยาวชน วิธีทางการแพทย์ อาจไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดในการจัดการเรื่องเพศสภาพ และยังไม่มีวิธีการจัดการสุขภาพจิตและสภาพสังคมในวงกว้างที่ดีเพียงพออีกด้วย”
ฮิลารีระบุว่า วิธีการที่ใช้อยู่นั้นไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นพอว่ามีประโยชน์จริง และยังยืนยันว่าไม่ได้ต้องการท้าทายสิทธิในการยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ แต่ต้องการให้กระบวนการดูแลนั้นมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบรับกับจำนวนเยาวชนที่เผชิญความทุกข์จากการมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด
ในรายงานแนะนำว่า เยาวชนควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อตรวจหาสภาวะพัฒนาการของระบบประสาท และควรมีการประเมินสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน
ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณจักร กล่าวว่า “เราไม่รู้ถึงผลกระทบระยะยาวของกระบวนการทางการแพทย์นี้ รวมถึงการยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศสภาพโดยไม่ใช้ยาหรือการผ่าตัดที่จะมีต่อเยาวชนด้วย จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในกระบวนการต่างๆ”
ด้วยเหตุนี้ NHS จึงจะยกเลิกการจ่ายยาต้านฮอร์โมนเพศ (ยาที่จะลดลักษณะทางเพศของผู้รับยา) โดยยังจ่ายยาให้กับผู้ที่อยู่ในกระบวนการวิจัยเท่านั้น รวมถึงจะระมัดระวังมากขึ้นในการให้ฮอร์โมนเพศ เช่น ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนและเอสโตรเจน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศในร่างกายของเด็กและเยาวชน
หลังรับทราบถึงข้อกังวลเหล่านี้ สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งยุโรป ระบุว่า เรื่องการดูแลสุขภาพสำหรับเยาวชนข้ามเพศนั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ในขณะที่ สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน ยืนยันว่า การรักษาด้วยฮอร์โมนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเยาวชนข้ามเพศ และควรได้รับการคุ้มครองในประกันสุขภาพ แต่จะต้องมีการทบทวนหลักฐานทางการศึกษาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจำกัดกระบวนการข้ามเพศในเยาวชน เพราะอังกฤษถือเป็นประเทศที่ 5 ในยุโรปที่ตัดสินใจเช่นนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนคนข้ามเพศหลายกลุ่มในยุโรป ออกมาประณามว่าเป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง และจะยิ่งทำให้ปัญหาสุขภาพนี้ยิ่งขยายออกไปมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจาก NHS พบว่า เพียงช่วงปลายปี 2023 มีเด็กที่รอคิวรับบริการนี้ถึงประมาณ 5,800 คน
สำหรับในประเทศไทย ในโรงพยาบาลต่างๆ ก็ได้มีการเปิดคลินิกสุขภาพเพศ หรือคลินิกเพศหลากหลาย ที่มีการให้บริการด้านการข้ามเพศเช่นกัน
The MATTER พูดคุยกับ นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล แพทย์ประจำคลินิกสุขภาพเพศ ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพผู้มีเพศหลากหลาย ถึงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ และกระบวนการการดูแลในไทย
หลักการสำคัญของแพทย์ คือการยึดถือประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ ซึ่งธนภพมองว่าประเด็นที่เกิดขึ้นในอังกฤษนั้น เมื่ออังกฤษพบว่าประโยชน์ของผู้รับบริการไม่ชัดเจน จึงยับยั้งกระบวนการนี้ไว้ก่อน และรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้บริการสุขภาพปลอดภัยและดีขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจจะเป็นวัยเรียนรู้และยังมีความลื่นไหลทางเพศ (Gender Fluid) มากกว่าผู้ใหญ่ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาตามช่วงวัย ในกระบวนการข้ามเพศจึงจะมีการประเมินที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน
ซึ่งระยะหลังก็มีเด็กและเยาวชนเข้ามาใช้บริการคลินิกสุขภาพเพศ โดยมาพร้อมกับผู้ปกครองมากขึ้น ธนภพเล่าว่า “เป็นสิ่งที่ดีที่เราอยากเห็น เพราะแสดงว่าเด็กสบายใจกับครอบครัว จะทำให้เด็กผ่านช่วงวัยรุ่นไปด้วยการมีสุขภาวะที่ดี”
“ถ้ามีเด็กและเยาวชนรู้สึกทุกข์ทรมานจากความไม่เข้าใจเพศของตัวเอง หรือต้องการปรึกษา จัดการเรื่องเพศ ไม่ว่าจะรัดหน้าอก แต๊บ หรือรับฮอร์โมนข้ามเพศ อยากให้มาปรึกษาหมอ เพราะการตัดสินใจรับยาหรือรับการผ่าตัดจะมีผลระยะยาวไปทั้งชีวิต” ธนภพกล่าว พร้อมเสริมว่าสำหรับเด็กและเยาวชนนั้น จะเน้นให้การรักษาที่ย้อนกลับได้ ไม่ส่งผลกระทบมาก หากเกิดการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ปัจจุบัน ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการรักษาเพื่อเปลี่ยนเพศ พ.ศ. 2565 ยังไม่ได้ระบุถึงข้อกำหนดอายุของผู้เข้ารับบริการยาเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศสภาพไว้อย่างชัดเจน แต่ขณะนี้กำลังมีการแก้ไขข้อบังคับใหม่ โดยจะระบุให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปสามารถแสดงความยินยอมขอรับการให้ยาเพื่อการยืนยันเพศสภาพได้ด้วยตนเอง เพราะฮอร์โมนไม่ได้มีผลถาวรอันตราย แต่หากเป็นผ่าตัด จะต้องมีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป หากมีอายุต่ำกว่านั้น จะขึ้นอยู่กับการพิจารณารายบุคคล หรือให้ผู้ปกครองตัดสินใจร่วมด้วย
สำหรับสวัสดิการและสิทธิด้านการข้ามเพศในไทย ปัจจุบันผู้เข้ารับบริการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด โดยธนภพมองว่า ภาครัฐควรทำให้บริการนี้เข้าถึงได้ง่าย และเป็นบริการที่มีคุณภาพ ทั้งมีการสนับสนุนค่าใช้จ่าย และเก็บรวบรวมข้อมูลในประเทศไทยให้มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพการบริการให้เป็นที่ไว้วางใจได้และเหมาะสมกับบริบทสังคมไทย “เพราะเรื่องทางเพศยังเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมด้วย” ธนภพทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก