‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ แค่เห็นสโลแกนนี้ หลายคนก็นึกถึงภาพของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นมาทันที แล้วตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ รู้สึกอย่างไรกับการทำงานของชัชชาติกัน?
วันนี้ (4 มิถุนายน) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ เปิดเผยผลสำรวจที่สำรวจไปเมื่อช่วง 24-30 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ จำนวน 2,000 ตัวอย่าง พบว่า
– 47.45% ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะชัชชาติเป็นคนขยัน ตั้งใจทำงาน ปัญหาในพื้นที่ก็ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว และ กทม. มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
– 27.75% ระบุว่า พอใจมาก เพราะผู้ว่าฯ ลงพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ปัญหาที่ร้องเรียนก็ได้รับการแก้ไข ขณะที่บางส่วนระบุว่า พอใจมากเพราะชัชชาติได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน
– 14.80% ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะชัชชาติทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้น้อย และปัญหาใน กทม.ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น ปัญหาการจราจร
– 10.00% ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะผู้ว่าฯ มีผลงานไม่ชัดเจน และยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม
อีกทั้ง ยังได้มีการสอบถามเพิ่มเติมถึงความพึงพอใจโดยแยกเป็นประเด็นย่อยๆ เช่น
– การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม: 36.15% ระบุว่า ค่อนข้างดี, 19.25% ระบุว่า ดีมาก, 16.10% ระบุว่า ไม่มีข้อมูล, 15.70% ระบุว่า ไม่ค่อยดี และ 12.80% ระบุว่า ไม่ดีเลย
– การแก้ไขปัญหาจราจรและรถติด: 39.75% ระบุว่า ค่อนข้างดี, 26.85% ระบุว่า ไม่ค่อยดี, 18.45% ระบุว่า ไม่ดีเลย, 10.30% ระบุว่า ดีมาก และ 4.65% ระบุว่า ไม่มีข้อมูล
– การปรับปรุงการให้บริการในหน่วยงานของ กทม. : 41.85% ระบุว่า ค่อนข้างดี, 21% ระบุว่า ดีมาก, 18% ระบุว่า ไม่ค่อยดี, 10.20% ระบุว่า ไม่ดีเลย และ 8.95% ระบุว่า ไม่มีข้อมูล
– การปรับปรุงและจัดระเบียบทางเท้า เช่น หาบเร่แผงลอย การจอดยานพาหนะหรือตั้งร้านบนทางเท้า: 44.05% ระบุว่า ค่อนข้างดี, 20.75% ระบุว่า ดีมาก, 18.40% ระบุว่า ไม่ค่อยดี, 14.30% ระบุว่า ไม่ดีเลย และ 2.50% ระบุว่า ไม่มีข้อมูล
– การเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ: 42.20% ระบุว่า ค่อนข้างดี, 27.55% ระบุว่า ดีมาก, 14.75% ระบุว่า ไม่ค่อยดี, 10.95% ระบุว่า ไม่ดีเลย และ 4.55% ระบุว่า ไม่มีข้อมูล
– การแก้ไขปัญหาความสะอาด ขยะ ฝุ่นละออง น้ำเสีย: 44.35% ระบุว่า ค่อนข้างดี, 23.45% ระบุว่า ดีมาก, 18.45% ระบุว่า ไม่ค่อยดี, 12.35% ระบุว่า ไม่ดีเลย และ 1.40% ระบุว่า ไม่มีข้อมูล
– การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า เรือ: 37.15% ระบุว่า ค่อนข้างดี, 19.95% ระบุว่า ไม่ค่อยดี, 15.90% ระบุว่า ดีมาก, 15.80% ระบุว่า ไม่มีข้อมูล และ 11.20% ระบุว่า ไม่ดีเลย
นอกจากนี้ เมื่อสำรวจการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนร้องเรียนผ่าน traffy fondue ในวันนี้ เวลา 11.45 น. ก็ยังพบว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้าไปทั้งหมด 295,836 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 6,792 เรื่อง
และในจำนวนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กทม. ก็มีปัญหาที่แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 214,023 (ราวๆ 72%), กำลังดำเนินการอยู่ 9,113 เรื่อง (ราวๆ 3%), รอส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 64,377 เรื่อง (ราวๆ 22%) และรอรับเรื่อง 1,531 เรื่อง (ราวๆ 1%)
สำหรับนโยบายเส้นเลือดฝอย 216 นโยบายที่ชัชชาติเคยหาเสียงเอาไว้ตอนลงสมัครสมัครผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติก็ระบุถึงความคืบหน้าของนโยบายดังกล่าวไว้เมื่อ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เริ่มทำไปแล้วประมาณ 190 เรื่อง และอีกประมาณ 20 เรื่อง ก็กำลังทบทวนว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยและยังจำเป็นอยู่หรือไม่
ชัชชาติยังระบุต่อว่า หลายโครงการที่ กทม.ดำเนินการไปแล้วหลายคนอาจจะเห็นได้ไม่ชัด แต่สิ่งเหล่านั้นก็แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ/คูคลอง การปรับระบบการศึกษา การเปลี่ยนหลอดไฟที่ดับ เปลี่ยนไฟเป็นหลอด LED
รวมไปถึง ชัชชาติยังกล่าวเพิ่มเติมว่าจะยังคงเดินหน้าทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ และหลายๆ โครงการที่ได้งบประมาณมา ทั้งการปรับปรุงทางเท้า การนำสายสื่อสารลงดิน ต่อจากนี้ก็จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น.
อีกทั้ง ชัชชาติยังระบุอีกว่า ในขณะนี้ก็มีนโยบายหลายเรื่องที่เตรียมจะเรียนรัฐบาลใหม่ เช่น เรื่อง PM 2.5 ที่ต้องลงมืออย่างใกล้ชิด รวมทั้งแนวคิดเรื่องท่าเรือคลองเตยในอนาคต หรือแม้กระทั่งการนำพื้นที่สาธารณะ เช่น ใต้ทางด่วน/ทางรถไฟ มาทำเป็นลานกีฬา-สถานที่ปลูกต้นไม้ หรือการนำพื้นที่ราชการต่างๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ มาทำสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการขนส่งมวลชน ตลอดจนเรื่องค่าครองชีพด้วยเช่นกัน
อ่านผลสำรวจของนิด้าโพลได้ที่: https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=635
อ้างอิงจาก