ระหว่างเดินช้อปปิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตกลางกรุงครั้งล่าสุด ฉันได้ยินเสียงสปอตโฆษณาคุณงามความดีของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฟังไปเพลินๆ จนถึงประโยคที่ว่า “กระจายรถไฟฟ้าสู่ภูมิภาค” ฟังแล้วสะดุดใจจนต้องพักการเลือกซื้อของไปชั่วครู่
นึกถึงขอนแก่น ที่นักการเมืองและนักธุรกิจในเทศบาลนครขอนแก่นและเทศบาลตำบลรอบๆ กำลังผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit – LRT) ควักเงินมาร่วมลงทุนตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และล็อบบี้รัฐบาลจนเหมือนจะได้อนุมัติ ขนาดนายกรัฐมนตรียังชูขอนแก่นเป็นโมเดลการพัฒนาท้องถิ่นที่ไม่ต้องรองบประมาณแผ่นดิน
แต่ก่อนจะทันได้ตั้งไข่ ชาวขอนแก่นก็ถูกขัดขาด้วยคำสั่งจากเบื้องบนเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่า ให้ รฟม. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเสียเอง
ล่าสุด วันที่ 17 ตุลาคม รัฐบาลได้อนุญาต อนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นดำเนินการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาสายแรก 16 สถานีเองได้ (แทนที่จะต้องรอคิว รฟม. ไล่ทำทีละจังหวัดไปอีก 9-10 ปีอย่างที่คาดกันไว้ก่อนหน้า) ในขณะที่ภูเก็ต เชียงใหม่ โคราช พิษณุโลก ยังกำหนดให้ รฟม. เป็นผู้ดำเนินการเหมือนเดิม
ไม่คาดคิดว่ารัฐบาลจะยอมปล่อย แต่ก็ไม่คาดคิดเช่นกันว่า โครงการยังไม่ทันจะได้เริ่ม รถไฟฟ้าก็มาปรากฏตัวเป็นเครื่องหมายคำถามในงานศิลปะที่ขอนแก่นเสียแล้ว
ฉันจ๊ะเอ๋กับรถไฟฟ้าบนชั้นดาดฟ้าของตึกร้างแห่งหนึ่งริมถนนมิตรภาพ ท่ามกลางฝุ่น เศษอิฐ กระเบื้อง หินอ่อน บันไดเปลือยไม่มีราว และปล่องลิฟต์ที่ไม่มีลิฟต์ กลับมีแผนผังรถไฟฟ้า BTS ของกรุงเทพฯ ติดอยู่บนผนัง
รถไฟฟ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะ เหลี่ยม มาบ มาบ Khon Kaen Manifesto ที่แปลงพื้นที่ตึกร้างให้กลายเป็นการแถลงการณ์ต่อต้านอำนาจจากภายนอกที่คอยกดทับ กลืนกินพื้นที่และผู้คนชาวอีสานในนามของการ ‘พัฒนา’ ผ่านงานหลากหลายรูปแบบ โดยจัดแสดงถึงวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม นี้
แว้บแรกที่เห็นแผนผังรถไฟฟ้าบีทีเอสบนดาดฟ้าตึกร้างขอนแก่น ฉันรู้สึกว่ามันกวนประสาทดี อะไรจะผิดที่ผิดทางอย่างนั้น แต่เมื่อดูภาพใกล้ๆ ก็เกิดความสงสัย ว่าศิลปินจะลงทุนวาดภาพเหมือนทำไม บรรจงคัดชื่อสถานีรถไฟฟ้าทำไม ทั้งๆ ที่ถ้าไปหาไฟล์ภาพแล้วพิมพ์ออกมาก็ไม่น่าจะต่างกัน คล้ายว่าศิลปินจะหมกมุ่นกับบางอย่าง แล้วทำไมถึงมีรอยกลมๆ สีทองเหลื่อมมาบๆ อยู่บนพลาสติกใสที่คลุมแผนผังนั้นล่ะ?
จนได้ยินคำอธิบายจาก ‘คนวงใน’ ท่านหนึ่ง จึงได้ทราบว่าเป็นงานของกลุ่ม sad VER ที่จำลองรอยกระสุนปืนเจาะป้ายแผนผังรถไฟฟ้าแถวสีลม ช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อฤดูร้อนปี 2553 เมื่อได้ทราบดังนั้นแล้ว นอกจากความคิดที่ว่า “ทำไมไม่บอกแต่แรกล่ะคะคุณศิลปิน?” ก็เกิดความรู้สึกสะเทือนใจที่ได้ตระหนักว่า การเอาแผนผังนี้มาตั้งอยู่ขอนแก่น มันไม่ผิดที่ผิดทางเลย
ก็จังหวัดขอนแก่นนี่ล่ะมั้ง ที่เป็นภูมิลำเนาของทหารจำนวนไม่น้อยที่ถูกส่งไปสลายการชุมนุมครั้งนั้น ไปเดินบนรางรถไฟฟ้า มองทิวทัศน์เมืองกรุงจากมุมสูง
นับเฉพาะที่ยังหลงเหลือจากการเซ็นเซอร์ งานศิลปะหลายชิ้นได้ทิ้งร่องรอยชวนฉงน หากคุณมีโอกาสได้ไปเดินเล่นที่ตึกร้างเต็มไปด้วยภยันตรายนี้ อาจรู้สึกสงสัยจนถึงขั้นสยดสยอง ที่ฉันสยองที่สุดคืองานอินสตอลเลชั่นห้องหนึ่งที่ดูภายนอกเผินๆ แล้วไม่มีพิษภัยอะไรเลย โดยงานชิ้นนี้ไม่มีคำอธิบายจากศิลปิน สอบถามผู้จัดงานจึงรู้ว่าศิลปินชื่อ ไชยาพร กล้าผจญ
งานชิ้นนี้เป็นห้องเล็กๆ ไม่มีประตู มีผนังสามด้าน หน้าห้องมีคนหนุ่มสาวหน้าตาดีสองคนแต่งดำเนี้ยบเรียบร้อยเหมือนพนักงานขายบัตรเครดิตในห้างสรรพสินค้า ยืนยิ้มอย่างเป็นมิตร เชื้อเชิญให้มาร่วมลงทุนกับ ‘บริษัทของเรา’ และให้เราสามารถหยิบเอาถุงแดงเล็กๆ ที่เรียงอย่างบรรจงอยู่บนพื้นห้องกลับบ้านได้
ผนังด้านหนึ่งมีกระดาษเก่าใส่กรอบไว้สามรูป กระดาษแต่ละแผ่นเลอะดำจนแทบไม่เห็นลายเส้นรูปฝ่ามือสองข้าง ในอุ้งมือมีวัตถุกลมๆ สีทองเหลื่อมมาบๆ อีกด้านหนึ่งฉายคลิปจากการ์ตูนดิสนีย์เรื่องสโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ตอนที่คนแคระพากันลงมือขุดเหมือง
“เราขุดค้นภาพวาดโบราณจาก พ.ศ. 2443 ในสมัยนั้นมีคำทำนายแพร่สะพัดกันไปทั่วว่า หินแร่จะกลายเป็นทอง คนแถวนี้ แถวสำราญ-ท่าพระนี่แหละค่ะก็พากันขุดหินเก็บไว้”
“แล้วในสมัยนั้น พวกกบฏผีบุญ ก็เอาคำทำนายนี้ไปบอกชาวบ้าน ขอให้คนสะสมหินไว้เยอะๆ เพราะกำลังจะถึงยุคใหม่… บริษัทของเราเลยต้องการลงทุนขุดหาทองใต้ดินเมืองขอนแก่น โดยที่คุณมาร่วมลงทุนกับเราได้ ถุงที่วางอยู่บนพื้นเป็นหินจากขอนแก่น คุณเอากลับบ้านไปได้ฟรีนะคะ”
ด้วยความมึนงงระดับสุด ฉันรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงอย่างบอกไม่ถูก ไม่ริอาจก้มหยิบถุงหินของบริษัท ABACUS ราวกับทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี ไม่เก็บหินดินทรายเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน เดินออกจากห้อง พึมพำคำขอบคุณต่อพนักงานบริษัททั้งสองโดยไม่กล้ามองหน้าเต็มๆ
นี่ต้องเป็นนิทานเปรียบเทียบกับโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายแรกที่จังหวัดขอนแก่นแน่ๆ การพูดคำว่า “คนแถวสำราญ-ท่าพระ” เป็นอะไรที่ดูจงใจจะบอกใบ้ถึงสถานีปลายทางสองฝั่งรถไฟฟ้าสายแรกของขอนแก่น แต่มันเปรียบเทียบกับคำพยากรณ์ว่าหินแร่จะกลายเป็นทองยังไงล่ะ?
แผนการ ‘ขุดหาทอง’ ชื่อบริษัทที่แปลว่า ‘ลูกคิด’ วางมาดเหมือนบริษัทข้ามชาติ ตลอดจนวิธีการรบเร้าให้ผู้เข้าชมหยิบถุงแดง ล้วนสร้างความเคลือบแคลง ระแวง ไม่ไว้ใจในวาระซ่อนเร้น ชวนให้นึกถึงเหมืองแร่ทองคำอย่างที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ที่เมื่อแรกสร้างก็เข้าหาชุมชนด้วยคำว่า ‘พัฒนาท้องถิ่น’
ในขณะเดียวกัน การ ‘ค้นพบ’ ภาพวาดโบราณ การเอ่ยถึงพุทธศักราชที่มีการก่อกบฏ กลับสร้างความรู้สึกไปอีกทาง เหมือนจะให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง ถึงขึ้นทำเป็นจริงเป็นจังกับคำพยากรณ์ ‘หินแร่จะเป็นทอง’ เลยทีเดียว
สรุปว่าบริษัท ABACUS ต้องการขุดหามรดกอะไรจากกบฏผู้มีบุญ? แล้วการสร้างรถไฟฟ้า จะเปรียบเทียบเข้ากับการถลุงทรัพยากรแบบการทำเหมืองทองได้ยังไง?
นั่งคิด นอนคิด ขับรถคิดอยู่หลายวันก็ไม่ได้ข้อสรุป จนตัดสินใจกลับไปที่ตึกร้างนั้นอีกครั้ง แต่เมื่อไปถึงก็ตกใจในความแตกต่าง ผิดกับวันเปิดตัว ไม่มี ‘ตัวแทนบริษัท’ ยืนเฝ้าด้านหน้า ภาพฉายเทพนิยายก็หายไปเหมือนไม่เคยมี เหลือแต่ถุงแดงเรียงรายอยู่กลางห้อง
ลองหยิบถุงแดงมาเปิดดูข้างใน นอกจากหินสี่ก้อนรอผู้มีบุญมาเล่นแร่แปรธาตุแล้ว ยังมีโฉนดครุฑแดงใบหนึ่ง ที่ย่อขนาดลงมาเล็กจิ๋วจนอ่านไม่ออกว่าใครเป็นเจ้าของ
‘บริษัทของเรา’ นี่มันของใครกันล่ะ? หากจะตีความ ‘ถุงแดง’ ว่าเป็นตัวแทนของ ‘เงินถุงแดง’ ในพระคลังข้างที่ อันหมายรวมไปถึงองค์กรส่วนกลางอย่าง รฟม. ก็อาจเข้าใจได้ว่า นิทรรศการอาจกำลังเสียดเย้ย ‘การขยายรถไฟฟ้าสู่ภูมิภาค’ ด้วยการจำลองกิจกรรมการพัฒนาที่รัฐบาลส่วนกลางเป็นผู้ลงทุน ผู้ฉายภาพฝัน และเมื่อพ้นวันเปิดตัวก็ทอดทิ้งไป การตีความเช่นนี้อาจดูแคบไปเสียหน่อย ABACUS อาจเป็นตัวแทนของบริษัทของชนชั้นนำขอนแก่นก็ได้
การผลักดันโมเดลการลงทุนแบบที่ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์เต็มๆ จากโครงการเพื่อสาธารณะ ก็ทำให้เรารู้สึกเสมือนว่าถ้าอยากพัฒนาบ้านเกิดใน พ.ศ. นี้ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเปิดสนามให้คหบดีเข้ามาชี้นำนโยบายสาธารณะ เราไม่มีอำนาจพอจะรวมตัวต่อต้าน ทั้งไม่รู้แนวเจรจาต่อรอง เราเป็นได้แค่กองเชียร์บนอัฒจันทร์ ไม่ก็นักวิจารณ์ขอบสนาม (ต้องขอบคุณใครไหมที่ยังกรุณาอนุญาตให้เราติดตามชมเกม)
เมื่อฉันเปรยกับผู้มาร่วมชมนิทรรศการคนหนึ่งว่า นิทรรศการศิลปะนี้เหมือนจะมีเนื้อหาบางส่วนต่อต้านการพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างการสร้างรถไฟฟ้า เขาถามกลับว่า “มีรถไฟฟ้าไม่ดีตรงไหนอะ?” นั่นน่ะสิ มีรถไฟฟ้าไม่ดีตรงไหน?
การสร้างรถไฟฟ้า LRT คงจะดึงศิลปินและ creators เท่ๆ มาอยู่ขอนแก่น มาสร้างนวัตกรรมสังคมที่ ‘ทะลุกรอบ’ อย่างนิทรรศการ เหลี่ยม มาบ มาบ Khon Kaen Manifesto ได้อีกมากมาย จริงไหม? คงจะมีการพัฒนาอะไรต่อมิอะไรตามมามากมาย ดึงลูกหลานอีสานคืนถิ่นมาทำงานที่บ้านเกิดในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่จะผุดขึ้นจากรถไฟฟ้านี้ ไม่ดีตรงไหน? ดูเป็นข้อเสนอที่ไม่น่าปฏิเสธ คล้ายบัตรสมาชิกที่มีสิทธิประโยชน์และของสมนาคุณมากมาย ถ้าปฏิเสธแล้วจะรู้สึกต้องเป็นผู้เสียเปรียบอยู่ตลอด เหมือนการต้องบอกว่า “ไม่” ทุกครั้งที่เจอคำถามว่า “คุณลูกค้ามีบัตรสมาชิกไหมคะ?”
ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงมติที่อนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นดำเนินการสร้างรถไฟฟ้าเองว่า “จังหวัดมีอำนาจของเขาอยู่แล้ว … เขายืนยันมาว่า มีความพร้อม เขาอยากทำ ความเห็นผม ผมว่าดีนะที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลงทุน และเป็นโครงการของจังหวัด คนในจังหวัดได้ประโยชน์เต็มๆ”
แต่ไม่รู้ทำไม ยิ่งฟังฉันยิ่งกังขา ยิ่งปลัดฯ คมนาคมบอกว่า “จังหวัดมีอำนาจของเขาอยู่แล้ว” ฉันยิ่งรู้สึกว่าจังหวัดไม่ใช่ของฉัน ไม่ใช่ฉันที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ
คล้ายอินสตอลเลชั่นบริษัท ABACUS จะเยาะเย้ยฉันว่าหมดยุคของการต่อต้านระบบอย่างซึ่งๆ หน้าไปแล้ว เดี๋ยวนี้เราต้องอยู่เป็น มรดกของการต่อสู้ในอดีตก็กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าให้เอามาหากินในคราบของบริษัทแสวงกำไร ไม่ก็วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือเป็น ‘ศิลปะแห่งการต่อต้าน’ เท่ๆ ที่คนทั่วไปสามารถ ‘มีส่วนร่วม’ ด้วยการร่วมลงขันในโครงการยักษ์ใหญ่ หยิบโฉนดที่ดินกลับบ้านได้ฟรีจริงๆ นะคะ (แต่เราไม่บอกว่าโฉนดนั้นเป็นของใคร)
วัตถุกลมๆ เหลื่อมมาบๆ ในภาพวาดปี 2443 นั้น คงจะเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำของคนอีสาน ที่กำลังจะถูกนำไปแปรรูปเป็นการพัฒนาที่เขาคิดมาให้เสร็จสรรพแล้ว หน้าที่ของชนชั้นกลางอย่างเราคือเดินไปให้เขารบเร้าให้เรา ‘มีส่วนร่วม’ โดยไม่ทันรู้แน่ว่า วัตถุกลมๆ นั้นจะกลับมาเจาะกะโหลกใคร (ที่ไม่ใช่เรา) เข้าสักวันหรือเปล่า