เรียนจบแล้วต้องทำงาน รายได้ต้องมากกว่าฐานเงินเดือนขั้นต่ำอย่างน้อย 2 เท่า จากนั้นต้องมีเงินเก็บหลักแสน แต่งงานมีครอบครัว แน่นอนว่าต้องมีบ้านและรถเป็นของตัวเองด้วย
ต่อให้ไม่มีใครบอกว่าเราต้องทำตามแผนนี้ แต่พอถึงช่วงอายุหนึ่ง เราก็มักจะเห็นคนรอบข้างหลายคนเช็กลิสต์แผนที่ว่าไปทีละข้อ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความคาดหวังที่สังคมวางไว้ ราวกับว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จก็ต้องเดินตามนี้ พอถึงอายุ 30 ต้องมีพร้อมทุกอย่าง ทั้งที่ดูยังไงก็ไม่น่าจะทำสำเร็จได้ภายในไม่กี่ปีแน่ๆ เราจึงเผลอกดดันตัวเองโดยไม่รู้ตัว
มองเผินๆ ความสำเร็จเหล่านี้อาจทำให้เรารู้สึกท้อ และรู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ จนบางทีเราเองอาจลืมไปว่า ตัวเราไม่จำเป็นต้องกระโดดไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งหมดในคราวเดียว ไม่ต่างจากการอ่านหนังสือเล่มหนา 1,000 หน้าให้จบภายในทันที เราสามารถแบ่งอ่านวันละ 10 หน้า แม้จะใช้เวลา 3 เดือน แต่ท้ายที่สุดหนังสือเล่มนี้ก็ถูกอ่านจบเหมือนกัน ต่างกันแค่เราสามารถนำเวลาไปจดจ่อในครั้งนั้นไปทำสิ่งอื่นๆ ที่ตัวเองชอบได้ด้วย
จากเป้าหมายยิ่งใหญ่ สู่เป้าหมายเล็กๆ หรือที่เรียกว่า ‘Small Wins’ ชัยชนะเล็กๆ ระหว่างทาง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น หยิบรองเท้าออกไปเดินเล่น ได้รดน้ำต้นไม้ตามที่เคยตั้งใจไว้ หรือเพิ่มผักในอาหารมื้อหลักบ้าง เพราะอยากดูแลสุขภาพเท่านั้นเอง เป็นเป้าหมายเล็กๆ ที่ก่อเกิดความสุข และเมื่อทำรวมๆ กันแล้วก็พาเราไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เช่นกัน
ในขณะที่ทุกคนวิ่งไล่ตามเป้าหมายใหญ่โต Small Wins จะสำคัญยังไงกับสังคมที่เร่งให้ทุกคนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้? The MATTER ขอชวนไปทุกคนไปรู้จักวิธีขยับเข้าใกล้เป้าหมาย โดยที่เรายังมีความสุขระหว่างทางไปด้วยกับแนวคิดนี้กัน
สังคมแห่งความเร่งรีบกับพื้นที่แห่งชัยชนะ
“ความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ หรอกนะ มันต้องเหนื่อย ทำงานให้หนัก ยังมีเวลาพักอีกเยอะหลังจากนี้” หนึ่งในประโยคที่หลายคนคงได้ยินบ่อยๆ จากคนที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าระหว่างทางสบายเกินไป แปลว่าเราคงมาผิดทางหรือเปล่านะ? สำหรับสังคมที่บีบคั้นให้ทุกคนรีบประสบความสำเร็จนี้เอง อาจทำให้เราไม่กล้าภูมิใจกับเรื่องเล็กๆ ที่ทำได้ เพราะเราจะฉลองได้ก็ต่อเมื่อเป็นความสำเร็จใหญ่ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แดนเนียล เฮก (Dannielle Haig) นักจิตวิทยาหลักใน DH Consulting บริษัทให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาความเป็นผู้นำและความเป็นอยู่ที่ดีในการทำงาน อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมแห่งความเร่งรีบ (Hustle culture) ว่าวัฒนธรรมดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1990 ถึงช่วงต้นปี 2000 จนกลายเป็นสิ่งที่หลายคนยอมรับจากการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์ เช่น Google หรือ Facebook ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานอย่างทุ่มเทอย่างหนัก หลายคนจึงเชื่อว่าวิธีการทำงานแบบนี้จะทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จไปด้วย
วัฒนธรรมนี้บอกทุกคนควรรีบทำงานให้หนัก มุ่งมั่นและทุ่มเทให้มากกว่าคนอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จให้ได้โดยเร็ว ขณะเดียวกันความสำเร็จที่ว่านี้ก็มักถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะใน LinkedIn, Twitter, Instagram และ TikTok โดยเป็นสูตรความสำเร็จที่แลกมาด้วยความยากลำบาก ไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งผลการสำรวจเรื่อง Hustle Culture โดยบริษัทวิจัยผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Milieu Insight ร่วมกับ Intellect ได้ทำการสำรวจพนักงาน 3,000 คนในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ พบว่า เหตุผลที่พนักงานผลักดันตัวเองให้ทำงานหนัก 58% บอกว่าพวกเขาอยากสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตัวเองและคนที่พวกเขารัก 53% คือเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง และ 50% คือการมีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับบางคน การทำงานหนักอาจช่วยให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น เข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น แต่ก็อาจต้องแลกด้วยสิ่งที่สำคัญอย่างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนเรา หรือสุขภาพที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ด้วย เบื้องหลังของสังคมแบบเร่งรีบจึงอาจไม่ได้มีเพียงความสำเร็จที่ใครเห็นก็ต้องอิจฉาเท่านั้น เพราะต้องแลกมาด้วยความเครียด สุขภาพกายและสุขภาพจิตจากการโหมการทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นภาวะหมดไฟ ความเครียดและความกังวลที่ไม่สามารถหยุดคิดเรื่องงานได้ จนถึงปัญหาการนอนหลับ โดยมีจากผลสำรวจเดียวกัน พบว่า ชาวสิงคโปร์ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องชั่วโมงการทำงานสูงเป็นอันดับต้นๆ มีเพียง 57% เท่านั้นที่ให้คะแนนสุขภาพจิตของตนเองว่า ‘ดี’ ‘ดีมาก’ หรือ ‘ยอดเยี่ยม’ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีสุขภาพจิตดีกว่าอย่างอินโดนีเซียที่คิดเป็น 68% และฟิลิปปินส์ 78%
ชื่นชมความสำเร็จระหว่างทางด้วย Small Wins
ในโลกยกย่องการทำงานหนัก และ ‘เป้าหมายมีไว้พุ่งชน’ ทุกคนมุ่งมั่นทำตามเป้าหมายใหญ่ๆ ที่ตั้งไว้ จนไม่ทันหยุดพักหายใจ ชื่นชมผลงาน ฉลองให้ตัวเองว่าเก่งแค่ไหน และหลายครั้งก็มองข้ามความสำเร็จเล็กๆ ไป เพราะทำแล้วไม่เห็นผลทันที หรือเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้แรงกายแรงใจมาก ซึ่งขัดกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ต้องทุ่มสุดตัว
ทว่าชัยชนะเล็กๆ ก็สำคัญไม่แพ้เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เมื่อสิ่งที่ทำให้เรื่องเล็กๆ เหล่านี้มีพลังขึ้นมา คือความสม่ำเสมอ ทำให้เราไม่รู้สึกหวาดกลัวเหมือนกินยาขมทุกครั้งที่เริ่มลงมือทำ แถมยังสร้างความมั่นใจให้เราได้ เพราะบางครั้งการไปสู่เป้าหมายอาจไม่ได้ราบรื่น หรือเป็นเส้นตรงเสมอไป บางทีก็อาจเจออุปสรรคระหว่างทางที่ทำให้เรารู้สึกอยากยอมแพ้ก็ได้ แต่ชัยชนะเล็กๆ หรือความสำเร็จในเรื่องเล็กๆ ระหว่างทางไปสู่เป้าหมายใหญ่จะช่วยให้เรามองเห็นว่า เราก้าวหน้าไปมากแค่ไหน
เพราะการฉลองชัยชนะของความสำเร็จไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ ช่วยทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตและไปสู่เป้าหมายอื่นๆ ได้มากขึ้น เมลานี แม็คนาลลี่ (Melanie McNally) นักจิตวิทยาคลินิก และผู้เขียนหนังสือ The Emotionally Intelligent Teen และ Helping Your Unmotivated Teen จึงได้แนะนำวิธีการชื่นชมชัยชนะเล็กๆ ที่สำหรับใครอยากเริ่มมี Small Wins กับเขาบ้างไว้ดังนี้
- แบ่งเป้าหมายให้เล็กลง – แค่เห็นกองงานก็พาลอยากทิ้งตัวนอน แอบบ่นพึมพำในใจว่าทำไมเราต้องทำงาน ทำไมงานไม่ทำตัวเองนะ! แต่ถ้าเราลองแบ่งเป้าหมายออกเป็นงานย่อยๆ ตามขั้นตอน เช่น การเขียนย่อหน้าแรกของรายงานเสร็จก็สำเร็จไปแล้วก้าวหนึ่ง หรือดูดฝุ่นในห้องนอนจะทำความสะอาดบ้านทั้งหลังก็ถือว่าสำเร็จไป 2/5 แค่นี้ก็เป็นชัยชนะที่ควรค่าแก่การฉลองแล้ว จากนั้นเราอาจจดบันทึกสิ่งที่ทำสำเร็จ 1-2 อย่างในแต่ละวัน จะเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ เพราะนิสัยนี้จะช่วยให้เราสังเกตเห็นความพยายามและความคืบหน้าของตัวเองได้
- แบ่งปันความสำเร็จกับคนรอบข้าง – การพูดถึงสิ่งที่เราทำสำเร็จไม่ใช่การอวดเสมอไป แต่บางครั้งกลับเป็นการแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จที่ทำให้เห็นว่า ยังมีคนที่คอยให้กำลังใจเราระหว่างทางจนเรามีแรงสู้ต่อ ไม่แน่บางทีก็อาจทำให้เพื่อน แฟน หรือพ่อแม่หันมาใส่ใจกับความสำเร็จเล็กๆ ด้วยก็ได้
- เตรียมรางวัลให้ตัวเอง – หลังจากทำบางอย่างสำเร็จ อย่าลืมให้รางวัลตัวเองเพื่อให้เรามีกำลังใจทำเรื่องอื่นๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น การนวด ต้นไม้ต้นใหม่ เสื้อผ้าใหม่ หรือหาเวลาหยุดพักผ่อนบ้างก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้รางวัลตัวเองอย่างพอดีด้วยนะ ถ้ากำลังลดน้ำหนักแล้วให้รางวัลด้วยหมาล่าชามยักษ์ หรืออ่านหนังสือ 30 นาที พัก 3 ชั่วโมง จากที่เข้าใกล้เป้าหมาย เราอาจต้องถอยหลัง 3 ก้าว เดินหน้า 2 ก้าววนๆ ไปกว่าจะสำเร็จแทนนะ
- ฉลองให้กับความพยายามที่ผ่านมา – บางครั้งเราโฟกัสไปที่ผลลัพธ์มากเกินไป ถ้าไม่ได้เงินเท่านี้ วิ่งให้ได้วันละเท่านั้น ก็ไม่สามารถรู้สึกดีกับตัวเองได้เลย อย่างไรก็ตาม แม้บางครั้งความสำเร็จอาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นชัดๆ แต่ก็อย่าลืมว่าระหว่างทางนั้น เราสามารถชื่นชมความพยายามที่เราทุ่มเทลงไปได้นะ เพราะขั้นตอนระหว่างทางที่เราลงมือทำนี่แหละช่วยให้เราได้เรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาได้ดีขึ้น
ในวันที่รู้สึกเหนื่อยล้ากับสังคมที่เร่งรีบ อย่าลืมชื่นชมในสิ่งที่เราได้ทำลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะบางครั้งชัยชนะเล็กๆ เหล่านี้ก็คือ ‘ความสุข’ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
อ้างอิงจาก