กลายเป็นอีกประเด็นร้อน เมื่อที่ประชุมสภา กทม.มีมติให้ตัดงบประมาณส่วนของโครงการ ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ ที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ติดเครื่องปรับอากาศในห้องเรียนชั้นอนุบาลเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา
แล้วเกิดอะไรขึ้นในการอภิปรายที่ผ่านมา วันนี้ (8 กันยายน) The MATTER ได้สรุปมาไว้ให้แล้ว
1. ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 2 พร้อมด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร [ฝ่ายบริหาร] และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รายงานผลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,570,138,630 บาท
2. หนึ่งในโครงการที่ต้องพิจารณางบประมาณ คือ โครงการการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต วงเงิน 219,339,000 บาท รวมทั้งหมด 429 โรงเรียน 1743 ห้อง
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์และความจำเป็นคือ อ้างอิงข้อมูลงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หากได้รับฝุ่น PM 2.5 จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันปอดและสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ โดยปกติปอดจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 6 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ เด็กมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้โอกาสหายใจรับ PM 2.5 มีมากกว่า และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กมักออกไปเล่นกลางแจ้ง
นั้นจึงเป็นที่มาของโครงการที่จะจัดทำห้องปลอดฝุ่น (Clean Air Shelter) สำหรับเด็กอนุบาล อายุ 3-6 ปี ตามมาตรการแนวทางการทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับบ้านเรือนและอาคารสาธารณะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยวิธีการจะเป็นการติดเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง และพัดลมระบายอากาศ ในแต่ละห้องเรียนขนาด 49-64 ตารางเมตร
สำหรับการอนุมัติงบประมาณในส่วนนี้ ทางคณะกรรมการวิสามัญฯ ก็ได้สงวนความเห็นไว้เพื่อให้ทางสภาฯ วินิจฉัย
3. เริ่มจาก สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง ได้เริ่มอภิปราย โดยมองว่าการติดเครื่องปรับอากาศไม่ตอบโจทย์กับโครงการนี้
สุรจิตต์มองว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ที่เรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ตอนที่พวกเขาอยู่บ้านก็ไม่ได้อยู่ห้องเครื่องปรับอากาศ ถ้ามาเจอเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่องในห้อง จะทำให้หนาวไหม รวมไปถึง ในห้องเรียนขนาด 21-32 ตารางเมตร ถ้าติดเครื่องปรับอากาศ 30,000 BTU 2 เครื่อง ติดพัดลมระบายอากาศ ติดตั้งประตู ก็เป็นคำถามตามมาว่าสมเหตุสมผลหรือเปล่า?
สุรจิตต์ยังยกตัวอย่างห้องเรียนปลอดฝุ่นตัวอย่างที่แห่งแรกในประเทศไทย ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลป่าตันนาครัว’ จังหวัดลำปาง ที่ประสบกับปัญหา PM 2.5 ก็ติดเครื่องฟอกอากาศ บอร์ดแสดงค่าฝุ่นให้นักเรียนมาร่วมกับกิจกรรม มีแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนค่าฝุ่น และยังมีกิจกรรมให้เด็กปลูกต้นไม้ดักฝุ่นอย่างต้นลิ้นมังกร ต้นกวักมรกต ในโรงเรียน
4. สุรจิตต์ยังพิจารณาเรื่องงบประมาณอีกว่า หากติดเครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง คิดเป็นเงิน 100,000 บาท 1,743 ห้อง คิดเป็นเงิน 174,300,000 แต่ถ้าติดเครื่องฟอกอากาศ เหมือนที่ลำปาง 2 เครื่อง เครื่องละ 5,700 บาท 1,743 ห้อง คิดเป็นเงิน 9,935,100 บาท ซึ่งจะสามารถประหยัดไปได้ 164,364,900 บาท
สุรจิตต์ยังเสริมอีกว่า ในชั้นเรียนบางโรงเรียนก็มีนักเรียนแค่ 1-2 คน “สิ่งที่ท่าน [ฝ่ายบริหาร] ทำโครงการมา มันตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาไหม…ผมไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการโรงเรียนปลอดฝุ่น แต่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการ มันคุ้มค่ากับงบประมาณหรือเปล่า”
5. จากนั้น กนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง ยังระบุถึงการคำนวนห้องเรียนที่บางห้องก็ไม่ได้ใหญ่ และบางห้องก็มีขนาดเพียง 20 ตารางเมตร แต่กลับติดเครื่องปรับอากาศถึง 2 เครื่อง เครื่องละ 30,000 BTU ในทุกๆ ห้องเรียนตามโครงการ
ทั้งยังอ้างอิงถึงนโยบาย ‘เส้นเลือดฝอย’ ของชัชชาติ ที่กนกนุชตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วนโยบายห้องเรียนปลอดฝุ่นที่จะติดเครื่องปรับอากาศนี้ ทางฝ่ายบริหารไม่ได้ให้โรงเรียนในแต่ละพื้นที่จัดทำพิจารณาเองหรือ เพราะโรงเรียนแต่ละโรงเรียนก็มีบริบทที่แตกต่างกัน ฝุ่นก็มากน้อยไม่เหมือนกัน ดังนั้น สมควรหรือไม่ที่จะไม่ให้แต่ละโรงเรียนดำเนินการด้วยตัวเอง
กนกนุชยังระบุอีกว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่เขียนจากข้างบนลงข้างล่าง ซึ่งก็เป็นอีกคำถามตามมาว่าได้ถามความต้องการของคนในพื้นที่หรือยัง
6. ต่อมา รัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม ก็ได้อภิปรายถึงโครงการนี้ต่อ โดยระบุว่า เมื่อติดตั้งเครื่องปรับอากาศแล้ว ค่าไฟ ค่าล้างเครื่องปรับอากาศ เงินเหล่านี้ก็ต้องเบิกจาก กทม.
รัตติกาลยังเสนออีกว่า เงินงบประมาณส่วนนั้น ควรจะนำไปลงกับสิ่งที่จำเป็นอย่างกล้องวงจรปิดที่ต้องติดในห้องเรียนขนาดใหญ่ หรือห้องน้ำที่ยังคงไม่เพียงพอ ทั้งยังไม่ถูกสุขลักษณะ หรือไม่ก็ควรจะนำงบประมาณมาปรับปรุงห้องเรียนที่ทรุดโทรมดีกว่า เพราะตอนนี้หลายๆ โรงเรียนก็มีปัญหา ฝ้าเพดานจะพัง สายไฟเก่า ห้องน้ำไม่เพียงพอ อย่างกรณีที่เธอไปเจอมาก็คือสายไฟระลงมา จนอาจช็อตเด็กได้ แล้วโรงเรียนก็ไม่มีงบมาปรับปรุงทันที แล้วกว่าจะได้เงินผ่านมาตามลำดับขั้นตอน
7. รัตติกาลยังตั้งคำถามกลับมาถึงประสิทธิภาพของการติดเครื่องปรับอากาศอีกว่า ถ้าต้องติดเครื่องปรับอากาศ แล้วห้องนั้นเป็นกระจกปิด ก็จะทำให้ฝุ่นไม่สามารถออกไปได้ ทั้งยังเกิดคำถามตามมาอีกว่าแล้วใครจะเป็นผู้ทำความสะอาด หรือมาเช็ดทุกวัน
“แล้วนี่ติดแต่เครื่องปรับอากาศ ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ แล้วถ้าจะบอกว่าเครื่องปรับอากาศก็มีเครื่องฟอกอากาศอยู่ มันเพียงพอไหม ขนาดผู้ใหญ่อย่างเราติดเครื่องปรับอากาศแล้วก็ยังต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศมาอยู่ด้วยเลย แล้วมันสมเหตุสมผลไหม?” รัตติกาลกล่าว
8. อีกประเด็นหนึ่งที่รัตติกาลชี้ให้เห็นคือ เด็กนักเรียนไม่ได้อยู่แค่ในห้อง เวลาเปิดหรือปิดห้อง ฝุ่นก็ตามเข้ามา แล้วอย่างนี้ฝุ่นจะหายไปไหน
รัตติกาลกล่าวอีกว่า “แล้วที่สำคัญเด็กของเรา อย่างลืมนะคะ ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่ได้รวย เวลากลับไปอยู่บ้านไม่ได้นอนห้องเครื่องปรับอากาศ…เงินงบประมาณต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วเราจะเอาโรงเรียน กทม.ไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนของเอกชนไม่ได้”
“ที่บอกว่าต้องติดเครื่องปรับอากาศทุกห้อง เพราะอะไร อันนั้นพ่อแม่เขาพร้อม มีความพร้อม มีเงิน เชื่อค่ะ ว่าลูกของท่าน สก.หลายท่าน หลายคนที่อยู่ในห้องนี้ ท่านผู้บริหาร เอาลูกไปโรงเรียนอยู่ที่โรงเรียนเอกชน ใช่ค่ะ ลูกท่านอยู่ในห้องเครื่องปรับอากาศได้ เพราะอะไร ท่านจ่ายค่าเทอมเท่าไหร่คะ แต่อย่าลืมนะคะ กทม.ของเราเรียนฟรี เรียนดีอย่างมีคุณภาพ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายค่าไฟตรงนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” รัตติกาลกล่าว
9. รัตติกาลยังกล่าวถึงอีกประเด็นหนึ่งคือ โครงการนี้ก็อาจเป็นภาระให้กับโรงเรียนเรื่อยๆ จนกว่าเครื่องเครื่องปรับอากาศนั้นจะพัง หรือจนกว่าจะหมดสภาพไป แล้วบางที่ก็ไม่ได้ล้างเครื่องปรับอากาศเลย เด็กก็ต้องอยู่กับฝุ่นไป “แทนที่จะแก้ปัญหาฝุ่น กลับกลายเป็นว่า เราต้องให้เด็กรับฝุ่น PM 2.5 เพิ่ม”
10. รัตติกาลยังระบุอีกว่า หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของผู้ว่า กทม.คือการลดภาวะโลกร้อน แต่เมื่อติดเครื่องปรับอากาศ แล้วคอมเพสเซอร์เครื่องปรับอากาศที่ปล่อยความร้อนออกมา เด็กนักเรียนชั้นโตกว่าที่ไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ หรือชุมชนที่อยู่ติดกับโรงเรียน ใกล้กับคอมเพสเซอร์เครื่องปรับอากาศจะทำอย่างไร
11. นอกจากการนำเงินงบประมาณไปปรับปรุงห้องเรียนแทนการติดเครื่องปรับอากาศแล้ว อีกหนึ่งความเห็นของรัตติกาลก็มองว่า ตอนนี้ กทม.กำลังประสบกับปัญหาเจ้าหน้าที่หลับภูมิลำเนาเพราะค่าใช้จ่าย-ค่าครองชีพสูง สวนทางกับเงินเดือนที่ได้รับ จึงเห็นว่าควรนะเงินเอาไปปรับปรุงบ้านพักครู หรือห้องพักเจ้าหน้าที่ แทนที่จะเอาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
12. หลังจากนั้น วิรัช คงคาเขตร สก. เขตบางกอกใหญ่ก็ได้อภิปรายต่อ โดยเสนอว่าควรทำห้องแล็บขึ้นมาสักห้องหนึ่ง เป็นห้องตัวอย่าง ว่าในห้องนั้นสักห้องหนึ่งมีต้นไม้ 7 8 9 ชนิดตามที่กล่าวมานั้น เพิ่มก๊าซออกซิเจนเป็นเท่าไหร่ สามารถกรองฝุ่นได้เท่าไหร่ ซึ่งคิดว่ามันน่าจะมีกระบวนการตรงนั้นก่อนที่จะมาเป็นกระบวนการคิดห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล ในงบประมาณ 200 กว่าล้าน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในขบวนการที่จะเกิดขึ้นตามที่ผมกล่าว มันคือการปลูกฝังเด็กกรุงเทพฯ ที่รู้จักแต่ลูกมะม่วง ลูกขนุนที่ตนเองกิน พอเดินไปให้เขาชี้ว่าอันไหน คือ ต้นขนุน อันไหนคือต้นมะม่วง เด็กจะไม่รู้จักนะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันไม่มีอยู่ในการศึกษาที่จะปลูกฝังให้เด็กของเรามีความรัก และผูกพันกับต้นไม้ ผมว่ากระบวนการต่างๆ เหล่านี้มันน่าจะเกิดขึ้นก่อนมีโครงการนี้” วิรัชชี้
วิรัชยังกังวลในเรื่องของตัวเลขค่าไฟของแต่ละโรงเรียนที่ต้องเพิ่มขึ้นเพราะการใช้เครื่องปรับอากาศอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ดี วิรัชก็มองว่า “คงต้องติดเครื่องปรับอากาศก่อน เพราะมันเป็นห้องเรียนปลอดฝุ่น เด็กอนุบาล เด็กที่มาจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ไม่ได้ว่าอะไรนะ เพียงแต่ว่าเราคิดมาจากข้างล่างดีไหม จะมีข้อมูลพื้นฐานที่ดีกว่านี้ และอาจจะมีการใช้งบประมาณที่น้อยกว่านี้ หรือเยอะกว่านี้ ผมเชื่อมั่นว่าในสภาแห่งนี้ยินยอม”
13. หลังจากนั้น ชัชชาติ ก็กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า 1-6 ขวบ ก็อยู่ในกลุ่มเปราะบางที่ต้องจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นเช่นกัน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาก็คือจะใส่หน้ากากอนามัยยาก และในหลายครั้งเด็กกลุ่มนี้ก็ถูกละเลย
หลายครั้งที่ไปที่โรงเรียน ก็เห็นเด็กที่อยู่ในห้องร้อนๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เวลาฝุ่นมาก็ต้องนั่งใส่หน้ากาก “ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ ทำไมห้องผู้ว่าฯ ถึงมีเครื่องปรับอากาศได้ แล้วทำไมห้องเด็กซึ่งเป็นอนาคตสำคัญของประเทศ ของเมือง ทำไมไม่มีเงินติดเครื่องปรับอากาศให้ ทั้งๆ ที่เราเองเป็นผู้ว่า ถ้ามีฝุ่นปุ๊บก็เข้ามาในห้องมีเครื่องปรับอากาศก็ปลอดภัยขึ้น” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติยังระบุต่อว่า หากคิดในเรื่องของงบประมาณ เขามองว่าการลงทุนกับเด็กเป็นเรื่องที่มีประโยชน์แล้วก็คุ้มค่า เพราะจะช่วนเพิ่มทั้งเรื่องสมาธิ ฯลฯ ส่วนเรื่องค่าไฟก็เป็นประด็นที่เขาคิดอยู่เช่นกัน โดยในอนาคตก็มองว่าต้องติดโซลาร์เซลล์ต่างหากในโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวนโยบายที่ต้องดูต่อไป
ชัชชาติกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “เชื่อว่าไม่ว่าเด็กรวยหรือจน ก็ควรจะต้องได้เรียนในห้องเรียนที่มีสภาพเหมาะสม”
14. จากนั้นศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็ขอแก้ไขข้อมูลจากการอภิปรายของ สก.ว่า เรื่องขนาดห้องเรียนเด็กอนุบาล คือ 49-64 ตารางเมตร เลยทำให้ต้องมีเครื่องปรับอากาศ 30000 BTU 2 เครื่อง แต่กนกนุชก็แย้งว่า ในเอกสารไม่ได้ระบุเลยว่าแต่ละห้องเรียนมีขนาดเท่าไหร่
รวมไปถึง วิรัชยังเสนออีกว่า ควรจะคิดระบบโซลาร์เซลล์ขึ้นมาทีเดียว
15. อย่างไรก็ตาม หลังจากที่อภิปรายกันเสร็จสิ้น สก.ที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 49 คน จากสมาชิกทั้งหมด 50 คน โดยมี 48 คนที่ลงมติ ‘เห็นชอบ’ คือเห็นชอบให้ตัดงบส่วนนี้ และงดออกเสียง 1 คน ส่งผลให้งบประมาณในส่วนของการติดเครื่องปรับอากาศในชั้นเรียนอนุบาลถูกตีตก
โดย สก. 50 คน จากพรรคการเมืองและกลุ่ม ซึ่งผ่านการเลือกตั้ง เมื่อปี 2565 มีดังนี้
พรรคเพื่อไทย 20 คน
พรรคก้าวไกล 14 คน
พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน
กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 คน
พรรคพลังประชารัฐ 2 คน
พรรคไทยสร้างไทย 2 คน
16. จากการอภิปรายในครั้งนี้ บางส่วนก็เห็นด้วยกับสิ่งที่ สก.อภิปรายในประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อน กระบวนการดำเนินนโยบาย และค่าใช้จ่ายที่จะตามมาหลังจากการติดเครื่องปรับอากาศ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับมติของ สก. คือมองว่าเด็กนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ก็ควรมีสิทธิที่จะได้เรียนในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศเหมือนกับเด็กในโรงเรียนเอกชนอื่นๆ แล้วมองว่าการติดเครื่องปรับอากาศนอกจากจะช่วยให้ไม่ต้องอยู่กับฝุ่นแล้ว แล้วก็ช่วยเรื่องอากาศร้อนอีกด้วย
รวมไปถึง ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์เหตุผลที่ สก.ยกขึ้นมาอย่างการปลูกต้นไม้ลดฝุ่น การอ้างเหตุผลเรื่องเด็กในสังกัด กทม.มีฐานะยากจน หรือการยกไปเทียบกับเอกชน โดยระบุว่าโรงเรียนใน กทม.เรียนฟรี ว่าเป็นเหตุผลที่ไม่ควรจะถูกยกขึ้นมา
17. ในขณะเดียวกัน อธึกกิต แสวงสุข หรือ ‘ใบตองแห้ง’ คอลัมนิสต์ทางการเมืองชื่อดัง ก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงผลลงคะแนนอีกว่า “แต่ในมุมการเมืองสะท้อนว่าชัชชาติโดดเดี่ยว สก.ที่อภิปราย 4 คน เป็นเพื่อไทย 2 คน ไทยสร้างไทย 1 ประชาธิปัตย์ 1 แล้วรองประธานสภาก้าวไกล ก็บอกว่าอยากลงไปอภิปรายด้วย ในแง่ประเด็น สก.อาจมีเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยจริงๆ ก็ได้แต่ในมุมการเมืองคือชัชชาติไม่มี สก.เลย”
อ้างอิงจาก