‘กอ.รมน.เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส’ ข้อความข้างต้นคือคำขวัญที่อยู่บนเว็บไซต์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หน่วยงานเก่าแก่ที่อยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
แม้จะอยู่คู่สังคมไทยมานานปีดีดักและทาง เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ออกมายืนยันว่าไม่มีความคิดที่จะยุบ กอ.รมน. แต่จนถึงขณะนี้ ในรัฐสภาก็กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. …. หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ‘ร่างยุบ กอ.รมน.’ จนเกิดเป็นข้อถกเถียงว่าองค์กรนี้สมควรดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่
The MATTER ชวนดูความคุ้มค่าและคุณูปการที่ กอ.รมน.มอบให้สังคมไทยตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันที่มีอายุ 58 ปี เพื่อทบทวนกันใหม่ว่า ประเทศไทยยังควรมอบงบประมาณให้แก่หน่วยงานนี้หรือไม่
จุดกำเนิด กอ.รมน.
ย้อนกลับไปในปี 2508 ท่ามกลางคลื่นกระแสแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่โหมกระพือกลุ่มชนชั้นนำไทยจนหวาดหวั่น รัฐไทยได้ตัดสินใจก่อตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า ‘กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.)’ ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.)’ และในที่สุดก็มาเป็น กอ.รมน. ในปี 2516
เป้าหมายหลักตั้งต้นขององค์นี้ก็สมชื่อคือ ป้องกันและปราบปรามแนวคิดคอมมิวนิสต์ไม่ให้แทรกซึมเข้ามาในสังคมไทยได้ ซึ่งนั่นเองที่นำไปสู่เหตุการณ์สลด เช่น เผาหมู่บ้านนาทราย จ.หนองคาย หรือการอุ้มหายที่มีชื่อว่า ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’ อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่นำไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และนโยบาย 66/ 2523 ภายใต้การครองอำนาจอันยาวนานของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แนวคิดคอมมิวนิสต์ก็เริ่มลดความเข้มข้นลง นักศึกษาที่รอดชีวิตเริ่มกลับมาเรียนต่อ พร้อมกับที่ กอ.รมน.เริ่มมีหน้าที่น้อยลงเรื่อยๆ
กระทั่งภายหลังการรัฐประหาร 2549 คณะรัฐประหารได้เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้นายกฯ ได้มีการออกกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับ กอ.รมน.อีกฉบับคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนโครงสร้างภายในองค์กร กอ.รมน.ให้ขยายกว้างมากยิ่งขึ้น และสายบังคับบัญชาเปลี่ยนมาขึ้นตรงต่อนายกฯ โดยตรง และหลังจากนั้น กอ.รมน.ก็กลับมาสยายปีกไปทั่วดินแดนด้ามขวานไทย
ภายหลังรัฐประหารในปี 2557 คสช.ก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 ให้อำนาจ กอ.รมน.ในการเข้าควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งระบบ และให้กำหนดเองว่าสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย
งบประมาณ
ต้องยอมรับว่า กอ.รมน.ได้รับการจัดสรรงบประมาณมหาศาลถ้าหากเทียบกับหน่วยงานความมั่นคงอื่น เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ โดยนับตั้งแต่ปี 2557 – 2566 กอ.รมน.ได้รับงบประมาณรวม 92,294 ล้านบาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2556 จำนวน 7,980,125,500 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2557 จำนวน 8,201,570,700 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2558 จำนวน 8,906,478,600 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2559 จำนวน 10,200,971,600 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2560 จำนวน 10,410,393,400 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2561 จำนวน 10,049,512,900 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2562 จำนวน 10,240,111,400 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2563 จำนวน 9,893,672,900 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2564 จำนวน 8,854,707,900 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2565 จำนวน 7,764,882,400 บาท
- งบประมาณ กอ.รมน. ปี 2566 จำนวน 7,772,273,500 บาท
ที่น่าสนใจคือ กอ.รมน.ได้รับงบประมาณสูงที่สุดในปี 2559 โดยในปีดังกล่าวมีการโหวตประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีรายงานว่าทาง กอ.รมน.ได้มีระดมมวลชนในสังกัด แสดงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์ให้คนออกไปลงประชามติ
เปิดพอร์ตผลงานเด่น กอ.รมน.ในช่วงสงครามเย็น
ในยุคแแรกเริ่มของ กอ.รมน.ผลงานที่โดดเด่นที่สุดที่เราอยากหยิบมาเล่ามีทั้งหมด 3 ชิ้น เริ่มจาก
ในช่วงปี 2517 ในพื้นที่ภาคอีสาน มีข่าวการปะทะระหว่างกองทัพคอมมิวนิสต์กับรัฐไทยอยู่หลายครั้ง กระทั่งในวันที่ 26 ม.ค. มีรายงานว่าเกิดการการปะทะขึ้นอีกครั้ง แต่ครานี้มีการใช้ระเบิดและทำให้ไฟคลอกจนประชาชนเสียชีวิต 30 ราย และอีกกว่า 200 รายต้องอพยพหนีออกจากพื้นที่
หลังเหตุการณ์นั้น มีการยืนยันจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้เผาหมูบ้าน และไม่เคยมีการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในวันดังกล่าว ซึ่งต่อมาทางเจ้าหน้าที่ไทยก็ออกมายอมรับว่าเป็นผู้กระทำเอง
ต่อมา ชวินทร์ สระคำ ได้เขียนหนังสือจึงจากเหตุการณ์ดังกล่าวในชื่อ ‘พิษเพลิงร้ายที่บ้านนาทราย’ และได้รับการตีพิมพ์ในปีเดียวกัน ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ในช่วงทศวรรษ 2510 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในจังหวัดพัทลุงได้อุ้มหายชาวบ้านที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วนำไปเผาในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร โดยมีคำยืนยันจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าเคยได้ยินเสียงร้องโหยหวนดังมาจากค่ายทหารในบริเวณใกล้หมู่บ้าน
พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกและผู้อำนวยการ กอ.รมน.ในเวลานั้นได้ออกมายอมรับว่ามีปฏิบัติการดังกล่าวจริง และประกาศลาออกจากตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน.
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบจำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่ชัดจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่คาดว่ามีมากกว่า 3,000 ราย ที่สำคัญ ยังไม่เคยมีใครต้องรับผิดจากการกระทำดังกล่าวเช่นกัน
- จัดตั้งกลุ่มขวาจัด เช่น นวพลและกระทิงแดง
หนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของ กอ.รมน.คงไม่พ้นความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มขวาจัด นวพลและกระทิงแดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกรณีล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
และจนถึงปัจจุบัน กลุ่มมวลชนที่ กอ.รมน.เป็นผู้จัดตั้งยังคงดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน เช่น กลุ่มไทยอาสาป้องกันชาติ, กองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ, ชุดรักษาความปลอดภัยหมุ่บ้าน รวมถึงลูกเสือชาวบ้าน
ผลงานเด่นในปัจจุบัน
หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และคำสั่ง คสช.ที่ 51/2560 กอ.รมน.ก็กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในการเมืองไทย ผลงานที่สำคัญเช่น
- ทำ IO ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านเว็บไซต์ Pulony
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 25 ก.พ. พ.ศ. 2563 วิโรจน์ ลักขณาอดิศรได้โชว์เอกสารที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่าง กอ.รมน. กับการสนับสนุนเว็บไซต์ pulony.blogspot.com ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 โดยวิโรจน์ระบุว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาโจมตีนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ ก่อนจะให้กลุ่มแอคเคาท์อวตารทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก เข้ามาแชร์เนื้อหาในเว็บไซต์ดังกล่าวสู้โลกออนไลน์
ต่อมาในวันที่ 27 ก.พ.พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน.ได้ออกมายอมรับว่ามีการจัดสรรงับให้เว็บไซต์ดังกล่าวจริง แต่เป็นไปเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างสันติสุขในพื้นที่
- ใช้สปายแวร์ Circles ตรวจสอบประชาชน
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ จากพรรคก้าวไกลอีกเช่นกัน ได้ออกมาเปิดเผยรายงานฉบับหนึ่งที่ iLaw ทำร่วมกับ DigitalReach และ The Citizen Lab และพบว่า ภาครัฐไทยมีการซื้อสปายแวร์ตัวอื่นนอกจากเพกาซัส ได้แก่ Circles และ RCS และจากรายงายพบการใช้งานสปายแวร์ Circles โดย กอ.รมน. ในปี 2559
นอกจากกรณีที่ยกมาเหล่านี้ ยังพบว่าในปัจจุบัน กอ.รมน.มีบทบาทบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนในหลายด้านทั้ง ปลูกต้นไม้, บำบัดน้ำเสีย, ปราบยาเสพติด ตลอดจนนำกำลังพลไหว้พระสวดมนต์ หรือเรียกได้ว่าทุกวันนี้ กอ.รมน.เป็นทุกอย่างให้คนไทยแล้ว…
เข้าไปแสดงความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. …. ได้ที่: https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=285
อ้างอิง:
รายงาน Running in Circles Uncovering the Clients of Cyberespionage Firm Circles โดย The Citizen Lab
บทความวิชาการ ‘กิจการพลเรือนของทหารในยุคประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง: พัฒนาการและความชอบธรรม’