อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็พยายามสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวแต่งงานและสร้างครอบครัว จนล่าสุดคือการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นหาคู่ที่พัฒนาโดยรัฐบาลเอง
ข้อมูลที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ของญี่ปุ่น ระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 123.9 ล้านคน แต่มีทารกแรกเกิดเพียง 727,277 คนในปีที่แล้ว ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ (จำนวนการให้กำเนิดทั้งหมดในช่วงชีวิตของพวกเธอ) ของหญิงชาวญี่ปุ่นลดลงจาก 1.26 สู่ 1.20 ซึ่งถ้าจะให้จำนวนประชากรมีเสถียรภาพ ต้องมีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 2.1
สำหรับญี่ปุ่นแล้วอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์นี้มาตลอดครึ่งศตวรรษ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า อัตราเจริญพันธุ์ลดลงต่ำ หลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันทั่วโลกในปี 1973 ซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และไม่เคยฟื้นตัวอีกเลย
แนวโน้มการเจริญพันธุ์ที่ลดลงนี้ เร่งตัวขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้เสียชีวิตแซงหน้าการเกิดในแต่ละปี และทำให้จำนวนประชากรทั้งหมดลดลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อแรงงาน เศรษฐกิจ ระบบสวัสดิการ และโครงสร้างทางสังคมของญี่ปุ่น
ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระบุว่า ในปี 2023 ประเทศนี้มีผู้เสียชีวิต 1.57 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึงสองเท่า ประกอบกับการแต่งงานของญี่ปุ่นก็ลดลงขณะที่การหย่าเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยริเริ่มโครงการต่างๆ เช่น การขยายสถานดูแลเด็ก การให้เงินอุดหนุนผู้ปกครอง และบางเมืองยอมจ่ายเงินให้คู่รักมีลูก ขณะที่ในเมืองหลวงอย่างโตเกียวได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นหาคู่ที่พัฒนาโดยรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในการทดสอบและจะเปิดใช้เต็มรูปแบบช่วงปลายปีนี้
เว็บไซต์ของแอปพลิเคชั่นดังกล่าวระบุเอาไว้ว่า ‘โปรดใช้ (แอปฯ) เป็นก้าวแรกเพื่อเริ่มต้นการหาคู่’ และบอกด้วยว่าระบบจับคู่นี้เป็น AI ที่รัฐทำขึ้นมาเอง ที่จะช่วยหาคนที่คาดว่าจะ ‘เข้ากันได้’ มาให้ โดยผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้จะต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป อยู่ในสถานะโสดและ ‘ต้องการที่จะแต่งงาน’
นอกจากนี้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว กระตุ้นความสนใจของมหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่ออกมาทวีตข้อความว่า ‘ผมดีใจที่รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าหากไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ญี่ปุ่น (และประเทศอื่นๆ) จะหายไป’
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบอกกับ CNN ว่า สถานการณ์ที่มัสก์พูดถึงไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์จะคงที่และประเทศจะปรับตัว ญี่ปุ่นอาจแตกต่างออกไปตั้งแต่องค์ประกอบทางประชากรศาสตร์ไปจนถึงเศรษฐกิจและนโยบายภายในประเทศ แต่ประเทศจะไม่หายไปง่ายๆ
ขณะที่ประชากรไทยเองก็ครองตัวเป็นโสดกันมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2024 ระบุว่า สถานการณ์คนโสดในปี 2023 กว่า 1 ใน 5 หรือราวๆ 23.9% ของคนไทยเป็นคนโสด ซึ่งคนโสดในช่วงวัย 15-49 ปี มีสัดส่วนอยู่ที่ 40.5% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว
แม้ว่าปัญหาการเป็นโสดกับอัตราการเกิดต่ำของไทยจะยังไม่สะท้อนออกมามากเท่าญี่ปุ่น แต่ไม่แน่ว่าประเทศไทยอาจได้ใช้งานโมเดลนี้ของญี่ปุ่นในอนาคตก็ได้
อ้างอิงจาก