ความเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งผลต่อสัตว์น้ำจืดอย่างไรบ้าง? งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อไม่นานมานี้ เผยว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด เกือบ 1 ใน 4 กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นผลจากภัยคุกคามหลายอย่าง เช่น มลภาวะ การสร้างเขื่อน จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การศึกษาครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อสัตว์น้ำจืดทั่วโลก โดยผู้ศึกษาได้เก็บข้อมูลและประเมินภัยคุกคามต่างๆ ต่อสัตว์น้ำจืดจำนวน 23,496 ชนิด ที่อาศัยตามแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ทะเลสาบ สระน้ำ หรือแม่น้ำ ในหลายพื้นที่ และแบ่งสัตว์น้ำจืด ออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ปลา สัตว์จำพวกกุ้ง–ปู กั้ง และกุ้งแม่น้ำ ไปจนถึงแมลงปอ
จากการศึกษา พบว่าสัตว์น้ำจืดราว 24% มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ และหากจัดระดับความรุนแรงของภัยคุกคาม ตามที่กลุ่มสัตว์ในงานวิจัยนี้ต้องเผชิญ จะพบว่ากลุ่มที่เสี่ยงต่อภัยคุกคาม ‘สูงที่สุด’ คือสัตว์จำพวกกุ้ง (30% เข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์) รองลงมาคือปลา (26%) ตามด้วยแมลงปอและแมลงปอเข็ม (16%)
นอกจากนี้ นักวิจัยยังระบุบริเวณที่มีจำนวนสายพันธุ์น้ำจืด ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก ได้แก่ ทะเลสาบวิกตอเรียในแอฟริกา ทะเลสาบติติกากาในอเมริกาใต้ รวมถึงภูมิภาคทางตะวันตกของอินเดียและศรีลังกา
“ภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ได้แก่ มลพิษ เขื่อนและการสูบน้ำ การเกษตร และสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น รวมถึงการเก็บเกี่ยวเกินขนาด ยังส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์อีกด้วย” Catherine Sayer หนึ่งในผู้วิจัยและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อธิบายสาเหตุที่สัตว์เหล่านั้นเสี่ยงสูญพันธุ์
เธอยกตัวอย่างระบบนิเวศของแม่น้ำแอมะซอน ในอเมริกาใต้ ที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามนับไม่ถ้วน ตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่า ไฟป่า จนถึงการทำเหมืองทองคำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเธอระบุว่า การเผาป่าสร้างเถ้าถ่านจำนวนมาก ที่ก่อให้เกิดมลพิษในแม่น้ำ และนักขุดทองที่ไม่ได้รับอนุญาตก็ทิ้งปรอทลงในน้ำ
“สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้มีเพียงภัยคุกคามเดียวที่ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่ยังมีภัยคุกคามหลายอย่างที่ส่งผลร่วมกัน” Sayer ระบุ
งานวิจัยนี้นับเป็นการดึงความสนใจสู่ปัญหา ที่อาจถูกมองข้ามมาอย่างยาวนาน โดย Ian Harrison นักอนุรักษ์น้ำจืดแห่งมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นแอริโซนา และผู้เขียนร่วมการศึกษานี้กล่าวว่า คุณค่าของการศึกษาครั้งนี้ คือ “แสดงให้เราเห็นว่าลุ่มแม่น้ำ หรือทะเลสาบใด ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงที่สุดสำหรับการอนุรักษ์”
เขาระบุว่า ต่อจากนี้นักวิทยาศาสตร์ จะพยายามระบุช่องโหว่ของอนุรักษ์สัตว์น้ำจืดต่อไป โดยการศึกษาครั้งนี้จะทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลสำคัญ ที่เราจะสามารถติดตามความคืบหน้าได้ว่า การกระทำของเราช่วยลดภัยคุกคามได้หรือไม่
อ้างอิงจาก