ยืดหยุ่น สนุก และซุกซนบนหลักการ คือความรู้สึกหลังการพูดคุยร่วมชั่วโมงกับทีมแคมเปญของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
หากใครจำได้ ตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อดีตผู้สมัครเบอร์ 8 และปัจจุบันผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เต็มไปด้วยสีสันที่ฉูดฉาดในการหาเสียง ทั้งหนังสือพิมพ์ชัชชาติที่นำเสนอนโยบายกว่า 200 ข้อ, รถแห่ EV, สภากาแฟ หรือในวันสุดท้ายของการหาเสียง เขายังทำสิ่งที่แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น คือแทนที่จะใช้ท่ามาตรฐานอย่างการปราศรัยใหญ่ เขากลับขึ้นไปยืนปราศรัยบนลังใน 4 จุดมุมเมืองของกรุงเทพฯ
คำถามน่าสนใจคือ ไอเดียแสนสนุก ซุกซน และฉีกกรอบเหล่านี้มันมาจากไหน? ซึ่งแน่นอนว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ มันไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันประกอบขึ้นจากส่วนประกอบมากมาย คล้ายฟันเฟืองและน็อตในเครื่องจักรกลที่ทำให้เครื่องยนต์หมุนไปได้
The MATTER จึงนัดสัมภาษณ์ทีมเบื้องหลังแคมเปญชัชชาติ 3 คน มิ้นท์ – จิรัฏฐ์ ม้าไว ทีมนโยบายและลงพื้นที่, ตวง – ภัทรมน สุขประเสริฐ ทีมนโยบายและทีมสื่อสาร และ ตูน – ธนทัต มานะเจริญ ทีมอาสาเมือง, สภากาแฟ และรถแห่ EV อะไรคือแนวคิดการทำงานของคนกลุ่มนี้ แคมเปญต่างๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร และเบื้องหลังการทำงานกับบุรุษที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพีเป็นอย่างไร
ที่สำคัญ ทำไมถึงสรุปได้เป็นคำว่ายืดหยุ่น สนุก และซุกซนบนหลักการ
อยากถามความรู้สึกก่อน ในฐานะทีมเบื้องหลังรู้สึกอย่างไรบ้างที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับคะแนนโหวตถึง 1.3 ล้านเสียง สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
จิรัฏฐ์ ม้าไว: จริงๆ ไม่คิดว่าจะถึง 1.3 ล้านเสียง เพราะอย่างที่เราเห็นว่ามีผู้สมัครหลายคน ทุกคนก็มีจุดแข็งที่เรียกว่าน่าสนใจทุกคนๆ และกระแสมันก็ยังสูสีกันอยู่ ไม่คิดว่าผลตอบรับที่ประชาชนหรือคน กทม. จะอยากให้แกเป็นผู้ว่า กทม. มากถึง 1.3 ล้านคน แต่ตอนแรกประเมินว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเยอะกว่านี้ คิดว่าไม่ได้เลือกตั้ง 8-9 ปี คน กทม. น่าจะอยากออกมาใช้สิทธิ ประเมินกันว่าอาจแตะถึง 70-80% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อคะแนนออกมาก็โอเคครับ ถามว่าหายเหนื่อยไหม ยังเหนื่อยอยู่ ยังต้องทำงานต่อเนื่องอยู่ (หัวเราะ)
ภัทรมน สุขประเสริฐ: สำหรับเราว่าเกินคาด เอาเข้าจริงในทีมหลายคนไม่ได้ทำงานการเมืองมาก่อน มันก็ไม่ได้ประเมินออกขนาดนั้น และทีมเราเองก็ไม่ได้ทำโพลอะไรเลย แม้ได้ยินมาบ้างว่านำแหละ แต่พอมาดูกระแสในโซเชียล มีเดีย บวกกับเราเตรียมข้อมูล ทำงานหลังบ้าน มันก็มีก็นอยด์เหมือนกัน เดาไม่ค่อยถูก มันเลยเกินคาด
ธนทัต มานะเจริญ: คือในทีมมี 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งมองว่าล้านอัพแน่นอน แต่ผมอยู่ฝั่งที่คิดว่าชนะแหละ แต่ไม่น่าเกินล้านอาจจะแค่เฉียดฉิว เลยกังวลประมาณนึง พยายามอุดรอยรั่วให้หมดทุกรอย ตรงไหนทำได้ ทำเลย แล้วพอผลออกมามันก็เกินคาด อย่างผมนั่งอยู่วอร์รูมมีจอประมวลผลประมาณ 8 จอ พอคะแนนช่วงแรกนำเราก็ โหย! มาแล้วเว้ย ตื่นเต้น แต่พอ 5 นาทีหลังจากนั้นคือเบื่อ (หัวเราะ) เพราะมันเขียวหมดเลย (สีแทนชัชชาติ) ตอนั้นก็นั่งแบบจะวิเคราะห์อะไรวะ มันไปไกลแล้ว ก็ตื่นเต้นและก็ไม่ตื่นเต้นขนาดนั้น แต่ตอนนี้ก็แอบกังวลเล็กน้อย เพราะคนคาดหวังกับเราค่อนข้างเยอะ เราเลยต้องทำงานให้เต็มที่มากๆ คนอาจจะคิดว่าอาจารย์คนเดียวก็พอ แต่เขาก็จะย้ำเสมอว่าเราต้องช่วยกัน แกทำกรุงเทพฯ คนเดียวไม่ได้
ช่วงนั้นให้น้ำหนักกับโพลมากขนาดไหน เพราะแต่ละเจ้าก็ไม่เหมือนกันเลย เช่น โพลท็อปนิวส์ หรือของนิด้าโพล
ธนทัต มานะเจริญ: โพลมันมีเบื้องหลังแนวคิดวิจัยนิดหน่อย ซึ่งเข้าใจว่าในเชิงงานวิจัยนิด้าโพลจะอ้างอิงได้มากที่สุด ซึ่งตอนนั้นมันก็อยู่ที่ประมาณ 40% ก็ยังแปลกใจว่าจะเชื่อได้จริงหรอ ซึ่งอาจารย์ก็ย้ำว่าเราไม่ได้นอนมานะ อย่าไปประมาท ผมเองก็เลยแทบไม่ดูโพลเลย เราเหมือนคิดว่ายังไงต้องแข่งให้ชนะให้ได้
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ถ้าพูดแบบอาจารย์ โพลมันเหมือนเป็นกำลังใจว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่ขณะเดียวกันมันก็กังวลอีกว่าคนจะไม่ออกมาเลือกตั้งไหม หรือไปลงคะแนนให้คนอื่นไหม แมสเสจช่วงหลังเลยพยายามย้ำให้คนออกมาใช้สิทธิกันหน่อย
ถ้ามอง ชัชชาติ ในมุมมาร์เก็ตติ้ง ชวนวิเคราะห์ SWOT ของเขาหน่อย มีจุดเด่น-ด้อยอย่างไรบ้าง
ภัทรมน สุขประเสริฐ: : จุดเด่นอย่างแรกคือ ‘ความแข็งแกร่ง’ ซึ่งเราไม่ได้อยากตอกย้ำข้อความ ‘แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ นะ เราไม่อยากให้แกขายจุดนี้ด้วยซ้ำ ที่เราหมายถึงคือแกแข็งแกร่งในเชิงกายภาพ มีแรงลงพื้นที่ทุกวัน มีไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา
ธนทัต มานะเจริญ: ผมว่าแกเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่เป็นคนฟังเก่ง ฟัง-เก็บข้อมูล-วิเคราะห์ แล้วค่อยพูดอออกมาว่าคิดอย่างไรบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริง ซึ่งผมว่าหายาก คนส่วนมากจะอยากพูดมากกว่า และตรงนี้มันประทับใจผมมาก
ภัทรมน สุขประเสริฐ: แกคิดอะไรบนพื้นฐานของความเป็นไปได้
ธนทัต มานะเจริญ: แกจะไม่สัญญาว่าทำได้ แต่จะคิดว่าทำได้จริงๆ ไหมบนข้อเท็จจริง
จิรัฏฐ์ ม้าไว: เสริมนิดนึงว่าแกเป็นคนคิดเยอะ หมายความว่าในเรื่องนึงแกรับฟังคนนึงมา แกก็จะอยากฟังเรื่องนี้จากมุมคนอื่นด้วย อาจเพราะความเป็นนักวิชาการมาก่อน มันเลยต้องมีสมมติฐาน การค้นคว้า วิธีการแก้ไขที่มันเป็นขั้นตอน มันเลยทำให้แกพูดอะไรไม่ค่อยทัชชิ่งคน เวลาพูดอะไรเลยอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ติดขัดอะไรหรือเปล่า มันสร้างความหวังจะเปลี่ยนแปลงแหละ แต่แกจะไม่พูดว่าจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ความประนีประนอมเป็นจุดเด่นไหม
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เราไม่อยากใช้คำว่าประนีประนอมเลย หมายถึงว่าเรามองว่าอาจารย์เป็นนักบริหารมากกว่า แกรู้ว่าหลักการคืออะไร จุดไหนต้องทำแบบไหน แล้วตรงไหนมันต้องปะทะเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ คือแกรู้สึกว่ามันมีวิธีที่ค่อยๆ ไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ และแกใช้วิธีนั้นมากกว่า แต่เรื่องไหนที่ผิดต่อหลักการก็ไม่เอา
ธนทัต มานะเจริญ: พูดตรงๆ นะ ช่วงนึงที่เริ่มมีกระแสว่าแกดีเบตอ่อน เพราะประนีประนอมมากเกินไป คนทำงานอย่างเราจะรู้เลยว่าแกไม่ได้ประนีประนอม อาจารย์บี้เละเลย แต่บี้ในหลักการ ผมว่าแกไม่ได้ประนีประนอมแต่แกทำงานเป็น และสู้บนพื้นฐานของหลักการมากกว่า
ภัทรมน สุขประเสริฐ: มันเหมือนเป็นคาแรคเตอร์ของนักบริหารที่รู้จังหวะมากกว่า
พูดถึงเรื่องดีเบตขึ้นมาพอดี ตอนนั้นพอผ่านมาหลายสนามเริ่มเห็นแล้วว่า ชัชชาติ บนเวทีเป็นอย่างไร และคู่แข่งเป็นอย่างไร ตอนนั้นทางทีมประเมินสถานการณ์ว่าอย่างไรบ้าง
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ก่อนหน้านี้ในทีมมองกันว่าจุดที่ต้องทำเพิ่มก่อนดีเบตคือ ลงพื้นที่ เพราะเราไม่มี ส.ก. ป้ายหาเสียงก็น้อยอีก ต้องพยายามลงพื้นที่ให้มากเพื่อเข้าถึงคนเยอะๆ แล้วพลังงานแกเยอะมาก ตารางแน่นมากเช้าจรดค่ำ วันไหนมีดีเบตก็ลงพื้นที่ก่อนแล้วไปดีเบต
แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ ที่อาจารย์ต้องพักแล้วมาคุยกันสัก 1-2 ชั่วโมก่อนดีเบตคือ หลังเวทีช่อง 3 ครั้งแรก เพราะรายการมันแมสมาก และก็มีรูปแบบต่างจากหลายๆ เวทีที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่จะให้แสดงวิสัยทัศน์ 3 นาที แล้วก็จับฉลากเลือกประเด็น แต่ในเวทีช่อง 3 มันทั้งต้องช่วงชิงจังหวะ ต้องหาซีน และมีประเด็นไวๆ อีก แล้วอย่างที่เล่าไปว่าแกเป็นคนที่ต้องเรียบเรียงความคิดตั้งแต่ที่มาและความสำคัญ (หัวเราะทั้งทีม) แล้วมันไม่ฮุก ตรงนี้คือจุดอ่อน เลยเสนอว่าถ้าจะไปดีเบตต้องคุยกันก่อน หลังจากนั้นมันเลยเป็นมาตรฐานใหม่ว่า มาซ้อมแล้วค่อยดีเบต
จิรัฏฐ์ ม้าไว: มันไม่ใช่ว่าแกไม่ซ้อมนะ แต่ละประเด็นมันข้อมูลเยอะและซับซ้อนมากๆ การที่จะเล่าใน 3-5 นาที กลัวคนไม่เข้าใจ กลัวจะเทคนิคและวิชาการมากเกินไป ซึ่งแกก็ค่อยๆ เรียนรู้เก็บชั่วโมงบินมาด้วยกัน ตรงไหนควรพูด ตรงไหนลบได้
ตอนนั้นก็มีคนวิจารณ์ว่าชัชชาติไม่ชนเลย เพราะถ้าขึ้นไปเวทีดีเบตเราเห็นว่าอย่างวิโรจน์ ซึ่งไปเวทีไหนก็พูดชัด ตรงประเด็น และพร้อมชน ตอนนั้นทีมประเมินว่ายังไงบ้างไหม
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เราว่ามันไม่ดึงดูดแหละ และคนส่วนมากก็ไม่ได้เฝ้าดูทุกสิ่งทุกอย่าง ดูแค่ที่โควทไปหรืออะไรไป ทำให้มันก็ดูเบาจริงๆ แต่อาจารย์ก็เป็นของอาจารย์แบบนี้ แกจะพูดเสมอว่าอยากแข่งกับตัวเอง อยากพูดอะไรที่เป็นไปได้ มันเลยอยู่ในมาตรฐานประมาณนั้น
เคยคิดไหมว่าจะไม่ส่งแกไปเวทีดีเบตแล้ว เพราะอย่างเวทีของ The MATTER ผู้สมัครหลายคนก็มาปฏิเสธช่วงสุดท้าย
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ผมว่านี่แล้วแต่กลยุทธ์ของผู้สมัครนะ เพราะบางคนอาจเน้นลงพื้นที่ บางคนไปปราศรัยใหญ่ บางคนเน้นออกสื่อออกรายการ มันไม่มีแนวคิดตายตัว ทีมยังคุยเล่นกันเลยว่าเวทีดีเบตผู้ว่าฯ นี่ถี่กว่าดีเบตนายกฯ เสียอีก (หัวเราะ) เวทีมันเยอะและติดกันมาก ซึ่งเราก็เข้าใจว่าผู้สมัครทุกคนไปทุกเวทีไม่ไหวหรอก มันก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ซึ่งแกก็ถามนะว่า ประเด็นดีเบตพรุ่งนี้คืออะไร? ทำไมมันเหมือนเดิมอีกแล้ว? ผมต้องพูดแบบเดิมหรือเปล่า? อย่าง The MATTER ก็มีเปลี่ยนรูปแบบเวที มันก็เป็นกลยุทธ์ของทั้งผู้จัดและผู้สมัคร
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ลำพังดีเบตอย่างเดียว วันนึงมันมี 2 รายการ มันต้องบาลานซ์มากกว่า แต่ไม่เคยมีถึงขั้นเราไม่แข็งแรงสิ่งนี้ ขั้นต่ำเลยก็ไปเจอ ไปทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้
ทางทีมประเมินกันไหมว่าถ้าไปขึ้นเวทีดีเบตแล้วจะเสียคะแนน
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ต้องบอกว่าพอเราดูกระแสโซเชียล มีเดีย เราก็จะมีคิดมากกันนิดนึง มีคุยกันว่าต้องปรับสไตล์ไหม เหมือนเราเชียร์มวยนะ เอาสิๆ แยปหน่อย แต่ด้วยสไตล์ของแกมันคือการค่อยๆ เก็บคะแนนจนครบยก แล้วสุดท้ายผลคะแนนก็ออกมาให้เห็นแล้วว่าชนะ
ธนทัต มานะเจริญ: ไม่มีหมัดน็อค (หัวเราะ) แต่หลักๆ คือ ตอนดีเบตช่อง 3 ตอนนั้นผมเดินห้างอยู่แล้วก็ดูไลฟ์ไปด้วย มีคิดเหมือนกันว่าอาจารย์ตรงนั้นไม่ได้ ตรงนี้เพิ่มอีกหน่อย หลังจากนั้นคือเข้มสุด แล้วก็ปรับกันมาตลอด
คำถามนึงที่แกโดนถามบ่อยมากคือเรื่องของทักษิณและเพื่อไทย ทางทีมประเมินเรื่องนี้ว่าเป็นผลบวกหรือลบ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ถ้าโควทแกจะบอกว่า ‘แกมาจากเพื่อไทยมาก่อน แต่ก็ออกมาเป็นอิสระแล้ว 2 ปีครึ่ง’ คิดว่าบวกหรือลบ มันตอบยาก เพราะตั้งแต่ประกาศลงเลือกตั้งแกก็ทำงานเป็นอิสระมาตลอด และทำงานได้กับทุกฝ่ายจริงๆ หลังจากนี้ ให้ผลงานและประชาชนเป็นคนพิสูจน์ละกัน
แล้วความเป็นอิสระ เป็นอย่างไรบ้าง มีผลบวกหรือลบกับคนทำงานหลังบ้าน
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เราเซอร์ไพรส์นะ พอแกเปิดไพ่นี้ มันมีคนซัพพอร์ตจากทุกทิศทางจริงๆ เราเห็นความร่วมมือเยอะ คนกล้าเข้ามาช่วยโดยไม่ได้มีคำถาม
ถามว่าบวกหรือลบกับเพื่อไทยและทักษิณ มันก็เป็นได้ทั้ง 2 ทาง ถ้าเขาเป็นแฟนคลับเพื่อไทยหนักแน่น เขาก็มีแนวโน้มว่าจะซัพพอร์ตชัชชาติอยู่แล้ว เพราะเขาก็มีแบลคกราวด์จากทางนั้นมาก่อน แต่ถ้ามองคนที่ไม่ได้ซัพพอร์ตชัชชาติเพราะความเพื่อไทย แล้วพอแกเปิดไพ่อิสระมันก็มีคนหันมายอมเลือกเพราะผลงาน แนวคิด และสิ่งที่เขาพยายามทำมาตลอดจริงๆ
ธนทัต มานะเจริญ: สำหรับผมมันเป็นมิติใหม่ประมาณนึงเลยนะ สมมติผมเคยอยู่เพื่อไทยมาก่อน ผมอาจลาออกเพราะอยากได้คะแนนเสียงฝั่งอื่นมากขึ้น แต่ผมว่าอาจารย์ไม่ได้คิดแบบนั้น เขาแค่อยากทำงาน แล้วพออิสระมันมีหลายองคาพยพมาร่วมมือกัน แล้วแกก็เดินต่อเลย แกไม่ได้มานั่งวิเคราะห์ว่าจะได้ฐานเสียงนู้นนี่ แกเดินไปเลย แล้วคนก็เดินตามๆ ผมว่านี่คือมิติใหม่มากๆ
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เราว่าหัวใจงานสเกลเมืองมันเหมือนที่แกบอก แกเห็นแล้วว่าสามารถทำงานได้โดยที่ตัวเองเป็นอิสระ ได้รับความร่วมมือมากขึ้น แล้วพอมาถึงจุดนี้มันเลยเห็นชัดขึ้นว่า เออ ที่แกคิดก็จริงวะ ก่อนหน้านี้เราก็ลุ้นแทน
ธนทัต มานะเจริญ: อาจารย์ก็ตั้งคำถามนะว่า อิสระมันดีจริงๆ ไหม? (หัวเราะ)
จิรัฏฐ์ ม้าไว: หมายถึงว่าเรามาถูกทางไหม (หัวเราะ) ถ้าเราออกมาแล้วคนที่เป็นแฟนคลับเพื่อไทยเขาจะเลือกเราหรือเปล่า? แล้วไปอยู่กับอนุรักษ์นิยมเขาอาจจะ เอ้ะ! คุณเคยอยู่เพื่อไทยมานี่ เขาจะไม่เลือกหรือเปล่า? สุดท้ายแล้วก่อนเลือกตั้งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าฐานเสียงเราอยู่ตรงไหน (หัวเราะ)
แล้วการที่เปิดตัวมากก่อน 2 ปีครึ่ง ทีมเบื้องหลังรู้สึกเหนื่อย เปื่อย หรือหมดไฟบ้างไหม ทำงานมาตลอดขนาดนี้
ภัทรมน สุขประเสริฐ: มันเป็นโมเมนต์ประมาณว่า เฮ้ย! เดี๋ยวจะมีประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้วนะ ใกล้แล้วนะ ประมาณ 2-3 รอบแล้วก็เลื่อนไปอีกๆ จนเราเองก็มีช่วงที่หยุดไปเองเหมือนกัน เพราะคิดว่าคงไม่ได้เลือกเร็วๆ นี้ แต่อาจารย์เองทำต่อเนื่อง ลงพื้นที่ ทบทวนไอเดียตัวเองตลอดเวลา ปัญหาก็ใหม่ ผู้เชี่ยวชาญก็มีให้เจออีกหลายคน แกก็เหมือนรักษาโมเมนตัมของตัวเองได้เรื่อยๆ
ธนทัต มานะเจริญ: ทุกคนก็รู้ว่าเวลาเราสตาร์ทเร็ว เราก็ลงพื้นที่และเก็บข้อมูลเยอะ เหมือนอาจารย์วิ่งมาราธอน แต่มันไม่จบที่ 42 กม. จะไปจบที่ไหนก็ไม่รู้ (จิรัฏฐ์ ม้าไว: มาราธอนที่ตอนแรกไม่เห็นเส้นชัย) อย่างตอนผมทำอาสาเมือง จะเลือกตั้งแล้วลุย จะเลือกตั้งแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นแบบนั้น แต่ผมว่าอาจารย์แข็งแกร่งจริง แกเดินต่อจริง แล้วพอแกเดินเราก็หยุดไม่ได้ ต้องไปต่อ
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เหมือนระหว่างทางมีงานใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ เราก็ปรับกิจกรรมไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้หยุด
ทางทีมประเมินใครเป็นฐานเสียงหลักของชัชชาติ แล้วมีวิธีสื่อสารกับเขายังไง
ธนทัต มานะเจริญ: ตอบแบบนี้เลยว่าทุกคน ไม่ได้เกินจริงนะ เพราะอย่างที่อาจารย์แกว่า ‘ทำเมืองให้น่าอยู่’ ดังนั้น ทุกคนคือฐานเสียงเรา แต่ถ้าถอยมานิดนึงเราแบ่งเป็นบ้านในรั้วกับชุมชน ถ้าบ้านในรั้วเราใช้โซเชียล มีเดีย ซึ่งอาจารย์แกเป็นมีมอยู่แล้ว มีผู้ติดตามเยอะ เราก็สื่อสารได้เลย แต่ถ้าเป็นชุมชนเราก็ลงพื้นที่ไปเจอเขามากกว่า
ทุกคนคือฐานเสียงเราจริงๆ ไม่ได้แบ่งว่าปีกซ้าย-ขวา ทุกคนคือประชากรกรุงเทพฯ และหน้าที่เราคือทำเมืองให้น่าอยู่ ดังนั้น ทุกคนคือฐานเสียงเราจริงๆ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: คนชอบบอกว่า ชัชชาติ ไม่มี ส.ก. ไม่ลงชุมชนเลยหรือเปล่า แล้วคะแนนเสียงจะมาจากไหน แต่จริงๆ แกเป็นผู้สมัครคนนึงที่ลงชุมชนเยอะมากๆ ตอนลงชุมชนยังมีคนแซวแกเลยว่า “เคาะทุกประตูบ้านเลย นึกว่าลง ส.ก.” (หัวเราะ)
เราประเมินแล้วว่าเราไม่มี ส.ก. เลยต้องพาแกไปพบปะ ไปพูดคุยปัญหากับประชาชน แต่สำหรับคนเมืองบ้านในรั้วต่างๆ อาจรู้จักแกบ้างสมัยเป็นรัฐมนตรี หรือตามสื่อต่างๆ เราก็ใช้ช่องทางนี้ในการเล่าและสื่อสารออกไป ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะไม่เหมือนกัน
กับคนบางกลุ่มที่อาจไม่ชอบเพื่อไทย ไม่ชอบประวัติของชัชชาติ มีวิธีสื่อสารกับเขาอย่างไรไหม
ธนทัต มานะเจริญ: ผมว่ากลับมาเรื่องเดิม นโยบายคือพระเอก เราทำชีวิตคุณให้ดีขึ้นด้วยนโยบายแบบนี้ ที่เหลือคุณจะเลือกหรือไม่เลือก ไม่เป็นไร เราจะทำเมืองให้คุณ
ภัทรมน สุขประเสริฐ: มันไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรที่ซับซ้อน (ทุกคนเห็นด้วย) ค่อนข้างตรงไปตรงมา อย่างเรื่องเพื่อไทยก็พยายามย้ำว่าทำไมถึงอยากลงอิสระ และอิสระมันดีอย่างไรต่อการเป็นผู้ว่าฯ กทม. มันไม่ได้มีแบบแผน
จิรัฏฐ์ ม้าไว: หรือมันควรซับซ้อน แต่เราไม่คิดซับซ้อนเอง (หัวเราะ)
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ถ้าอาจารย์บอกแกจะบอกว่า เราชี้แจงของเราแล้ว แต่เราเปลี่ยนความคิดใครไม่ได้หรอก เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่เขาแล้ว
มีช่องทางสื่อสารไหนไหมที่เน้นเป็นพิเศษ
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ถ้าแบ่งกว้างๆ มันจะเป็นช่องทางที่อาจารย์มีอยู่แล้วคือ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งก็จะมีที่อาจารย์โพสต์เอง รวมถึงสื่อหลายรูปแบบมากทั้งการ์ตูนหรือวีดีโอ พอเราคิดว่าทุกคนคือคนที่อยู่ในเมือง มันก็เลยผลิตสื่อออกมาหลายแบบ
แต่มันก็จะมีบางอันที่ทำในนาม ‘เพื่อนชัชชาติ’ คือ ติ๊กต๊อกกับอินสตาแกรม เป็นหลัก ตัวติ๊กต๊อกเป็นแพลตฟอร์มใหม่เลยที่ปล่อยให้น้องๆ ในทีมเอาไปเล่นได้เต็มที่ มันก็จะไม่มีทิศทางที่สุด (หัวเราะ) หมายถึงว่าอยากเพิ่มวิธีเข้าถึงคนรุ่นใหม่ผ่านแอพนี้ไปเลย ตอนแรกอาจารย์ก็จะเขินๆ หน่อยว่าตลกไปไหม แต่ก็ค่อยๆ ปรับกันไปเรื่อยๆ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: เท้าความกลับไป เรียกว่าเป็นปีแล้วที่เราพยายามโน้มน้าวอาจารย์ว่า เปิดติ๊กต๊อกไหม เปิดยูทูปไหม บอกว่ามันเป็นช่องทางคนรุ่นใหม่ เฟซบุ๊กไม่มีใครเล่นแล้ว อาจารย์จะโพสต์ยาวๆ ทำไมใครจะอ่าน ทีมก็พยายามประเมินกันและบอกแกตลอด ซึ่งแกก็บอกว่ามันสไตล์ผม สุดท้ายทีมก็เลยมัดมือชก เปิดแอคเคาท์ให้แกเอง แล้วทำในนามเพื่อนชัชชาติ แรกๆ แกก็ไม่รู้ตัว จนมันเริ่มกลับมาหาแก แกก็ถามว่าใครทำเนี่ย เอาสาระบ้างนะเว้ย อย่าตลกมากเกินไป แต่หลังๆ แกก็เริ่มมีเล่นตลกเองบ้าง ถามว่ามีติ๊กต๊อกลงยัง ถ่ายไหม (หัวเราะ) มีคลิปยัง ถ่ายไหม
จริงๆ แล้วแกชอบไหมเวลามีคนชวนเล่น แบบวิดพื้นให้ดูหน่อย มางัดข้อแข่งกันอะไรแบบนี้
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ภายนอกแกดูเป็นดุนะ แต่เวลาประชาชนขอให้ทำอะไร แกก็ทำหมด
ธนทัต มานะเจริญ: ผมว่าแกชอบ (หัวเราะ) แกเป็นดาราหน้ากล้องได้สบาย
ตอนที่แกโกรธที่สุดนี่เป็นอย่างไร และเกิดขึ้นจากอะไร
ภัทรมน สุขประเสริฐ: (หัวเราะ)
ธนทัต มานะเจริญ: ไม่ค่อยเห็นนะ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ส่วนมากจะบ่นๆ มากกว่า
ธนทัต มานะเจริญ: ต้องนิยามคำว่าโกรธคือ โกรธภายใต้งาน สมมติถ้าผมทำงานพลาดเนี่ย อาจจะโดน เพราะแกเป็นคนละเอียด ตอนแกโกรธผมนะ แกเสียงไม่ดัง แต่จะชัดเจนแล้วแน่นขึ้น แล้วพูดคือตรงเป้ามาที่เราเลย
Role Play นิดนึงได้ไหม
ธนทัต มานะเจริญ: Role Play เลยหรอ (คนอื่นขำ) เอาอย่างนี้ละกัน คือมันมีงานสภากาแฟ ตอนนั้นผมทำอาสาเมือง แล้วผมก็เหมือนพี่ตวงคือพักไปก่อน ไม่ได้ทำแล้ว ทีนี้นั่งอยู่ในห้องประชุมกันแบบนี้ อาจารย์ก็ชี้มาทางผมถามว่าสภากาแฟเป็นอย่างไรบ้าง ผมก็ประมาณว่าผมต้องทำหรอ แกก็เสียงดังขึ้นแล้ว “เฮ้ย! เดินหน้าหน่อยดิ ผมสั่งสิบเอาร้อยนะเว้ย” ผมก็เออกูโดนแล้วว่ะ (หัวเราะ) หลังจากนั้นมันก็กระตุ้นเลย นอกจากนั้นก็มีพาแกไปตากแดด แกก็จะบ่นๆ คนนั้นโดนเยอะ (ชี้ไปทางจิรัฏฐ์) แกก็จะบอกว่า “ร้อนจังวะ” บ่นนิดหน่อย
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เรารู้สึกว่า Defautl แกเป็นคนจริงจังเว้ย แล้วก็คาดหวังจากงานและทีม แต่พอแกดุอะไรครั้งหนึ่งแล้วมันก็ผ่านไป ไม่ได้เก็บมาคิดหรืออะไร ตอนนี้มันก็เลยเริ่มขำแล้ว
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ผมไม่ค่อยโดนโกรธจริงจัง ส่วนใหญ่จะเตือนว่าทำนู้นหน่อย ทำนี่หน่อย อันนี้ได้ยังที่ผมสั่งไป
อะไรที่แกไม่ได้เลย ห้ามเลยเรื่องนี้
ธนทัต มานะเจริญ: ผมว่าอะไรที่ยังคิดไม่ครบมุมแล้วไปเสนอแก แกจะพูดว่า ”คิดดีแล้วใช่ไหม” อันนี้รู้เลยว่าโดนปฏิเสธแล้ว
ในช่วงแรกของการหาเสียงประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นมาคือป้ายหาเสียง แล้วทีมชัชชาติก็ปรับขนาดป้ายหาเสียงไวมาก เล่าถึงตอนนั้นให้ฟังหน่อยได้ไหม
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ถ้าเล่าย้อนไปต้องแบบนี้ อาจารย์เคยเอาเรื่องนี้มาคุยตั้งแต่ก่อนติดป้ายหาเสียงแล้วว่า จะทำจริงใช่ไหม มันเหมือนมีโมเมนต์ที่แกคิดว่าไม่ติดป้ายหาเสียงเลยได้ไหม แต่ไอเดียเรื่องขนาดเรามี 2 แบบตั้งแต่แรกแล้ว สำหรับป้ายขนาดใหญ่ เราก็คิดถึงเรื่องฟุตปาธตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่พอตอนทำงานมันก็ลำบาก เพราะต้องมีข้อมูลว่าตรงไหนเป็นอย่างไร กว้างเท่าไหร่ แล้วพอติดป้ายใหญ่ไปได้สักพัก เราก็เริ่มสังเกตว่าป้ายเล็กมันไม่ได้ลดคุณค่า ข้อความที่อยากจะสื่อสาร มันเลยเป็นแบบนี้
จิรัฏฐ์ ม้าไว: แกเห็นไอเดียตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีที่อเมริกาของ โจ ไบเดน ตอนนั้นเขาทำเป็นบอร์ดเล็กๆ แกก็เลยมาถามว่าต้องทำป้ายไหม ไม่ทำได้หรือเปล่า ไม่ทำแล้วคนจะรู้จักผมไหม คนจะเลือกผมเพราะป้ายจริงหรือเปล่า ตอนนั้นทีมก็ไปดูว่าทำไมทุกคนถึงต้องทำป้ายขนาดเดียวกัน ฝ่ายกฎหมายก็ไปดูว่า กกต. กำหนดไว้หรอ สุดท้ายก็พบว่ามันไม่ได้ฟิกซ์ตายตัว แต่ห้ามเกินขนาดนี้ มันก็เลยเป็นที่มาของการลดขนาดป้าย
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ตั้งแต่แรกแกโยนโจทย์มาให้แล้วว่าจำเป็นต้องมีป้ายหาเสียงไหม ซึ่งทีมกราฟิคกับทีมป้ายก็คิดว่าจะเอาเบอร์นั้นเลยหรอ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: แต่จริงๆ เราชอบแซวกันในทีมว่าที่ป้ายน้อยและเล็ก เพราะทุนต่ำ เงินมันไม่พอ (หัวเราะ)
ทางทีมมีการวางแผนลงพื้นที่ให้อย่างไรบ้าง มีพื้นที่ไหนที่เน้นเป็นพิเศษไหม
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ตรงนี้ยากเหมือนกัน เพราะก่อนประกาศเลือกตั้งช่วงปลายมีนาคม แกก็เดินมาครบหมดทุกเขตแล้ว แล้วพอมาช่วงเคาะวันเลือกตั้ง เราก็มีเกณฑ์ในการลงพื้นที่ 3 ประเด็น หนึ่งคือครอบคลุมเชิงพื้นที่ สองกลุ่มเป้าหมาย และสามคือเชิงประเด็น
ในเชิงพื้นที่ มันก็ท้าทายว่าภายในเดือนครึ่งถึงสองเดือนเนี่ย เราจะเดินได้ครบทุกเขตหรือเปล่า ระยะเวลามันประมาณ 50 วันแปลว่าต้องมีวันละเขตแน่ๆ ซึ่งจริงๆ เลยเป็นที่มาว่าเดินจนครบในช่วงก่อนเลือกตั้ง คือวนใหม่อีกที่หนึ่ง บางเขตเป็น 2-3 รอบด้วยซ้ำไป แกก็บอกว่า อ้าว! ผมเคยมาที่นี่แล้วนี่ แกก็จำประธานชุมชนได้ คุยเล่นทักทายกันได้
ในเชิงประเด็น คนชอบบอกว่า กทม. มีปัญหาคล้ายๆ กัน แต่จริงๆ แล้วในรายละเอียดไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องน้ำ ทางหนองจอก, มีนบุรี, คลองสามวาก็มีปัญหาเรื่องน้ำแล้งเพราะทำการเกษตร ทางทุ่งครุ, จอมทอง, บางขุนเทียนก็เรื่องน้ำเค็ม น้ำทะเลหนุน แต่ว่าในเมืองจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำรอระบาย แต่ละเขตก็ไม่เหมือนกัน ต้องใช้เวลาลงไปทำความเข้าใจ ไปดูรายละเอียดและหาวิธีแก้ไข
และกลุ่มเป้าหมาย อย่างที่เราบอกว่าชุมชนต่างๆ แกเข้าไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อพบประชาชนได้ แต่ว่าพอเป็นบ้านในรั้วมันเป็นโจทย์ของทุกผู้สมัคร เราไม่สามารถเข้าไปได้ และก็ไม่การันตีด้วยว่าเขาจะเสพสื่อที่เราผลิต มันเลยเป็นโจทย์ว่าจะเข้าหาคนรุ่นใหม่ และคนที่อยู่บ้านในรั้วยังไงได้บ้าง มันเลยเป็นที่มาของการไปตลาดตอนเช้า ไปห้างสรรพสินค้า ซี่งที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีนักการเมืองท้องถิ่นเลยที่ไปหาเสียงถึงในห้าง ซึ่งตอนแรกเราก็กลัวว่าไม่อยากไปรบกวนชีวิตประจำวันของเขา ก็พยายามไม่ใช้เสียง ใช้ป้ายอะไร แต่มันก็กลายเป็นกระแสต่อแถวยาว เดินไม่ได้เลย ก็เป็นแบบนั้นไป
ระยะเวลาตั้งแต่ มี.ค. – พ.ค. ถ้าเป็นกรุ๊ปทัวร์จะเป็น 6-7-8 ตื่น 6 โมง กินข้าว 7 โมง ล้อหมุน 8 โมง แต่ของชัชชาตินี่คือตื่นตี 5 ล้อหมุน 6 โมง ถึงตลาด 7 โมง แทบเป็นแบบนี้ทุกวัน และก็เสร็จไปถึง 1-2 ทุ่มทุกวัน และถ้าช่วงดีเบตก็อย่างต่ำ 3-4 ทุ่มทุกวัน ทีมยังพอเปลี่ยนได้นะ แต่ตัวแกเปลี่ยนไม่ได้
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ตั้งแต่จับฉลากมาเหมือนไม่ได้หยุดเลยปะ
ธนทัต มานะเจริญ: ก่อนจับฉลากด้วยซ้ำ ทุกวันแบบทุกวันจริงๆ
ถ้าลงพื้นที่ Action Plan จะประมาณไหน
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ถ้าวันธรรมดาเรารู้ว่าคนจะไปทำงานเยอะ ถ้าไปตามบ้านช่วงสายจะไม่มีคน ดังนั้น ตอนเช้าต้องไปตลาด ตอนกลางวันก็อาจจะมาย่านคนทำงาน ย่านหาของกิน แล้วตอนเย็นกลับไปตลาดใหม่ หรือไปย่านที่คนสัญจรเดินทาง
ถ้าเป็นวัน เสาร์-อาทิตย์ ลากยาวทั้งวัน คนที่ลงวันนี้คือแน่นอนว่า 7 โมงเช้า ถึง 7 โมงเย็น (19.00 น.) แน่นอน ตอนเช้าอาจไปตลาดสัก 2-3 แห่ง แล้วไปชุมชนอีกสัก 2-3 แห่ง เที่ยงต่อ บ่ายต่อ มีวันที่นับกันหนักที่สุดนี่แทบจะจุดละ 1 ชั่วโมง
มีจุดไหนไหมที่ลงบ่อยที่สุดไหม
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ยากเลยนะ ไม่ได้นับเหมือนกัน สมมติเราไปกรุงเทพฯ เหนือ ไปหลักสี่ปั๊ป ก็จะมีฝั่งธนคอมเมนต์มาละ “อาจารย์ชัชชาติไม่สนใจฝั่งธนเลย” “ฝั่งธนลูกเมียน้อยอีกแล้วหรอ” ก็จะเทไปฝั่งธน 3-4 วันติด ฝั่งตะวันออกก็ถามว่า “อาจารย์หายไปไหนแล้ว ทำไมพอจับเบอร์แล้วไม่เจอเลย” มันก็เป็นที่มาที่เราพยายามเกลี่ยๆ ไปให้ได้ทุกโซน
ดูเหมือนแผนของทีมจะค่อยข้างยืดหยุ่นมาก
ภัทรมน สุขประเสริฐ: สด สด สดมาก หมายถึงว่าแผนนี่แทบจะวันต่อวันก็ว่าได้
จิรัฏฐ์ ม้าไว: บางทีนักข่าวจะถามมาในไลน์กรุ๊ปว่าพรุ่งนี้ไปไหน ถ้าเราบอกไม่มี ก็ต้องหมายเหตุไว้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม เพราะบางทีมีประเด็นร้อนเข้ามาหรือประชาชนร้องเรียนเข้ามา แกก็พร้อมไปดู มันอาจเพราะว่าแกเป็นอิสระและทีมเป็นเป็นคนรุ่นใหม่ มันไม่ต้องมีคนมารอ มันพร้อมที่จะไปที่ไหนก็ได้ บางวันตอนเช้าอยู่บางขุนเทียน ตอนบ่ายไปกรุงเทพฯ เหนือย่านสายไหมอะไรแบบนี้
สำหรับแคมเปญหนังสือพิมพ์ชัชชาติ ไอเดียตรงนี้เป็นมาอย่างไร
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เท่าที่เรารู้ ทีมสื่อสารเขาวางกลยุทธแล้วว่าอยากให้ทุกอย่างรักษ์เมืองและนำไปใช้ต่อได้ ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ คนที่ได้ไปก็นั่งอ่านได้ ร้านของชำก็ใช้ห่อนู้นนี่ แถมบรรจุข้อความได้เยอะ มันก็เลยตอบโจทย์ทุกอย่าง
ธนทัต มานะเจริญ: ผมเสริมว่าอาจารย์มีวิสัยทัศน์ไปไกลมาก อย่างอันนี้แกก็โยนมาตั้งนานแล้วว่าอยากทำหนังสือพิมพ์ เพราะตอนนั้นแกโยนโจทย์มาแค่ว่า มันใหญ่ดี นโยบายเราเยอะ แผ่นเล็กๆ มันไม่พอ แค่นั้นเอง แต่วิสัยทัศน์แกไปตั้งไกลแล้ว แล้วให้ทีมไปมั่วกันก่อนว่าตกผลึกแล้วเป็นยังไง
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ทุกไอเดียมันท้าทายนะ หนังสือพิมพ์ใครจะไปอ่าน แจกยากจังปกติเข้าใช้ A5 ขนาดโปสการ์ด นี่แผ่นใหญ่มาก แบกหนักมาก
ภัทรมน สุขประเสริฐ: แต่สุดท้ายก็ชอบนะ ลงพื้นที่ตลาดก็เห็นคนนั่งอ่านๆ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: บางคนก็เอาไปปูพื้น ปูโต๊ะกัน (หัวเราะ)
วันที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติขี่จักรยานมาถึงตอนตี 5 เพียงคนเดียว อันนี้เป็นไอเดียของทีมหรือของอาจารย์
ภัทรมน สุขประเสริฐ: อันนี้ก็สดมาก ตอนแรกก็นัดหมายกันที่ออฟฟิส แล้วตอนนั้นน่าจะ 3 ทุ่มกว่า แล้วแกก็บอกเดี๋ยวผมขี่จักรยานไปนะ ทุกคนก็แบบ.. อ๋า..
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ตอนแรกก็นัดหมายกันที่ออฟฟิศว่าตี 4-5 มาเจอกันที่ออฟฟิศนะครับ แล้วเดี๋ยวไปพร้อมกัน เพราะทีมงานกลัวมันจะวุ่นวาย ถ้าแยกกันไปจะหากันเจอยังไง ตอนนั้นก็เซ็ตรถตู้ไว้แล้ว 2-3 คัน คุยกันเสร็จแล้วก็กลับไปพักผ่อน ตกดึกแกก็โทรมาบอกถามว่าถ้าผมขี่จักรยานไปได้ไหม งงเลยแล้วจะทำยังไงเนี่ย ขี่จักรยานตอนเช้ามืดแล้วโดนรถกวาดไปทำไง
ธนทัต มานะเจริญ: แกยังบอกอยู่เลยว่า ถ้ารถชน ผมลงข่าวหน้าหนึ่งเลยนะ (หัวเราะ)
จิรัฏฐ์ ม้าไว: แล้วใครต้องปั่นตามวะเนี่ย ผมหาจักรยานไม่ทันนะเว้ย (หัวเราะ)
ภัทรมน สุขประเสริฐ: แต่ปกติแกก็ปั่นจักรยานอยู่แล้ว เป็นหนึ่งในโหมดเดินทางของแก ก็มีเแก๊งนักปั่นขี่ไปด้วย
ดูแกเป็นคนที่ซนเหมือนกันนะ หมายถึงพร้อมที่จะเปลี่ยนความคิด ฉีกกรอบเดิมๆ ตลอดเวลา
ธนทัต มานะเจริญ: ผมว่าอย่างหนังสือพิมพ์วิสัยทัศน์แกชัดมาก แต่จะเดินทางไหนพร้อมปรับได้ตลอด แกมีกลยุทธ์แต่ไม่ได้ยึดติดทดลองไปเลยว่าอันไหนดี เป็นทรงนั้น แล้วทีมก็จะเดินตามเป็นหาง
ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ทางทีมประเมินว่าใครเป็นคู่แข่งบ้าง
ธนทัต มานะเจริญ: แบ่งเป็นเฟสได้ไหม อย่างทีมผมตอนโพลรอบแรกออกมาเรานำโด่ง รู้แล้วว่าคู่แข่งคือทุกคน เพราะทุกคนต้องการสอยเบอร์หนึ่ง แต่พอหลังดีเบตตอนช่อง 3 ตอนนั้นก็เริ่มชี้เป้าแล้วว่าคนที่อาจจะเป็นคู่แข่งเราจริงๆ คือ คุณวิโรจน์ (ลักขณาอดิศร) ตอนนั้นก็เริ่มประเมินกันแบบนี้
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เราว่าตัวอาจารย์ก็นิ่งของแก ไม่ใช่ประมาทนะ หมายถึงว่าแกรู้สึกว่าต้องแข่งกับตัวเองเนี่ยแหละ อย่างที่บอกเลยว่ามันประเมินยาก มันมีหลายฝ่าย แล้วเราลงอิสระอีก มันก็สามารถแบ่งเสียงมาได้จากทุกฝ่าย ก็เลยไม่ได้เก็บหรือต้องตามแนวทางใครเป็นพิเศษ แต่ถามว่ามีช่วงต้องฮึดไหม มันก็มี
ธนทัต มานะเจริญ: พอเราตามโซเชียล มีเดีย เห็นหลายคนมากที่เริ่มเปลี่ยนใจจากชัชชาติมาเป็นวิโรจน์ เราก็จะประมาทไม่ได้ แต่อย่างที่ตวงพูดแหละว่าอาจารย์มองว่าต้องแข่งกับตัวเอง แต่ขานี้เราก็ต้องอุดนิดนึง มิงั้นกลัวคะแนนไหล
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ในฐานะทีมนโยบาย มองว่าอาจารย์มองคู่แข่งในด้านนโยบาย แกก็จะมาถามว่ามันเป็นแบบนั้นหรอ เป็นแบบนี้เวิร์คไหม แนวทางของเราคืออะไร
จิรัฏฐ์ ม้าไว: แกคงไม่มองว่าใครเป็นมุมแดง มุมน้ำเงิน ขึ้นเวทีต้องสอยมันอย่างเดียว แต่อย่างที่พี่ตวงบอกว่า แกอยากรู้ว่านโยบายคนนั้นเวิร์คไหม ทำไมถึงพูดประเด็นนี้ ทำได้จริงไหม แล้วเราควรทำตามเขาหรือเปล่า
มีนักรัฐศาสตร์หลายคนมองว่าอย่างคุณอัศวิน ชวัญเมืองก็มีฐานเสียงในมือ 5-6 แสนเสียง ไม่ได้มองเขาเป็นคู่แข่งหรอ
ธนทัต มานะเจริญ: ผมต้องบอกว่าอาจารย์ไม่ได้มองการเมืองเลย ดูนโยบายอย่างเดียว แต่อย่างฝั่งประเมินก็มองคุณวิโรจน์คือคู่แข่ง อย่างคุณอัศวินก็กังวลเหมือนกัน แต่ก็เอานโยบายเข้าสู้ไม่ได้มีอะไร
ไฮไลท์คือตอนโค้งสุดท้าย ซึ่งมันไม่ใช่โค้งแล้วแต่มันคือทางตรงเข้าเส้นชัย แล้วเราไปรู้มาว่าทุกพรรคการเมืองจะปราศรัยใหญ่หมด แต่โปรแกรมเราคือ ‘ผู้ว่าเที่ยงคืน’ คือไปลงพื้นที่ตามปกติ ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราต้องไม่ประมาท เราต้องชิงพื้นที่สื่อให้ได้มากที่สุด เราก็ตั้งอันนี้เป็นโจทย์เลยว่าผู้สมัครแต่ละคนเขาตั้งเวทีปราศรัยเพื่อให้ประชาชนเข้ามาหา แต่อาจารย์ต้องลงพื้นที่ ไปสบตาคน ไปชนหมัด ถ้าแบบนั้นเราเอาลังไม้ไปลงพื้นที่ที่คนเยอะๆ จุดเลิกงาน จุดท่องเที่ยว อาจารย์ก็บอกว่าเอาอันนี้แมสเสจทางการเมืองไปแน่นอน มันเลยกลายเป็นผู้ว่าสัญจรเราไม่ได้นอนมา คือเราไม่ประมาท และอีกควาหมมายหนึ่งคือทีมงานก็ไม่ได้นอนด้วย (หัวเราะ) ซึ่งผลลัพธ์ที่อออกมาก็เป็นตามที่เราคิด คือเราสามารถดึงแอร์ไทม์และกระแสได้เยอะมาก
ที่สำคัญคือ วันนั้นมีดีเบตช่อง 3 และแกดูสบายใจมากขึ้น ได้พูดอะไรมากขึ้น พอลงมาจากเวทีคนมาต้อนรับเต็มไปหมดเลย ไปศาลาแดงก็มีคนยืนรอเพียบ ยืนปรบมือ กำลังใจมันล้นหลาม หรืออย่างจุดสุดท้ายที่เราไปถนนข้าวสาร ข้างหลังเต้นกันกระหน่ำเลย แต่แกสามารถพูดให้คนด้านหน้าฟังได้โดยไม่สนใจข้างหลังเลย มันอิมแพคมาก วันนั้นก็เลยเป็นทางตรงสุดท้ายที่ดีมากๆ เราได้ทุกอย่างทั้งแอร์ไทม์ และย้ำแมสเสจเลือกตั้ง และได้เพิ่มพลังให้อาจารย์และคนกรุงเทพฯ ด้วย
แล้วทำไมต้องเป็นลังไม้
ธนทัต มานะเจริญ: ผมจำไม่ได้ วันนั้นเหมือนมีเวทีอะไรสักอย่าง แล้วแกถามว่าผมยืนบนลังไม้เฉยๆ ได้ไหม แกโยนมาแบบนี้ แล้วก็มีคนรับลูกว่า “ดีครับอาจารย์!” มันดีทั้งแมสเสจ ดีทั้งการจัดการ ดีหมดเลย แล้วจะรออะไรล่ะ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: แกชอบบอกว่าให้ เอ๊ะ อย่า อืม ให้คิดเยอะหน่อย ก่อนที่จะมีปราศรัย แกก็ถามว่าผมต้องปราศรัยใหญ่จริงหรอ จำเป็นต้องทำไหม คือมันเป็นท่ามาตรฐานที่นักการเมืองทุกพรรคต้องทำใช่ไหม แล้วอย่างที่บอกว่าแกชออบเล่นท่ายากตั้งแต่เรื่อยป้ายหาเสียง, แห่รถ EV, หนังสือพิมพ์ หรือแม้วิธีการหาเสียงแสดงวิสัยทัศน์ทั้งหมด
ภัทรมน สุขประเสริฐ: อะไรที่มันดูเล็กจิ๋วๆ มันใช้เวลาเยอะไปกับการคิด เพื่อให้ผลลัพธ์มันออกมาคมๆ แล้วทำน้อยได้มาก
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ถ้าถามว่าทำไมเป็นลังไม้ ทีมจะตอบว่าเพราะถ้าตั้งเวทีปราศรัยมันยุ่งยาก มันต้องขออนุญาต (หัวเราะ) คือลังไม้มันใช้แค่มอเตอร์ไซค์ คนนึงถือลังไม้ อีกคนแบกลำโพง แกพูดจุดนึงเสร็จแล้วลงขึ้นรถไฟฟ้า ทีมงานก็จะแบกของขึ้นมอเตอร์ไซค์แล้วไปจุดอื่นต่อ แกก็ถ่ายรูปกับประชาชนบนรถไฟฟ้าไปก่อน พอถึงปุ๊ปก็ขึ้นลังไม้ขึ้นพูดเลย มันก็คล่องตัวและสนุกดี
เมื่อกี้แตะนิดนึงว่า พอขึ้นเวทีดีเบตแล้วคนเริ่มหันมาเทใจให้วิโรจน์ คิดว่าอะไรที่ทำให้คนหันกลับมาเทใจให้ชัชชาติเหมือนเดิม
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เขาเปลี่ยนใจจริงหรือเปล่ายังไม่รู้เลย
ธนทัต มานะเจริญ: ข้อมูลที่เรารู้คือจากคอมเมนต์ แต่เราก็ทำท่าของเราให้ดีที่สุด และเราเชื่อว่าแคมเปญสุดท้ายของเราอิมแพค ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนใจจริงๆ หรือเปล่า
ช่วงไหนของการหาเสียงที่รู้สึกว่าหนักที่สุด
ธนทัต มานะเจริญ: หนักทุกวัน (หัวเราะ) ของผมคือโค้งสุดท้าย เพราะเราไม่มีหมัดเด็ด อย่างผู้ว่าฯ สัญจรคือทีมเราคิดกัน 2 วันก่อน ทำจริง ตอนนั้นทุกคนมีหมัดเด็ดหมดเลย เราไม่มีไม่ได้ จะมาตกม้าตายตรงนี้ไม่ได้
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ช่วงไหนหนักที่สุดเราไม่รู้เลยนะ เพราะแกจะนิ่งๆ อยู่ในจังหวะของตัวเองตลอด ชวนคุยก็คุย แต่สำหรับเราเองน่าจะเป็นช่วงตั้งแต่ดีเบตช่อง 3 รอบแรก จนมาถึงช่วงสุดท้ายนี่แหละที่จะทำยังไงให้เรากลับมามั่นใจให้ได้ เราทำเต็มที่ จุดยืนเราก็มี
จิรัฏฐ์ ม้าไว: แต่ละทีมจะหนักคนละช่วง อย่างทีมลงพื้นที่จะหนักช่วงที่แกลงพื้นที่ติดต่อกันเป็นเดือน แทบจะลงแบบทุกวันกับแก แต่พอช่วงหลังที่แกต้องออกสื่อมากขึ้น ทีมดีเบตและคอนเทนท์จะไปหนักช่วงนั้น แต่ถ้าถามว่าหนักโดยรวมเนี่ย มันตั้งแต่ กกต. ประกาศแล้วว่าจะมีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ตอนนั้นแทบจะกดตลอดเลย
ภัทรมน สุขประเสริฐ: มันมีช่วงไหนที่แกโดนประเด็นอะไรแล้วทีมต้องแก้สถานการณ์ไหม (หันไปถามเพื่อน)
จิรัฏฐ์ ม้าไว: แกก็โดนมาตลอดอยู่แล้ว (หัวเราะ)
ธนทัต มานะเจริญ: แกแข็งแกร่งจริง
มองว่าแคมเปญไหนประสบความสำเร็จที่สุด
ธนทัต มานะเจริญ: ผมว่า Multiverse ที่เป็นชัชชาติกับสแตนดี้ไปตั้งตามเขตต่างๆ มันอาจจะไม่ใช่แคมเปญที่ประสบความสำเร็จที่สุด แต่ผมว่ามันอิมแพคดี ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่ Doctor Strange เข้าพอดี อาจารย์ก็โยนโจทย์มาว่าเอาแสตนดี้ที่มีไปทำอะไรหน่อยสิ เรามีนโยบายรายเขต เราอยากขายตรงนี้เพื่อย้ำว่าเรารู้จริงในพื้นที่คุณ มันก็เลยคุยกันว่าทำ Multiverse ไหม ตัวจริงลงพื้นที่ต่อไป ส่วนตัวปลอมก็ลงด้วย เลยกลายเป็นโพสต์ที่บอกว่าตัวจริงไปลงพื้นที่ไหน เขตนี้ปัญหาคืออะไร แล้วนโยบายที่เราอยากแก้คืออะไร
ด้วยความที่แกเป็นนักวิชาการ บางทีคนไม่เข้าใจว่าแกอยากสื่ออะไร แต่พอเป็น Multiverse มันเคลือบน้ำตาล คนมันเห็นแล้วก็บอกว่า ปัญหาเราเหมือนกันเลย นโยบายดีจังเลย มันเข้าถึงคนได้เร็วมาก เขาเห็นว่าเราใส่ใจจริง เรารู้ปัญหาดีมาก
ภัทรมน สุขประเสริฐ: อย่างเราเองนึกถึงป้ายที่เห็นอิมแพคทันที แล้วเราคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หลายคนน่าจะคิดเยอะขึ้นว่าจะหาเสียงยังไงให้เป็นมิตรกับประชาชน
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ถ้ามองในความแมส คิดว่าเรื่องป้ายเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วมันมีหลายอันที่ประทับใจคนหลากหลาย แต่เรื่องป้ายถือว่าคนทั่วไปและสื่อให้ความสนใจเยอะ อย่างตอนที่เปลี่ยนป้ายแล้วไปลงพื้นที่ แม่ค้าเขาก็ทักว่านี่ไง ชอบมากเลย ป้ายเล็ก ป้ายสวย เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นภาพจำให้แก้ได้
ธนทัต มานะเจริญ: ถ้าไม่ทักว่าป้ายเล็ก ป้ายสวย ก็จะทักว่าทำไมไม่มาติดแถวนี้เลย (หัวเราะ)
เป็นคำถามที่ชัชชาติโดนถามหลังปิดหีบเลือกตั้ง ในมุมมองของทีมถ้ามีใครอยากมาขอคำแนะนำในการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะมีคำแนะนำให้เขาว่าอะไร
จิรัฏฐ์ ม้าไว: อย่าลงเลยครับ เหนื่อย (หัวเราะ)
ภัทรมน สุขประเสริฐ: จ้างผมได้นะครับ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ส่วนตัวมองว่าคนชอบบอกว่าปัญหากรุงเทพฯ แก้ยาก และมีความละเอียดอ่อน แล้วผู้ว่าฯ กทม. หลายคนก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ได้แก้ง่ายๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ทำงานจริงอาจไม่รู้ว่าข้างในเกิดอะไรบ้าง แต่ กรุงเทพฯ มันเป็นพื้นที่สำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม มันก็ยากเหมือนกัน (ตวงหัวเราะ) เรียกว่าคนที่เข้ามาต้องแข็งแกร่งกว่าชัชชาติหรอ อันนี้ยากไปปะ
ธนทัต มานะเจริญ: ถ้าแนะนำผมจะบอกว่า
คุณต้องอย่าคิดว่ามาเล่นการเมือง คุณต้องมาทำงานให้ประชาชน ถ้าคุณเปลี่ยนกรอบความคิด ไอเดียท้ังหมดจะหลุดจากกรอบการเมืองไปเลย
ถ้าสมมติพวกเราคิดภายใต้กรอบการเมือง หนังสือพิมพ์ก็ทำไม่ได้แน่นอน, EV ก็อาจจะยาก, ลังไม้ก็อาจจะยาก ผมเลยแนะนำว่าคุณต้องอย่าคิดในเชิงการเมืองมากขนาดนั้น คุณมาทำงานนะเว้ย แล้วคุณจะหลุดกรอบแล้วสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อเมืองได้มากกว่านั้น ศักยภาพมันจะอออกมา
ภัทรมน สุขประเสริฐ: แต่ไม่ใช่ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่งานการเมืองนะ
จิรัฏฐ์ ม้าไว: อาจารย์จะชอบพูดว่าผมมาทำ ‘งานเมือง’ ไม่ได้มาเล่น ‘การเมือง’
ภัทรมน สุขประเสริฐ: แต่แกก็เป็นนักการเมืองนะ แต่ไม่ได้เล่นในแง่ที่ว่าผลประโยชน์อยู่ตรงไหน เราว่าอีกอันที่อาจารย์เป็นและเราเห็นคือ ความตรงไปตรงมา สิ่งที่พูดคือสิ่งที่ทำได้ และมั่นใจว่าในหลักการมันควรทำได้ แต่ถ้ามันติดขัดอะไรก็ควรสื่อสาร เราคิดว่าเรื่องสื่อสารมันสำคัญ เราจะได้จูนกันถูกตลอดเวลา แล้วรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
ธนทัต มานะเจริญ: ผมว่าวัฒนธรรมก็สำคัญ ถ้าเราไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง อาจารย์ก็จะเดินไปคนเดียวไม่มีใครข้างหลัง อย่างเรื่องจักรยานมาตอน 3-4 ทุ่ม ทีมแบบก็ได้ๆ ผมว่าเรื่องนี้ก็สำคัญ ต้องเปิดใจประมาณนึง กลยุทธ์ที่ดีคือมีแผนและด้นสนสลับกัน ไม่ใช่มีแผนแล้วไปเป็นเส้นตรงตลอด
มีแนวคิดการทำงานที่ยึดร่วมกันไหม
ธนทัต มานะเจริญ: ทำงาน ทำงาน ทำงาน (ตวงหัวเราะ)
ภัทรมน สุขประเสริฐ: มันไม่น่ามีสิ่งที่ปลูกฝังขนาดนั้น แต่แกก็ชอบถามว่า เห้ย! มึงสนุกอยู่เปล่าเนี่ย คือแกอยากให้ทำงานสนุก ซึ่งสนุกไหม มันก็เครียดนะแต่ก็สนุก (หัวเราะ) เราก็พยายามคิดใหม่ พยายามยืดหยุ่น ถ้าถออดมาได้มันเป็นเซนส์ประมาณนั้น
ส่วนใหญ่อาจารย์จะเป็นคนพูดกับประชาชน แล้วทีมแคมเปญล่ะมีอะไรที่อยากบอกคนกรุงเทพฯ ไหม
ธนทัต มานะเจริญ: ถ้าผมคงกลับมาเรื่องเดิม สิ่งที่อยากบอกคือเราไม่ได้มาส่งซุปเปอร์ฮีโร่ขึ้นไปบินเพื่อให้แก้ทุกอย่างได้ ทุกคนต้องช่วยกันด้วย อาจารย์ก็ย้ำเสมอว่าแกทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน ดังนั้น ทุกคนจะวางมือไม่ได้เหมือนกัน ไม่งั้นมันจะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง
ภัทรมน สุขประเสริฐ: เหมือนกัน แต่เสริมว่าใน 214 แผนปฏิบัติการในนโยบาย หลายอันมันมีช่องทางให้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทั้งเปิดพื้นที่ในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เราก็อยากให้เข้ามาช่วยกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
จิรัฏฐ์ ม้าไว: ผมมี 2 ประเด็น คือคนชอบบอกว่าแกเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ธานอสดีดนิ้วแล้วแก้ปัญหาในพริบตา ใจนึงเราก็สนุกที่คนมีภาพจำแบบนั้น แต่อีกใจก็เป็นห่วงเพราะความคาดหวังที่มันสูงจะทำให้แกกดดันเหมือนกัน แต่แกคนเดียวก็คงไม่สามารถจัดการเหล่าร้ายได้หมดเหมือนในหนัง สุดท้ายแล้ว ประชาชนทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยและทำไปด้วยกัน หวังให้แกทำอย่างเดียวไม่ได้
ภัทรมน สุขประเสริฐ: ไม่ค่อยอยากให้มีภาพซุปเปอร์ฮีโร่ เพราะมันไม่มีอยู่จริงอยู่แล้ว