“ขอนแก่นจะมีรถไฟฟ้า” คือความฝันที่ใกล้จะเป็นจริง หลังจาก ‘ขอนแก่น’ เริ่มมีแผนพัฒนาเมืองมาแล้วกว่า 10 ปี แต่แล้ววันนี้ความหวังนั้นต้องหยุดชะงัก เมื่อจู่ๆ ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้รถที่ประกอบเสร็จเรียบร้อยจนเสียหายเกือบทั้งหมดในวันส่งมอบ
เมื่อเวลา 00.30 น. ของวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้รถไฟฟ้ารางเบา LRT ที่บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) บ้านโนนตุ่น ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยทางบริษัทยืนยันว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จในทุกวันจะมีการตัดไฟ และมีผู้เชี่ยวชาญคอยตรวจสอบเสมอ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ออกมาแถลงชี้แจงว่า จากการตรวจสอบของทีมวิศวกร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่าน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรของระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ แต่ต้องรอยืนยันผลตรวจอีกครั้งหนึ่ง
ถึงอย่างนั้นยังคงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียถึงความผิดปกติของสาเหตุของเพลิงไหม้ว่ามีเบื้องหลังใดหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาเกิดเหตุในวันที่จะมีการนัดส่งมอบกับ มทร. อีสานเพื่อนำไปเริ่มทดลองใช้พอดี
แต่อาจจะยังมีคนส่วนหนึ่งที่อาจยังไม่รู้ว่าโครงการนี้คืออะไร และการเกิดเหตุครั้งนี้อาจเป็นความสูญเสียอะไรไปบ้างของชาวขอนแก่น ดังนั้น The MATTER จึงจะขอชวนไปทำความรู้จัก ‘แทรมน้อยลูกอีสาน’ หนึ่งในโครงการพัฒนาเมืองขอนแก่นด้วยกัน
‘นครขอนแก่น ยั่งยืน ด้วยตัวเอง’ คือหนึ่งในวิสัยทัศน์ของ ‘บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด’ (KKTT) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจในขอนแก่นเพื่อมาพัฒนาเมืองด้วยกัน หนึ่งในโครงการที่ลงทุน คือระบบขนส่งมวลชนอย่าง ‘รถไฟฟ้ารางเบา’
รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ได้ชื่อเล่นว่า ‘แทรมน้อยลูกอีสาน’ เป็นโครงการงานวิจัยของ มทร.อีสาน ที่ได้รับการสนับสนุนและการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว ). หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)
โครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายเหนือใต้ (สำราญ-ท่าพระ) นี้ จะครอบคลุมระยะทางรวม 26 กิโลเมตร ด้วยจำนวนสถานี 21 สถานี รวมถึงสถานที่สำคัญอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินท์ แยกประตูเมือง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศรวม 15 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ ซึ่ง 1 ขบวน สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 180 คน
ไม่เพียงแค่สร้างรถไฟฟ้าเท่านั้น ในโครงการยังมีแผนการพัฒนาพื้นที่ในแนวสายรถไฟฟ้าอีกด้วย โดยจะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะและบึงขนาดใหญ่ เพื่อให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และเป็นแลนด์มาร์กที่ทำให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน หรือจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้
เป้าหมายโครงการลงทุนของ KKTT ครั้งนี้ จึงเป็นการตั้งความหวังว่าจะเป็นโครงการที่ผลประโยชน์กำไรตกอยู่ที่คนขอนแก่นอย่างแท้จริง และยังเปิดโอกาสให้ชาวขอนแก่นได้มีส่วนร่วมในการลงทุน โดยจะนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ถือหุ้นชาวขอนแก่นได้รับมูลค่าจากหุ้นที่ถือและได้รับเงินปันผล และจะทำให้มีกองทุนไปพัฒนาโครงการต่อๆ ไปโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลอีกด้วย
แล้วคนขอนแก่นคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง? The MATTER ได้พูดคุยกับ เจ้าหญิง (นามสมมติ) หญิงชาวขอนแก่นวัย 23 ปี ที่เข้ามาเรียนและทำงานในกรุงเทพมหานคร เจ้าหญิงเล่าว่าตั้งแต่รู้ข่าวว่าจะมีการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา ก็รู้สึกดีใจที่จะเดินทางได้ง่ายขึ้น เพราะแต่เดิมขนส่งสาธารณะมีน้อยและเวลาในการเดินรถไม่แน่นอน ทำให้คนที่ไม่มีรถส่วนตัวเดินทางลำบาก ทั้งชาวขอนแก่นเอง รวมถึงนักท่องเที่ยว
“เราเองก็หวังว่าจะเห็นบ้านตัวเองพัฒนาเรื่องคมนาคมสักที แต่พอได้ยินข่าวไฟไหม้ก็แอบรู้สึกหมดหวัง” เจ้าหญิงกล่าว ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จากที่รอมานานก็อาจต้องยืดเวลารอออกไปอีก จนไม่รู้ว่าโครงการจะสำเร็จได้จริงเมื่อไร พร้อมตั้งขอสังเกตว่าหากเป็นในกรุงเทพมหานครก็อาจสร้างเสร็จไปแล้ว เพราะได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากภาครัฐ
จากการแถลงของ มทร.อีสาน ระบุว่า ความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ทำให้รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบเสียหายทั้งภายในและภายนอก ทั้งหมดประมาณ 70% เป็นมูลค่า 84 ล้านบาท แต่ชุดล้อเลื่อนรถไฟ (โบกี้) ไม่ได้รับความเสียดาย โดยหลังจากนี้จะใช้เวลาปรับปรุงประมาณ 9-12 เดือน ชาวขอนแก่นจึงออกมาส่งกำลังใจให้กับผู้พัฒนาเดินหน้าต่อไปจนสำเร็จให้ได้ พร้อมขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส
หลังจากนี้ จึงต้องติดตามถึงสาเหตุที่แท้จริงของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ต่อไป และติดตามความคืบหน้าว่าแผนการพัฒนาเมืองขอนแก่นจะประสบความสำเร็จได้ในท้ายที่สุดหรือไม่ เพราะนี่อาจเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะบ่งบอกว่า เมืองอื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพมหานครก็ต้องการการพัฒนาไม่แพ้กัน
อ้างอิงจาก
#รถไฟรางเบาขอนแก่น #รถไฟขอนแก่น #TheMATTER