บรรยากาศคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อสู้ หลังเห็นความไม่ปกติในสังคม นับเป็นภาพที่ การ์ตูน—ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หนึ่งในนักกิจกรรมที่ต้องลี้ภัยจากคดีอาญา ม.112 จินตนาการมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เพียงแต่น่าเสียดาย ที่เธอได้สัมผัสความรู้สึกอิ่มเอมเหล่านี้ ผ่านเทคโนโลยีที่เติบโตตามยุคสมัยเท่านั้น หลังตัดสินใจออกนอกประเทศมากว่า 5 ปีแล้ว
“เรานับมาถึงเลข 5 เลข 6 แล้ว เราไม่มีทางกลับไปนับหนึ่งใหม่หรอก ต่อให้พลิกล็อกแบบแย่ที่สุดก็คือนับเลข 6 ซ้ำ เพื่อรอนับเลขต่อไป”
ไม่ว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคม กำลังอ่อนแรงลงตามความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนจริงหรือไม่ แต่นั่นดูจะขัดกับ การ์ตูน-ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ที่มองว่าผู้คนตื่นตัวทางการเมืองต่างกับครั้งที่เธอเป็นนิสิตจับโทรโข่งอยู่หน้าหอศิลป์ฯ ลิบลับ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป ผู้คนคงไม่ยอมย้อนไปสู่การเมืองแบบอดีตอีกแล้ว
ในวาระวันผู้ลี้ภัยโลกที่ใกล้มาถึงนี้ เราจึงถือโอกาสไปไล่เรียงชีวิตในสถานะผู้ลี้ภัยในต่างแดนของชนกนันท์ จากนิสิตที่เปิดหน้าเต็มตัวจนต้องลี้ภัยในเกาหลีใต้ รวมถึงการเดินหน้าเรียนต่อประเด็น ‘ผู้อพยพ’ (migrant) ในประเทศสวีเดน ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งต่อไป
ชีวิตที่ถูกบีบให้ลี้ภัย
ถ้าหากใครพอจำกันได้ ครั้งปี 2559 บีบีซีไทยได้เผยแพร่บทความ ‘พระราชประวัติกษัตริย์ พระองค์ใหม่’ ที่เรียกเสียงฮือฮาจนถูกแชร์ออกไปจำนวนมาก แต่นั่นก็นำมาซึ่งโทษทางคดีโดยเฉพาะในกลุ่มนักกิจกรรม ที่บ้างก็เป็นชื่อที่คนคุ้นหูกัน อย่างไผ่ ดาวดิน ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 5 ปี จากคดี ม.112 ร่วมกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการ์ตูนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีเดียวกันนี้
แม้เรื่องราวครั้งนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิตการ์ตูน แต่นั่นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของการทำกิจกรรมของเธอ นับตั้งแต่ถูกตั้งคำถามว่า ‘เราใส่ชุดนิสิตมาทำไม’ จากอาจารย์ครั้งเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ช่วยเปิดโลกการวิพากษ์สังคมในแบบที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน
ก่อนจะต่อยอดไปเป็นหนึ่งในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาจากหลากพื้นที่ อย่างกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน (CCP) กลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งก่อตั้งขึ้นในวันครบรอบการทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ทุกครั้งที่เราจัดงานเสวนาจะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาดูตลอด ยิ่งพอตอนคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดนจับแล้วเรามาชูป้าย FREE SOMYOT ครั้งนั้นทุกคนเริ่มโดนตาม มีค่าหัวด้วยนะ”
ซึ่งนั่นคือถือเป็น ‘สัญญาณความไม่ปลอดภัย’ ที่การ์ตูนสัมผัสได้เป็นครั้งแรกๆ ในวันที่คำว่ารัฐประหารยังไม่ใช่ของแสลงของไทย การ์ตูนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารเต็มตัว ทั้งการทำงานให้กับสมัชชาคนจน และกลุ่มทำทาง
นับแต่นั้น การถูกระรานจากเจ้าหน้าที่รัฐก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกบังคับให้คุ้นชิน ทั้งข่มขู่คนในครอบครัว สอบถามข้อมูลส่วนตัวจากเพื่อนบ้าน เป็นต้น ซึ่งล้วนสร้างความกังวลให้คนใกล้ชิด แต่ผลพลอยได้กลับเป็นว่า ทุกคนตระหนักถึงความผิดปกติของสังคมไปพร้อมกัน
สืบเนื่องมาถึงกรณีทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ จนโดนตั้งข้อหาฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่3/58 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตอนนั้น แต่ก็ไม่มีครั้งไหนเลยที่จะทำให้ความตั้งใจหยุดชะงัก และพร้อมจะสู้บนพื้นฐานกระบวนการยุติธรรมไทยมาตลอด เว้นเพียงประเด็น ม.112
“กลุ่มเราคุยกันไว้ว่า ใครโดนจับไม่เป็นไร เพื่อนที่เหลือก็ผลัดไปเยี่ยมทุกวัน เอาบุหรี่ไปให้ ออกมาแล้วก็สู้ต่อ แต่ใครที่โดน ม.112 อยากลี้ภัยก็เอาเลย เพราะมันไม่คุ้ม ช่วงนั้นคดีนี้ยังต้องขึ้นศาลทหารอยู่ ซึ่งการตัดสินโทษหนักกว่าศาลอาญาตอนนี้มาก เราไม่เคยกลัวที่จะต้องสู้คดีเลย แต่ ม.112 รู้กันอยู่ว่าเราคงสู้ในประเทศไม่ได้”
แล้ววันนั้นก็มาถึง ชนกนันท์ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 และตัดสินใจไม่ไปตามจดหมายนัดที่ส่งไปรษณีย์มาถึงบ้าน
หลายคนการตัดสินใจลี้ภัยอาจเป็นเรื่องต้องใช้เวลา แต่ในกรณีชนกนันท์ทุกอย่างเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน หลังปรึกษากับหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือนักกิจกรรม และได้บอกลาครอบครัว อึดใจเดียวตั๋วเครื่องบินแบบขาเดียวที่มีปลายทาง คือ เกาหลีใต้ ก็กลายเป็นทางที่เธอไม่ต้องเลือกแล้ว ด้วยข้อเงื่อนไขที่ไม่ต้องข้อวีซ่าเดินทาง
บทบาทผู้ลี้ภัยในเกาหลีใต้
มกราคม 2561 ชนกนันท์จึงได้เริ่มต้นสถานะผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้สิทธิการคุ้มครองที่จำกัด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรม เพื่อแสวงหาโอกาสครั้งใหม่
โดยชนกนันท์ยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอสามารถลี้ภัยได้อย่างราบรื่น เนื่องจากครอบครัวพร้อมสนับสนุนการตัดสินใจนี้ แม้ที่ผ่านมาจะเคยยืนอยู่คนละขั้วความเห็นก็ตาม
“เราอิจฉาคนอื่นที่ย้ายไปเกาหลีแล้วก็ปรับตัวได้เร็วเอามากๆ อาจเพราะว่าเขามีความชอบในวัฒนธรรมเกาหลีอยู่แล้ว ไม่รู้ภาษาลําบากมาก มันบังคับให้เราต้องเรียนแบบเร็วที่สุดเพื่อเอาชีวิตรอด”
ด้วยช่วงอายุและเป้าหมายชีวิต ชนกนันท์รู้ตัวดีว่าเธอจำเป็นต้องได้รับสถานะผู้ลี้ภัยก่อนเป็นอันดับแรก และจากการช่วยเหลือขององค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ก็ทำให้ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เธอได้รับสถานะของผู้ลี้ภัยในที่สุด
ตามความเห็นของชนกนันท์ แม้สังคมเกาหลีใต้จะคุ้นชินกับผู้ลี้ภัย แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีมานัก อาจจะด้วยปัญหาชาวต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้ลี้ภัยถูกเหมารวมเป็นแรงงานผิดกฎหมายไปเสียหมด จนบ้างก็อาจเจออุปสรรคการถูกแบ่งแยกเชื้อชาติ
อย่างไรก็ดี เมื่อมีสถานะแล้วจึงทำให้ชนกนันท์ได้ทำงานในองค์กรผู้ลี้ภัยท้องถิ่น และใช้เวลาช่วงวันหยุดจัดกิจกรรมทางการเมืองให้กับคนไทยที่นั่น
ถึงจะเริ่มปรับตัวกับชีวิตที่นั่นได้ดีขึ้น จนรู้สึกไม่ต่างกับเป็นบ้านหลังที่สอง แต่ด้วยโอกาสที่ได้พบผู้อพยพมากหน้าหลายตา ซึ่งย้ายถิ่นฐานด้วยเหตุผลต่างกันไป จึงทำให้ชนกนันท์ตัดสินใจที่จะไปศึกษาต่อปริญญาโท
เส้นทางสู่นักศึกษาประเด็นผู้อพยพ
“เรามีภูมิหลังเป็นผู้ลี้ภัยอยู่แล้ว ในอนาคตต่อไปภูมิหลังนี้ก็ยังอยู่กับตัวเรา” สวีเดนกลายเป็นหมุดหมายถัดไปของชนกนันท์ หลังสนใจต่อยอดจากประสบการณ์ชีวิตที่พบเจอ จนตระหนักว่านอกเหนือจากประเด็นทางการเมือง ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทําให้คนคนหนึ่งต้องถูกบังคับให้พลัดพรากจากถิ่นฐาน
ภายใต้โครงที่เปิดรับผู้ลี้ภัยของมหาวิทยาลัยมัลเมอ (Malmö University) ประเทศสวีเดน เธอจึงเลือกย้ายไปศึกษาต่อที่นี่ ด้วยเงื่อนไขที่ต้องเดินทางกลับเกาหลีใต้ปีละหนึ่งครั้ง เพื่อคงสถานะเดิมไว้
“หลังจากไปอยู่สวีเดนได้ 2 ปี เหมือนเราไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยเลย เป็นแค่คนต่างชาติคนหนึ่งที่มาเรียนที่เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะมัลเมอเป็นเมืองที่ใหญ่อันดับ 3 ประเทศ ที่มีความหลากหลายและเปิดรับผู้ลี้ภัยเยอะ”
ชนกนันท์เปรียบเทียบติดตลกว่า ชีวิตในสวีเดนทำให้ลืมสถานะของตัวเองไปเลย ด้วยเหตุผลว่าผู้คนต่างคุ้นชินกับผู้ลี้ภัย และยอมรับในความหลากหลายอย่างเป็นธรรมชาติ จนวันที่ต้องเดินทางกลับเกาหลีใต้นี่แหละ ที่เธอเพิ่งรู้สึกตัวเองอีกครั้ง นั่นยิ่งตอกย้ำความคิดที่ว่า สังคมในอนาคตไม่อาจเพิกเฉยต่อผู้อพยพได้อีกแล้ว
“การพูดถึงผู้ลี้ภัย มันไม่เซ็กซี่เอาซะเลย เพราะว่าไม่เกี่ยวกับคนในประเทศนั้นๆ ทําไมคนในประเทศต้องโหวตให้ผ่านกฎหมายที่ไปช่วยคนจากประเทศอื่นด้วย เรื่องนี้ถึงยิ่งท้าทาย”
ในฐานะนักศึกษาเรื่องผู้อพยพ เธออธิบายว่า นอกจากผู้ลี้ภัยทางการเมือง และเศรษฐกิจที่คุ้นชิน ในอนาคตประเด็นสิ่งแวดล้อมก็อาจบีบบังคับให้คนต้องย้ายถิ่นฐานอีกมากมาย เราถึงต้องพยายามทำความเข้าใจถึงสิทธิในการเคลื่อนย้ายของผู้คน เพื่อยอมรับความหลากหลาย และข้ามผ่านการกีดกันที่เกิดจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ
“ความเป็นผู้ลี้ภัยใกล้ตัวทุกคนนะ เพราะสถิติผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ (UN) เอง ก็ยังนับรวมผู้ที่พลัดพรากจากถิ่นฐานในประเทศด้วย อย่างวันหนึ่งเกิดพิบัติร้ายแรง น้ำท่วมกรุงเทพฯ ขึ้นมา คนต้องหนีขึ้นเหนือลงใต้ไป แค่นั้นก็เป็นผู้ลี้ภัยแล้ว มันเกิดขึ้นได้กับทุกคนตลอดเวลา”
โอกาสหวนกลับเมืองไทย
ด้วยความฝันของชนกนันท์ที่อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งมองว่าสามารถนำความรู้เรื่องผู้อพยพที่กำลังศึกษาไปปรับใช้ในเมืองไทยต่อได้ เราจึงไม่พลาดที่จะถามถึงความคาดหวังของการได้กลับบ้าน
“ช่วงหลังนี้คิดทุกวันเลย อย่างน้อยๆ ในอีก 8 ปี คดีของเราก็จะสิ้นอายุความ อีกอย่างผลการเลือกตั้งรอบหลังสุด ยิ่งทำให้เรากล้าวางแผนจริงจังแล้ว…เคลื่อนไหวนอกประเทศมันไม่ค่อยได้ผล ต่อให้เราพยายามสร้างเครือข่ายกับองค์กรนานาชาติ ขอบเขตก็ยังเป็นไปแบบจำกัด สู้กลับไปทุ่มทำงานในเมืองไทยไม่ได้”
แล้วไม่กลัวคดี ม.112 แล้วเหรอ? อดไม่ได้ที่เราจะถามสิ่งนี้ เพราะย้อนไปยังเหตุผลเริ่มต้นของการลี้ภัย “แย่ที่สุดต่อให้เราโดนจับที่สนามบิน แต่ยังเห็นโอกาสที่จะประกันตัวได้ ซึ่งเราไม่เห็นโอกาสจะใช้สิทธินี้ถ้าย้อนไปสัก 5 ปีที่แล้วเลย”
เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยอีกหลายคน ที่เริ่มส่งสัญญาณความหวังที่จะได้กลับบ้าน และต้องเผชิญเสียงวิจารณ์ว่าเหตุใดไม่เลือกที่จะสู้คดีตั้งแต่ต้น ชนกนันท์นั้นมีคำตอบให้กับสิ่งนี้
“ลี้ภัยออกมาได้ ถึงยังได้มีเวลา มีสิทธิเคลื่อนไหวอย่างอื่น ถ้าวันนั้นถูกจับติดคุก มันก็เป็นการสู้ที่มีข้อจํากัดมากกว่า เราคิดว่าลี้ภัยก็คือการต่อสู้แบบหนึ่ง เราไม่อยากจะสู้ในกฎ ตอนที่เราออกมากฎหมายมันไม่ได้แฟร์ เหมือนรู้ว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทำอะไร”
อ่านบทสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ได้ที่:
“ต้องโทษคนรุ่นผม ที่ปล่อยอนาคตแบบนี้มาให้รุ่นหลาน” ปวีณ อดีตตำรวจที่ถูกบีบให้ลี้ภัย
“หวังจะกลับบ้านอยู่ทุกวัน” จอม เพชรประดับ นักข่าวที่ดันเพดาน ม.112 สู่ผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ
จากป่า-ต่างแดน การต่อสู้อัลตร้ามาราธอนของ จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ลี้ภัยไทยคนแรกของฝรั่งเศส