โมเมนต์สำคัญของมนุษยชาติ! เราอาจจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของโลกเพิ่มย้อนไปอีก 1 ล้านปี หลังนักวิทยาศาสตร์ขุดน้ำแข็งอายุ 1.2 ล้านปีขึ้นมาได้แล้ว
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ประกาศเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2025 ว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการเจาะแกนน้ำแข็งที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเจาะลึกลงไปเกือบ 2.8 กิโลเมตร ถึงชั้นหินแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา หรือมากกว่าความยาวของหอไอเฟล 8 หอต่อกันเสียอีก จนได้เจอน้ำแข็งที่มีอายุอย่างน้อย 1.2 ล้านปี
การวิเคราะห์น้ำแข็งในยุคโบราณนี้ คาดว่ามันจะช่วยบอกเราได้ว่า ชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศของโลกวิวัฒนาการมาอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจว่าวัฏจักรของยุคน้ำแข็งเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และอาจช่วยให้เข้าใจได้ด้วยว่า ว่าคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ มีผลเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้อย่างไรบ้าง
พุดง่ายๆ คือ งานของพวกเขาอาจช่วยไขปริศนาสำคัญประการหนึ่งในประวัติศาสตร์สภาพอากาศของโลกของเราได้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่เมื่อช่วง 900,000-1,200,000 ปีก่อน ที่เรียกว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านยุคน้ำแข็งกลาง ที่บางทฤษฎีบอกว่า นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้บรรพบุรุษของเราเกือบสูญพันธุ์ แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยเข้าใจสาเหตุเลยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ศาสตราจารย์คาร์โล บาร์บันเต (Carlo Barbante) จากมหาวิทยาลัย Ca’ Foscari แห่งเมืองเวนิส ผู้ประสานงานการวิจัยกล่าวว่า “มันเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง […] คุณมีน้ำแข็งก้อนหนึ่งอยู่ในมือซึ่งมีอายุกว่าล้านปี […] คุณจะเห็นฟองอากาศเล็กๆ อยู่ข้างใน ซึ่งเป็นฟองอากาศที่บรรพบุรุษของเราหายใจเมื่อล้านปีก่อน”
แกนน้ำแข็งได้ดักจับฟองอากาศและอนุภาคต่างๆ ที่เผยให้เห็นระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามกาลเวลาได้
ข้อมูลจากแกนน้ำแข็งอื่นๆ รวมถึงแกนน้ำแข็งที่เรียกว่า Epica ซึ่งเป็นแกนน้ำแข็งจากงานศึกษาวิจัยที่ทำก่อนหน้านี้ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นในปัจจุบันซึ่งมีเชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น เกิดจากมนุษย์ที่เผาเชื้อเพลิงฟอสซิล
บาร์บันเตกล่าวว่า “ปัจจุบัน เราพบว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น 50% จากระดับสูงสุดที่เคยมีมาในรอบ 800,000 ปีที่ผ่านมา”
แต่นั่นยังไม่เพียงพอ นักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาย้อนเวลากลับไปให้ไกลกว่านี้อีก ด้วยโครงการ Beyond Epica: Oldest Ice ที่อาจทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ย้อนหลังเพิ่มอีก 400,000 ปี
“ยังมีอดีตอยู่อีกมากมาย ที่เราต้องมองย้อนกลับไปเพื่อทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่าสภาพอากาศทำงานอย่างไร และเราจะคาดการณ์อนาคตได้อย่างไรบ้าง” ศาสตราจารย์บาร์บันเตกล่าว
ดร.โรเบิร์ต มัลวานีย์ (Robert Mulvaney) นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านแกนน้ำแข็งจาก British Antarctic Survey กล่าวว่า “ไม่กี่วันที่ผ่านมา ทีมงานมีช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมาก” เนื่องจากพวกเขาสามารถเจาะลึกลงไปได้มากกว่าที่คาดไว้จากข้อมูลเรดาร์
แกนน้ำแข็งถูกดึงออกจากแผ่นน้ำแข็งอย่างช้าๆ โดยใช้เครื่องจักรเจาะ และนักวิทยาศาสตร์ค่อยๆ ทำความสะอาดน้ำแข็งอย่างระมัดระวังโดยใช้ผ้าเช็ด
แกนน้ำแข็งยาวเหยียดจะถูกตัดเป็นชิ้นขนาด 1 เมตรเพื่อขนส่งจากแอนตาร์กติกาด้วยเรือที่ควบคุมอุณหภูมิเย็นยะเยือกถึง -50 องศาเซลเซียส เพื่อส่งไปยังตู้แช่แข็งของสถาบันต่างๆ ในยุโรปหลายแห่ง และนักวิทยาศาสตร์จะเริ่มวิเคราะห์มัน
“ไม่มีใครเดาได้ว่าพวกเขาจะพบอะไร แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ การศึกษานี้จะขยายขอบเขตการมองเห็นอดีตของโลกของเรา” ศาสตราจารย์โจเอรี โรเกลจ์ (Joeri Rogelj) จากวิทยาลัยอิมพีเรียลในลอนดอน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ กล่าวกับสำนักข่าว BBC News
ริชาร์ด อัลลีย์ (Richard Alley) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศที่มหาวิทยาลัยเพนน์สเตต เจ้าของรางวัลเหรียญวิทยาศาสตร์แห่งชาติจากการศึกษาแผ่นน้ำแข็ง ผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ก็ตื่นเต้นกับผลการศึกษาที่กำลังจะมาถึงเช่นกัน
อัลลีย์กล่าวว่า ความก้าวหน้าในการศึกษาแกนน้ำแข็งมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจสภาพภูมิอากาศในอดีตได้ดีขึ้น และช่วยให้เข้าใจถึงการมีส่วนสนับสนุนของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันได้
เขากล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างแท้จริง น่าทึ่งมาก พวกเขาจะได้เรียนรู้สิ่งที่ยอดเยี่ยมมากมาย”
หลังจากนี้จึงจะต้องติดตามผลการศึกษาต่อไปว่าเราจะได้รู้อะไรเพิ่มเติมบ้างเกี่ยวกับโลกของเราเมื่อล้านปีที่แล้ว ที่แม้จะยากเกินจินตนาการได้ แต่ไม่ยากเกินกว่าความสามารถที่นักวิทยาศาสตร์อาจได้ค้นพบมันในเร็วๆ นี้
อ้างอิงจาก