นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เผยผลการศึกษาว่า ในทุกๆ ปี 12.6% ของเด็กๆ ทั่วโลก (ประมาณ 302 ล้านคน) ตกเป็นเหยื่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย เปิดเผยภาพและวิดีโอทางเพศโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งถูกกระทำจากทั้งผู้ใหญ่และจากเยาวชน
รูปแบบที่พบมีทั้งการจูงใจให้ทำเรื่องทางเพศออนไลน์ บ้างก็ขู่กรรโชกเพื่อผลประโยชน์ เช่น นำภาพของเหยื่อมาขู่เอาเงิน หรือใช้เทคโนโลยี Deepfake AI (การใช้ AI นำหน้าของเหยื่อมาปลอมแปลงเนื้อหา ออกมาเป็นรูป หรือวิดีโอได้ตามต้องการ)
สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากงานวิจัยโดยองค์การเอ็คแพท องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (อินเตอร์โพล) และศูนย์วิจัยอินโนเซนติขององค์การยูนิเซฟ พบว่า ในปี 2564 มีเด็กอายุ 12-17 ปีกว่า 9% หรือประมาณ 400,000 คน ตกเป็นผู้เสียหายในการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์เช่นกัน ทั้งผ่านการพูดคุย และแบล็คเมลเพื่อให้เด็กยอมมีกิจกรรมทางเพศด้วย
ศูนย์ Childlight ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ซึ่งทำงานศึกษาการทารุณกรรมเด็กเพื่อหาแนวทางคุ้มครอง เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ชายในสหรัฐอเมริกากว่า 1 ใน 9 (เกือบ 14 ล้านคน) และผู้ชายในสหราชอาณาจักรกว่า 7% (กว่า 1.8 ล้านคน) ยอมรับว่าเคยล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ โดยชายจำนวนมากยอมรับว่าพวกเขาจะพยายามกระทำความผิดทางเพศต่อเด็ก ถ้าคิดว่าเรื่องพวกนี้จะถูกเก็บเป็นความลับ
“นี่เป็นปัญหาของโลกที่ซ่อนเร้นมานาน … เราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เด็กๆ รอต่อไปไม่ไหวแล้ว” พอล สแตนฟิลด์ (Paul Stanfield) ผู้บริหารของ Childlight กล่าว โดยเสริมว่าเนื้อหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดเด็กนั้นมีอยู่จำนวนมาก จนหน่วยงานเฝ้าระวังกับตำรวจได้รับรายงานว่าพบไฟล์เหล่านั้นแทบจะทุกวินาที
แล้วปัญหาเหล่านี้ ควรถูกแก้ไขด้วยวิธีใด?
สตีเฟน คาวาน่า (Stephen Kavanagh) ผู้อำนวยการบริหารของอินเตอร์โพล ระบุว่า แนวทางการบังคับใช้กฎหมายแบบเดิมๆ อาจตามเรื่องพวกนี้ไม่ทัน “เราจะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในระดับโลก รวมถึงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเรื่องนี้ แบ่งปันข้อมูลกันให้ดีกว่านี้ และมีอุปกรณ์ที่จะต่อสู้กับเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความเสียหายนี้เกิดกับชีวิตวัยรุ่นหลายล้านคนทั่วโลก” เขากล่าว
สำหรับในประเทศไทย โครงการ Disrupting Harm (โครงการวิจัยเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์) มีคำแนะนำต่อการแก้ไขปัญหานี้ว่า ควรให้ภาครัฐแต่งตั้งหน่วยงานให้เป็นศูนย์กลางดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านงานยุติธรรม เช่น อัยการ ผู้พิพากษา ทนายความ บุคลากรทางการแพทย์และครู เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนี้ควรปรับโครงสร้างการศึกษาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปด้วย
การเปิดเผยตัวเลขจากงานวิจัยในครั้งนี้ จึงได้สะท้อนถึงความเร่งด่วนของปัญหา ที่น่าจับตาว่าทั้งในไทยและเทศจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้เด็กมีความปลอดภัยในการใช้สื่อออนไลน์
อ้างอิงจาก