กลุ่มพีระมิดแห่งกีซา – หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่ยังมีโครงสร้างหลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน – ก็ยังคงเป็นที่อัศจรรย์ใจให้กับผู้คนจนถึงทุกวันนี้ และชวนให้คนจินตนาการไปต่างๆ นาๆ ถึงการกำเนิดของมัน
ล่าสุด งานวิจัยชิ้นใหม่อาจช่วยไขปริศนาการก่อสร้างพีระมิดในอียิปต์ หลังค้นพบร่องรอยที่คาดว่าเป็นสาขาของแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแนวเดียวกับตำแหน่งของพีระมิดแห่งกีซา และพีระมิดอื่นๆ รวมกัน 31 แห่ง
งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของทีมวิจัยนานาชาติ นำโดย อีแมน โกเนม (Eman Ghoneim) ศาสตราจารย์ชาวอียิปต์-อเมริกัน ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth & Environment เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ทีมวิจัยเรียกสาขาของแม่น้ำไนล์ที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ว่า ‘อารามัต’ (Ahramat) ซึ่งพบว่ายาว 64 กิโลเมตร มีความกว้างของแม่น้ำอย่างน้อย 25 เมตร คล้ายคลึงกับแม่น้ำไนล์ในปัจจุบัน โดยคาดว่า ถูกกลบฝังด้วยทราย หลังเกิดภัยแล้งครั้งใหญ่เมื่อราวๆ 4,200 ปีที่แล้ว
การมีอยู่ของสาขาแม่น้ำที่ว่านี้ จะเป็นตัวที่อธิบายได้ว่า ทำไมพีระมิดทั้ง 31 แห่ง ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วง 3,700-4,700 ปีที่แล้ว จึงมีที่ตั้งเป็นแนวเดียวกันกลางทะเลทราย ซึ่งแนวยาวที่ว่านั้น ก็คือแนวของสาขาแม่น้ำ ‘อารามัต’ ที่คาดว่าถูกใช้เป็นช่องทางในการขนส่งทางน้ำที่สำคัญ ในการลำเลียงวัสดุต่างๆ เช่น ก้อนหิน ด้วย
ทีมวิจัยใช้วิธีศึกษาภาพจากดาวเทียมระบบเรดาร์ ซึ่งจะช่วยเจาะทะลุผ่านพื้นผิวของทราย และสามารถผลิตภาพของลักษณะทางภูมิประเทศต่างๆ ของสาขาแม่น้ำที่อยู่ภายใต้พื้นผิวได้
นอกจากนี้ การลงพื้นที่สำรวจ และการค้นพบตะกอนในพื้นที่ ก็ยิ่งช่วยยืนยันการมีอยู่ของสาขาแม่น้ำดังกล่าว
ที่สำคัญ ทีมวิจัยยังพบว่า พีระมิดหลายแห่งมีทางยกระดับที่ใช้ในเชิงของการประกอบพิธีกรรม ซึ่งมาบรรจบที่ริมฝั่งแม่น้ำดังกล่าวพอดี จึงช่วยตอกย้ำว่าสาขาแม่น้ำ ‘อารามัต’ เคยมีบทบาทสำคัญในการขนส่ง
การขนส่งวัสดุหนักๆ อย่างเช่นก้อนหิน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทางใต้ “จึงจะง่ายกว่ามากถ้าลอยมาทางน้ำ” มากกว่าการขนส่งทางบก ซูซาน โอนสตีน (Suzanne Onstine) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว
การมีอยู่ของสาขาแม่น้ำนี้ จะยังเป็นตัวที่ช่วยอธิบายได้ด้วยว่า ทำไมพีระมิดหลายแห่งถึงถูกสร้างในสถานที่ที่ต่างกัน “ทิศทางและปริมาตรของแม่น้ำเปลี่ยนไปตามแม่น้ำ ดังนั้น กษัตริย์ในราชวงศ์ที่ 4 ก็จะต้องตัดสินใจไม่เหมือนกับกษัตริย์ในราชวงศ์ที่ 12” โอนสตีนระบุ
“การค้นพบนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมมนุษย์” เธอกล่าว
อ้างอิงจาก