วันนี้ (28 พฤษถาคม 2567) ในโอกาสที่ทำงานมาแล้ว 2 ปี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมกับรองผู้ว่าฯ จัดแถลงการณ์เพื่อรายงานผลงานของ กทม.ที่ผ่านมา ในงาน ‘2 ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่’ ผลงานของ กทม.มีอะไรบ้าง วันนี้ The MATTER สรุปให้ฟัง
‘กรุงเทพฯ เมืองเที่ยวสนุก แต่ประสิทธิภาพต่ำ’
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เริ่มต้นงานด้วยประโยคดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า กทม. มักถูกมองว่าเป็นเมืองที่สวยงาม เหมาะกับการท่องเที่ยว แต่อาจไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย กล่าวคือคนไม่สามารทำกิจกรรมต่างๆ ใน กทม. ได้อย่างมีคุณภาพ ยกตัวอย่าง การเดินทางที่ค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ซึ่งทำให้คนรู้สึก ‘เหนื่อย’ อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ และไม่มีความสุข
แล้วอะไรบ้างที่ กทม.พยายามแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้คนเหนื่อย?
วิธีที่ กทม.ใช้แก้ปัญหานี้คือ ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ (Traffy Fondue) แอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจัดการของหน่วยงานล่าช้า ที่ประชาชนสามารถแจ้งปัญหากับหน่วยงานได้โดยตรง โดยนับตั้งแต่เริ่มใช้งานในปี 2565 มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ประชาชนแจ้งแล้วถึง 467,743 เรื่อง จากทั้งหมด 592,768 เรื่อง โดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติแจ้งว่า กทม.ได้ลดระยะเวลาเฉลี่ยในการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนแจ้งจาก 2 เดือน เหลือเพียง 2 วัน
- ปัญหาทางเท้าไม่ดี เดินยาก
อีกหนึ่งผลงานที่ผู้ว่าฯ กทม. แถลงคือการแก้ไขทางเท้า โดยมีการปรับปรุงทางเท้าไปแล้วกว่า 785 กิโลเมตร เปลี่ยนหลอดไฟตามทางเดินเป็นหลอด LED ที่สว่างขึ้น 85,000 หลอด จัดระเบียบหาบเร่ ทั้งยกเลิกและจัดหาที่ใหม่ 257 จุด จัดระเบียบสายสื่อสารตามเสาไฟฟ้า 627 กิโลเมตร รวมถึงปรับทางเท้าให้เหมาะกับคนพิการมากขึ้น
- ปัญหาฝนตก น้ำไม่ระบาย
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ บอกว่า ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมขังไป 278 จุด จากจุดเสี่ยงน้ำท่วม 737 จุด โดยที่ผ่านมาใช้วิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย เช่น การขุดลอกท่อ ขุดลอกคลอง บำรุงรักษาประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ และล้างอุโมงค์ระบายน้ำในหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ
- พื้นที่สาธารณะ
ปัญหาหนึ่งคือพื้นที่สาธารณะที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายมีไม่เพียงพอสำหรับประชาชน ซึ่ง กทม. ได้ปรับปรุงคุณภาพพื้นที่สาธารณะในหลายพื้นที่ ได้แก่ สวนสาธารณะ 12 แห่ง ศูนย์นันทนาการ 9 แห่ง Co-working space 20 แห่ง พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง และศูนย์กีฬาอีก 12 แห่ง พร้อมกับจัดกิจกรรมให้ประชาชนหลายอย่าง
รวมถึง กทม.พยายามให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในโครงการ ‘สวน 15 นาที’ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนทุกคนมีสวนใกล้บ้านที่สามารถเดินทางไปได้ภายใน 15 นาที ปัจจุบันสามารถพัฒนาสวนในกรุงเทพฯ ได้แล้ว 100 สวน จากเป้าหมายทั้งหมด 500 สวน
- บริการทางการแพทย์
กทม. มีโครงการปูพรมตรวจสุขภาพให้ประชาชนฟรี 1,000,000 คน อีกทั้งได้ขยายบริการสาธารณสุข โดยเปิดให้มีบริการนอกเวลาถึง 2 ทุ่ม และวันเสาร์อาทิตย์ พร้อมทั้งเปิด ‘Pride Clinic’ เพื่อคัดกรองและปรึกษาฟรี สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการกว่า 20,000 คน
- การแก้ปัญหาทุจริต
กทม.ร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ กทม. โดยที่ผ่านมาพบการปฏิบัติงานที่มีมูลทุจริต 56 กรณี และให้ออกจากราชการไป 29 กรณี รวมถึงกำลังพิจารณาอีก 12 กรณี พร้อมทั้งเปลี่ยนช่องทางที่ประชาชนใช้ติดต่อราชการ ไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์หลายช่องทาง เพื่อลดโอกาสในการติดสินบนเจ้าหน้าที่
- การจัดการขยะ
ในด้านการจัดการขยะ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ผิวงาม กล่าวว่า มีโครงการเปลี่ยนรถบริการของ กทม. รวมถึงรถเก็บขยะ รถบรรทุกน้ำ รถสุขาเคลื่อนที่ และรถบรรทุก จากรถสันดาปที่ใช้น้ำมันดีเซล ไปเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งในปีนี้จะมีการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด 615 คัน
อีกทั้งมีความพยายามหาทางเลือกวิธีกำจัดขยะทางอื่น ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดการฝังกลบขยะที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย โดยในปัจจุบัน กทม.ใช้วิธีแยกขยะและหมักปุ๋ยราว 40% ซึ่งเพิ่มจากปี 2566 ที่เคยใช้วิธีดังกล่าวเพียง 29% โดยการลดวิธีฝังกลบขยะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะได้ถึง 172 ล้านบาทต่อปี
- ระบบสาธารณสุข
นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา กมลเวชช ยืนยันว่า กรุงเทพมหานครฯ ไม่ได้ละเลยการพัฒนาบริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ โดยที่ผ่านมา กทม.สร้างศูนย์บริการสาธารณสุขใหม่ 21 แห่ง และปรับปรุง 31 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น อีกทั้งมีโครงการเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วย 1,272 เตียง ใน 7 โรงพยาบาล ภายในปี 2568 และยังมีโครงการขยายประสิทธิภาพในการให้บริการกู้ชีพและกู้ภัย โดยมีการปรับปรุงสถานีดับเพลิง 13 แห่ง และสร้างใหม่อีก 3 แห่ง
- การศึกษา
ในด้านการศึกษา รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ มองว่าการพัฒนาคนคือการพัฒนาเมือง ซึ่งคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) โดยสำหรับการดูแลเด็กปฐมวัย กทม.มีนโยบายให้โรงเรียนเปิดรับนักเรียนในชั้นอนุบาล 1 ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพื่อแบ่งเบาความรับผิดชอบพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาดูแลเด็ก และปรับหลักสูตรเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-based Learning)
ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กทม.มีโยบายเปลี่ยนหลักสูตรให้เน้นการวิเคราะห์มากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล (Digital Classroom) ที่รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ระบุว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนจากห้องเรียนดิจิทัลสูงกว่าห้องเรียนปกติถึง 28%
ประเด็นสุดท้าย คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ดำเนินโครงการหลายโครงการที่ให้ประชาชนมีโอกาสมีส่วนร่วมมากขึ้น หนึ่งในโครงการที่โดดเด่นคือการเลือกตั้งสภาเด็กและเยาวชนฯ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
แล้ว 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่?
ในช่วงสุดท้ายของงานแถลง ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ให้คะแนนผลงานการทำงานตัวเองแบบกลางๆ คือ 5 จาก 10 คะแนน พร้อมทั้งทิ้งท้ายไว้ว่าคะแนนจริงๆ คงต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แล้วถ้าเราตอนนี้เราต้องให้คะแนนผลงานการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมาของ กทม.ในวาระของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เต็มสิบคะแนน เราจะให้เท่าไหร่?