วันนี้ (10 กรกฎาคม 2567) สมาชิกสภาฯ 406 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง และจะยกเลิกคำสั่ง คสช.อย่างไร? The MATTER สรุปให้ฟัง
ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการยกเลิก ‘ศอ.บต.’ ที่แต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช. โดยรวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่มาจาก ศอ.บต.ชุดดังกล่าว พร้อมกับเพิ่มข้อกำหนดในการแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกระงับจากคำสั่งคสช.
ศอ.บต. คืออะไร?
ศอ.บต. คือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในปี 2524 โดยกระทรวงมหาดไทย เพื่อดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา ที่มีลักษณะเฉพาะและพิเศษกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ โดยอยู่ภายใต้การกำกับของ กอ.รมน. ซึ่งมีผู้อำนวยการเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)
ทำไมจึงยกเลิก ศอ.บต.ที่แต่งตั้งโดยคำสั่งคสช.?
จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการฯ การพิจารณาครั้งนี้ ระบุว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาการทำงานของ ศอ.บต.ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา พบว่า ‘ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน’ โดยได้ระงับบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ซึ่งอยู่ภายใต้ กอ.รมน. โดยตรงจนอาจทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารพื้นที่ชายแดนภาคใต้
อีกทั้งเชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริหารงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ มาจากคำสั่งของคณะรัฐประหาร ที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กล่าวคือในรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย จนทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลง
หนึ่งในผลของการยกเลิก ศอ.บต. ชุดนี้ คือการกลับมาของสภาที่ปรึกษาฯ ที่จะสามารถทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมโยงกับการทำงานของ ศอ.บต. ชุดต่อไป โดยจะมีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน.พร้อมกับทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังเสียงจากประชาชน หรือการบริหารที่มีประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ้างอิงจาก