ภายใต้บริบทสังคมและการเมืองไทย ที่คล้ายคอยรดน้ำต่อชีวิตให้ฝ่ายการเมืองของกองทัพไทย อย่าง กอ.รมน. อยู่เรื่อยมา จึงไม่เคยมีวงสนทนาครั้งไหนที่ตั้งคำถามถึงบทบาทขององค์กรพิเศษแห่งนี้ ได้เท่ากับการเปิดรับฟังความเห็นต่อ ‘ร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.’ ที่กลายเป็นไวรัล
271,387 คือ จำนวนผู้เข้าถึงร่างกฎหมายดังกล่าวหลังผ่านเวลามาราว 2 เดือน นั่นบอกเป็นนัยว่า ยุบ กอ.รมน.? คงไม่ใช่คำถามล้าสมัย หรือเป็นเพียงเรื่องเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ไม่เคยหลุดเรดาร์องค์กรนี้
คงไม่มีช่วงเวลาไหนเหมาะสมกับการทบทวน และไขข้อสงสัยที่มีต่อหน่วยงานพิเศษใส่ไข่หลายฟองเท่านี้อีกแล้ว The MATTER จึงถือโอกาสไปคุยกับ รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ทั้งในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย และคนสามจังหวัดที่ใกล้ชิดผลลัพธ์การมีอยู่
ทวงคืนผืนป่า–ทำ IO ชายแดนใต้–ทำ ปลูกป่า–ทำ แก้น้ำท่วม–ทำ แล้วภัยคุกคามภายในตามภารกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีขอบเขตแค่ไหนกันแน่
เห็นท่าทีนายกฯ เศรษฐาว่าการยุบ กอ.รมน. ‘ไม่อยู่ในความคิด’ คุณรู้สึกอย่างไร
ผมสังเกตตั้งแต่วินาทีแรกตอนท่านนายกฯ แถลงข่าว หลังการประชุมกอ.รมน. ครั้งแรก กลายเป็นว่าสิ่งที่แกพูดคือเรื่องกองทัพ ทั้งที่โดยฉากและบริบทของการแถลงนั้น เกิดขึ้นหลังคณะกรรมการประชุมครั้งแรก ไม่ต้องฟังเนื้อหาสาระว่าพูดเรื่องอะไรเลยนะครับ ด้วยรูปแบบบอกโดยนัยว่ากอ.รมน. ก็คือกองทัพ มันคืออีกร่างหนึ่งของกองทัพ
ที่น่าสนใจคือ การยอมรับโดยดุษณีว่ากอ.รมน. คือกองทัพเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตัวอย่างในรัฐบาลที่แล้ว เมื่อสส. วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกอ.รมน. ตั้งคำถามเรื่องปฏิบัติการข่าวสาร (IO) กลายเป็นคนที่มาตอบคือ รมช.กลาโหม โอเคเราเข้าใจว่าท่านอยู่ภายใต้อดีตนายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะที่นั่งเก้าอี้รมต.กลาโหม แต่ถ้าคุณเคร่งครัดต่อโครงสร้างสายบังคับจริงๆ นี่ไม่ใช่หน้าที่ของรมช.กลาโหม อย่างน้อยที่สุดคุณต้องให้ รมต.สำนักนายกฯ ตอบคำถามนี้ หากคิดว่ากอ.รมน. เป็นหน่วยงานพลเรือนจริงๆ
ผมตลกมากทุกครั้งที่โฆษก กอ.รมน. พยายามจะยืนยัน นอนยัน ว่านี่เป็นหน่วยงานพลเรือน เหมือนการพูดบ่อยๆ แล้วคิดว่าคนจะเชื่อ เพราะตัวเองเชื่ออย่างนั้นก่อน เลยจะโน้มน้าวคนอื่น แต่ในความเป็นจริงคือทุกคนรู้ หน่วยงานพลเรือนอื่นก็รู้กันอยู่ ว่ากอ.รมน. ไม่ใช่ใครหรอก ก็คือกองทัพนั่นเอง
คงเห็นที่ รมว.กลาโหม ฝากคำถามถึงคุณและพรรคก้าวไกล ว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลเองจะกล้ายุบหรือไม่
ยุบแน่นอนครับ ง่ายๆ เลยครับ ไม่ใช่แค่เพราะว่าเราสัญญากับประชาชน ซึ่งเราควรต้องทำในฐานะพรรคการเมือง ที่คุณพูดอย่างไรคุณหาเสียงอย่างไร คุณก็ต้องทำตามนั้น แต่เป็นเพราะว่า ถ้าคุณได้รับอำนาจนั้นจากประชาชนมาเป็นรัฐบาล ซึ่งจริงๆ เราได้อำนาจนั้นในช่วงแรก และเราก็ตั้งใจวาง road map เอาไว้ว่าการยุติบทบาทของกอ.รมน. เป็นแผนงานที่ต้องทำ
ต้องทำความเข้าใจก่อน เรากำลังพูดถึงภาพใหญ่กว่านั้น พูดถึงการปฏิรูปกองทัพ การจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ ซึ่งจะกลายเป็นหลักสำคัญในการที่จะทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นในประเทศนี้ เพราะฉะนั้นคุณหนีไม่พ้นที่จะต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ปฏิรูประบบงานในสภากลาโหม ตรวจสอบการใช้ที่ดินกองทัพ ให้การใช้งบประมาณของกองทัพให้อยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลพลเรือน และสภาฯ สามารถตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา ด้านหนึ่งก็เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพเอง
ไม่ได้บอกว่าให้ยกเลิกภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในนะครับ คนละเรื่องกัน เพียงแต่องค์ภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 51) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 เนี่ยมีปัญหา ตอนนี้ที่เราเห็นอยู่ กอ.รมน. อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการรักษาความมั่นคงที่ควรจะเป็นก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าถามตรงๆ ว่าเรากล้าไหม ในฐานะพรรคก้าวไกลถ้าเราเป็นรัฐบาล แน่นอนครับรัฐบาลก้าวไกลยุบ กอ.รมน. แน่นอน
เล่าให้ฟังหน่อยว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตั้งต้นมาได้อย่างไร
ย้อนไปช่วงสงครามเย็น ปี 2508 ช่วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร หลังจากที่มีรัฐประหารปี 2500 รัฐไทยกำลังปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ ในการตอบโต้ภัยคุกคามคอมนิวนิสต์ ซึ่งดันมีผลประโยชน์ร่วมกับชนชั้นนำไทย สมประโยชน์กัน แต่ปัญหาคือกลไก และโครงสร้างหน่วยราชการไทยในเวลานั้นแยกส่วนกัน
ตรงนี้แหละคือปัญหาที่กองทัพมอง เพราะภารกิจของกองทัพคือการจัดการปัญหาข้างนอก เขาต้องการเครื่องมือบางอย่างเพื่อกุมสภาพองคาพยพของรัฐในเวลานั้น เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ที่เขาคิดว่าเป็นภัยคุกคามที่กระจัดกระจาย ไม่ใช่ภัยคุกคามจากภายนอก อย่างเวียดนาม จีน เป็นต้น จากเดิมมีแนวรบอยู่หลังบ้านก็ต้องออกแบบ
โจทย์เดิมที่พวกเขาต่างคนต่างทำงาน ตำรวจไปทาง กรมการปกครองไปทาง ต่างก็มีภารกิจของตัวเอง เป็นที่มาขององค์กรที่ต่อมากลายเป็นกอ.รมน. ทำหน้าที่ประสานงาน และสั่งการหน่วยงานอื่นๆ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน
ปัญหาอีกชุดหนึ่งคือ ราวปี 2520 กว่าๆ ซึ่งเป็นปลายของสงครามเย็นแล้ว กองทัพเริ่มรู้แน่ชัดแล้ว ว่าตัวเองจะมุ่งแค่งานด้านจิตวิทยาอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้งานพัฒนา เพื่อตอบสนองงานความมั่นคงด้วย
จวบจนกระทั่งสงครามเย็นหายไป ภัยคุกคามเดิมหรือศัตรูเก่าที่คุ้นเคยเริ่มลดบทบาทลง เหตุผลในการดำรงอยู่ของกอ.รมน. ก็ลดลงด้วย ลองนึกภาพตาม หน่วยงานความมั่นคงเกิดขึ้นเหมือนเป็นฝาแฝดกับภัยคุกคาม เมื่อคุณมีภัยคุกคามก็จะมีเหตุผลในการดำรงอยู่ของหน่วยงานที่ต่อต้านสิ่งนั้น
แต่แล้วเมื่อภัยคุกคามลดลง เขาต้องหาเหตุผลที่จะอยู่ต่อ ทั่วโลกถึงเริ่มมีไอเดียเรื่องความมั่นคงเคลื่อนตัวออกมา อย่างการถกเถียงประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ ความเป็นอยู่ ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร รวมถึงความขัดแย้งในแนวราบทั้งเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายใหม่
ดูเหมือนกอ.รมน. จะถูกลดบทบาทลงไปแล้วตามยุคสมัย แล้วเหตุใดถึงได้กลับมาอีกครั้ง แถมดูจะร่างทองยิ่งกว่าเดิม
ตอนนั้นก็มะงุมมะงาหรา บังเอิญว่ามีทั้งบริบทโลกและภายในประเทศที่ทำให้กอ.รมน. ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ คงต้องบอกว่าถ้าเป็นต้นไม้ก็เหมือนแห้งเหี่ยวแล้วไม่ได้น้ำ เพราะภัยคุกคามไม่เด่นชัด เรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน คนก็มีความหวังถึงการกระจายอำนาจ การต่อสู้ทางการเมืองถึงมีอยู่แต่ไม่ลุกลามบานปลาย เพราะระบบการเมืองในเวลานั้นกำลังเข้ารูปเข้ารอย
ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ดีก็เกิดมีสถานการณ์ 2 ระดับขึ้นมา ในระดับโลกเราเจอเหตุการณ์เวิลดด์เทรดเซ็นเตอร์ ตามมาด้วยสงครามอย่างน้อย 2 อย่าง คือสงครามในอิรัก และอัฟกานิสถาน พร้อมสิ่งที่เรียกว่า Global War on Terrorism หรือสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากลที่นำโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้ความขัดแย้งภายในหลายประเทศเดิมที่เคยมี อย่างเรื่องดินแดน เรื่องชนกลุ่มน้อย ถูกรีเฟรมใหม่ ถูกมองใหม่ในสายตาการก่อการร้าย
แต่นั่นก็ยังไม่หนักแน่นพอเพราะเวลานั้นสถานะของกอ.รมน. ง่อนแง่นเต็มที ในช่วงรัฐบาลทักษิณมีเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเกิดขึ้น ถ้าตามข่าวก็จะได้ยินกรณีคาร์บอมบ์ที่คนของกอ.รมน. ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีพยายามลอบสังหารอดีตนายกฯ และไม่นานก็เกิดรัฐประหารปี 2549 ที่เพิ่มความเข้มแข็งของกองทัพในพื้นที่การเมือง
แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในปีถัดมา คือการพยายามยกร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ให้การรับรองสถานภาพของกอ.รมน. อย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
ดีเบตในช่วงเวลานั้นเท่าที่ผมจำได้ อยู่ที่ว่าตกลงแล้วภัยคุกคามแบบใหม่ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ภัยก่อการร้าย ภัยพิบัติ ภัยสังคม ภัยยาเสพติดอีก มีคนเสนอถึงขั้นตั้งกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเหมือนสหรัฐฯ เพราะเจอภัยคุกคามในลักษณะใกล้เคียงกัน ไอเราก็ตั้งแต่สงครามเย็นแล้วชอบลอกแบบเขามาตลอด แต่ถกไปถกมาข้อเสนอกลับมาลงตัวที่กอ.รมน. เหมือนเดิม
ปัจจุบันตามโครงสร้างปกติก็จะมีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ที่นายกฯ เป็นคนนั่งเก้าอี้ โดยมี ผบ.ทบ. เป็นรองโดยตำแหน่ง และที่สำคัญตรงคอขวดเลขาธิการ กอ.รมน. ซึ่งมีอำนาจการบริหารจัดการต่างๆ ก็ดันเป็นเสนาธิการทบ. โดยตำแหน่งเหมือนกัน กลายเป็นว่าจากเดิมที่เคยฝันว่าจะเป็นองค์กรพลเรือน ตอนนี้สลัดจากการยึดกุมของกองทัพแทบจะไม่ได้แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน. เลยกลายเป็นองค์กรหลักที่คอยจัดการความขัดแย้งที่นั่นในแทบจะทุกมิติเลย แม้ว่าจะมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) อยู่
ตอนนั้นเมื่อเจอภัยไฟใต้ สถานการณ์ความไม่สงบที่มีเหตุรุนแรงมากมาย ที่ไม่รู้ใครเป็นฝ่ายอยู่เบื้องหลัง แต่ในปี 2550 ก็มีการเปิดยุทธการพิทักษ์แดนใต้ กวาดคนออกจากหมู่บ้านไปหลายพันคน ไล่ขึ้นไปถึงภาคใต้ตอนบน และคุมตัวไว้ภายใต้กฎหมายพิเศษ
และหลังมีพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 51 เรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึง คือ มาตรา 21 ซึ่งใช้และจงใจใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมาตรการกึ่งนิรโทษกรรมก็ได้ มีกระบวนการที่ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากกรณีคำสั่งนายกฯ 66/23 (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) คุณจะเห็นวิธีคิดเบื้องหลังของกฎหมายฉบับนี้ ที่ชื่นชมไปถึงบทเรียน ประสบการณ์ และความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้
สิ่งที่พวกเขาทำ คือพยายามหามาตรการเปิดช่องทางให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงกลับใจ โดยไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแบบตรงๆ คุณต้องยอมรับผิดก่อนตามข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตั้งให้ คุณถึงจะได้เข้าสู่เส้นทางการอบรม ปรับเปลี่ยนทัศนคติ รายงานตัวตามรอบที่กำหนด แล้วถึงจะถูกปลดปล่อย พูดแบบภาษาของหลักวิชาทหาร ผมเข้าใจว่าเป็นกระบวนการปลดปล่อยกองโจร แต่ความฝันของมาตรา 21 ดูไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะมีปัญหาเรื่องความไว้วางใจ และพลวัตความขัดแย้งยังไม่สุกงอม
ต่อมาช่วงปี 2553 เรามีพระราชบัญญัติการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้อำนาจและสถาปนา ศอ.บต ขึ้นมา กลายเป็นเกิดสถานการณ์ที่เหมือนเรามีตึกแฝดเหมือนกันนะ ตึกแรกคือ กอ.รมน. ที่มี พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ 2551 อีกตึกคือ ศอ.บต. ก็มีพ.ร.บ.บริหารราชการฯ 2553 ต่างฝ่ายต่างถืออำนาจที่ไม่เหมือนกัน ตอนแรกถูกออกแบบว่าให้ทำงานร่วมกัน แต่สองหน่วยงานนี้ก็ถืองบประมาณแยกส่วนออกจากกัน
ยกตัวอย่างหน่อยว่า กอ.รมน. เปลี่ยนแปลงพื้นที่สามจังหวัดอย่างไรบ้าง
เรื่องหนึ่งที่คนน่าจะจำได้เลยคือ GT200 เครื่องมือนี้ถูกอ้างว่าสามารถจำแนกวัตถุระเบิด สารระเบิด หรืออย่างน้อยที่สุดเขาสามารถสแกนดูว่าใครไปเกี่ยวข้องกับระเบิดและปืนได้ นี่คือความเชื่อในเวลานั้น แล้วก็เป็นจริงเป็นจังสั่งกันมาแทบจะทุกหน่วย รวมทั้งกอ.รมน. ด้วย
ผมอยู่ในช่วงที่มี GT 200 พอดี ด้วยชื่อเสียงคนในพื้นที่หวั่นเกรงมากว่าเครื่องนี้ทำงานยังไง วันดีคืนดีจะมาชี้เราจะทำยังไง ท้ายสุดเราก็จับโป๊ะได้ว่ามันคือเครื่องมือลวงโลก แต่คุณนึกออกไหมอันนี้ถูกใช้ที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาก่อน บังเอิญว่าถูกจับโป๊ะได้ บังเอิญนะครับ ไม่อย่างนั้นสี่แยกแถวเชียงราย เพชรบูรณ์ก็อาจจะมีเครื่องนี้ใช้เต็มไปหมด
GT200 นี่แหละซ่อนปรัชญาของกอ.รมน. ไว้อย่างลึกล้ำทีเดียว อะไรรู้ไหมครับ เวลาคุณเป็นกองทัพเรื่องหนึ่งที่คุณต้องทำเลยโจทย์แรกถ้าคิดแบบทหาร คือ คุณต้องนิยาม ระบุบ่งชี้ให้ชัดว่าตกลงเราเผชิญภัยคุกคามอะไร และส่องหาว่าข้าศึกคือใคร
ถ้าคิดเชิงยุทธศาสตร์อาจจะถูกต้อง ที่เราตั้งโจทย์ก่อนแล้วค่อยแก้ไขไป แต่เมื่อเอาไปใช้แก้ปัญหาทางการเมือง ซึ่งในกรณีความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ผมและนักวิชาการแก้ต่างมาตลอด ว่านี่คือปัญหาการเมืองของคำถามที่ว่าเราจะปกครองยังไงให้ชอบธรรม ไม่ใช่ปัญหาอาชญากรรม ที่มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาถือปืนยิงเจ้าหน้าที่เฉยๆ
เพราะพวกเขามีอุดมการณ์ มีเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง และทำงานอย่างจริงจังอย่างมีระบบ มีโครงสร้าง ขณะเดียวกันฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ที่ต้องปกป้องอธิไตย และบูรณาภาพแห่งดินแดน
แล้วเมื่อคุณใช้สายตาแบบกองทัพ แบบกอ.รมน. ที่ต้องมองหาว่าอะไรคือภัยคุกคาม ภายใต้สถานการณ์ที่สลับซับซ้อน และเป็นความขัดแย้งทางการเมืองอย่างนี้ ไม่แปลกหรอกครับที่คนถือปืน กับคนไม่ถือปืนอาจมีแนวคิดทางการเมืองคล้ายกันก็ได้ เพียงแต่มีวิธีการแสดงออกต่างกัน
เรื่องตลกอย่างหนึ่งที่ผมเคยคุยกับทหารของกอ.รมน. เขาบอกผมว่าปัญหาชายแดนใต้นั้นยากมาก ซึ่งถ้าเรามีเครื่อง GT 200 ที่ไม่ใช่เพียงตรวจระเบิด แต่ตรวจความคิดคนเห็นต่างที่เดินผ่านไปมา เขาก็คงจะทำงานง่ายขึ้น ถึงจะคุยเล่นกันสนุกๆ แต่ความคิดนั้นมันเซอร์ไพรส์ผมนะ เขาสนใจมากว่าประชาชนทำอะไร คิดอะไรฝันอะไรอยู่ และเขาอยากจะรู้เพื่อที่จะไปจัดการกับมัน
กรอบความคิดแบบนี้ถ้านำไปมองความขัดแย้งนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา มันทำลายสุขภาพของระบบประชาธิปไตย ทำลายพื้นฐานที่สำคัญของสันติภาพ ที่เรียกร้องการเผชิญหน้าความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ เราเห็นต่างกันได้แต่เราวางใจกันพอที่จะเถียงกันโดยที่เราไม่ฆ่ากัน
อีกเรื่องคือ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ไงครับเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ถูกอ้างจากกรณีภัยคุกคาม และใช้ในสามจังหวัดภาคใต้ ในปี 2548 ตอนนี้เผลอๆ มีการชุมนุมก็ประกาศใช้ มีโรคระบาดก็ประกาศใช้ แล้วรวบอำนาจเบ็ดเสร็จมาที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ การต่ออายุก็ต่อโดยฝ่ายครม. โดยไม่แน่ใจว่าการประเมินเพื่อต่ออายุนั้นมีการทบทวนอย่างรอบคอบดีแล้วหรือไม่ ทั้งที่หลักการแบบนี้ในต่างประเทศต้องทำโดยสภาฯ
นี่ละครับคือมรดกของ กร.อมน. ที่ทดลองใช้ในสามจังหวัดแดนภาคใต้ก่อน
ในมุมหนึ่งการมีอยู่ของ กอ.รมน. ถูกมองว่าไม่ต่างกับ ‘รัฐซ้อนรัฐ’
ผมขอแก้ต่างแทนกอ.รมน. ก่อน เขาพยายามอธิบายว่าไม่ได้ทำงานแค่ในสามจังหวัดชายแดนใต้นะ พวกเขามีภารกิจทั่วประเทศ และครอบคลุมหลายมิติสอดคล้องกับไอเดียเรื่องความมั่นคงองค์รวม ทั้งยาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติ การพิทักษ์ปกป้องสถาบันกษัตริย์ เขามีงานแบบนี้เต็มไปหมดที่แยกย่อยไปในภารกิจต่างๆ และถ้าคุณไปดูตามโครงสร้างจะมีศูนย์ประสานงานปฏิบัติอยู่หลายแห่ง ที่ไม่ใช่แค่กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เป็นโครงสร้างแบบพิเศษซ้อนพิเศษ
ในแง่โครงสร้างระดับจังหวัด อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนการมีผู้ว่าฯ ตามสายบังคับบัญชาปกติกับผู้ว่าฯ กอ.รมน. ประกบคู่กันไป ไม่แปลกที่จะมีคนบอกว่านี่คือหน้าตาของรัฐซ้อนรัฐ เพราะหน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าฯ ก็อาจต้องทำงานตอบสนองต่อภารกิจ และโครงการของกอ.รมน.
เขาคุมงบประมาณเยอะกว่าหน่วยงานปกติ แต่ความเชี่ยวชาญอาจจะน้อย อย่างการป้องกันสาธารณภัยซึ่งมีคนดูแลอยู่แล้ว กอ.รมน. ก็พยามจะทำเรื่องนี้ด้วย ฝุ่นควัน PM2.5 ก็ด้วย กลายเป็นแทบจะทุกเรื่องที่ถูกตีความเป็นมิติเรื่องความมั่นคง จะเป็นเหตุผลให้กอ.รมน. เข้าไปทำงานแทรกแซงกิจการ
ปัญหาเกิดขึ้นตามมาเลยครับ เพราะหลายภารกิจเป็นเรื่องที่หน่วยงานพลเรือนทำอยู่แล้ว การเลือกให้กอ.รมน. เข้าไปเอี่ยวเท่ากับตัดโอกาสที่จะพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานปกติ ที่เขาอาจมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ แต่ขาดทรัพยากร แทนที่เราจะไปทุ่มให้หน่วยงานเหล่านั้นเราก็ต้องกลับมามอบหมายให้กองทัพภายใต้กอ.รมน. แทน
คำพูดของผมที่อาจจะแรงไปหน่อย ผมนึกภาพออกเลยว่านี่คือองค์กรแบบปรสิต คือคุณไปเกาะติดไว้ตรงนั้น แล้วก็ขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ใช้พวกนี้เป็นเครื่องมือในการปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานพลเรือน แต่หัวใจสำคัญคือพยายามทำงานความคิด เปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งเป็นใจกลางสำคัญของงานการเมืองในยุคสงครามเย็น ที่ทำยังไงก็ได้ให้ประชาชนรู้สึกจงรักภักดี ชื่นชมต่อคุณค่าของสถาบันสำคัญต่างๆ ทั้งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนซึ่งยากไร้เอาใจออกห่างจากรัฐไทย
ผมลองไปย้อนดูเอกสารงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2552 รวมกันแล้วกอ.รมน. ใช้งบประมาณไป 130,000 กว่าล้านบาท ถามว่าจำเป็นไหม ก็คงจะมีภารกิจที่จำเป็นตามเหตุผลของเขา แต่คงมีภารกิจทับซ้อนอีกเต็มไปหมด และที่สำคัญเงินก้อนนี้ในแต่ละปี เกือบ 50% ถูกใช้สนับสนุนกำลังพลในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แสดงว่าเรื่องการใช้งบประมาณ คือประเด็นหลักให้คุณลุกมาเข็นร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่
ถามว่าเรื่องงบประมาณเป็นเหตุผลสำคัญไหมคงเป็นครับ เพราะว่าเราสามารถประหยัดงบ หรือเอางบส่วนนี้ไปสนับสนุนหน่วยงานพลเรือนพลอย่างที่ผมเล่า เพิ่มผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มกำลังพล เพิ่มเทคโนโลยี เพิ่มอุปกรณ์ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามแบบใหม่ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นภารกิจของหน่วยงานพลเรือนตั้งแต่แรก
เหตุผลใหญ่กว่านั้น คือ เราต้องไม่อนุญาตให้กองทัพทำงานแบบนี้ ถึงเวลาแล้วครับที่เราอาจจะต้องปรับปรุงนิยามความคิด และนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงใหม่ ต้องไม่ให้เรื่องความมั่นคงถูกผูกขาดโดยเฉพาะคนถือปืน คนที่มีอำนาจกำลังพล และสายบังคับบัญชาแบบลำดับชั้น (hierarchy) แบบนั้นความมั่นคงในความหมายแบบใหม่ที่บอกเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน ก็ต้องมีบทบาทของประชาชน ของท้องถิ่น ของหน่วยงานพลเรือน มากขึ้นเพราะเป็นเรื่องของเขา
ใจชื้นขึ้นไหม ที่ประชาชนให้การตอบรับและพูดถึงร่างกฎหมายครั้งนี้กันล้นหลาม
ต้องบอกว่าดีใจมากนะ ผมก็อยากเรียกร้องให้ทุกท่านมานะครับ มาได้อีกนะครับ คุณจะมาแบบจัดทัพกันมาเลย หรือจะเรียงแถวกันมาผมยินดีอย่างยิ่ง
ผมคุยกับทางเจ้าหน้าที่ของสภาฯ ที่รับผิดชอบงานนี้ และแสดงความยินดีกับเขามากนะครับ ว่ากลไกในการเปิดแสดงความคิดเห็นแบบเนี่ย ปกติมีคนมาแสดงความคิดเห็นหลักสับ หลักร้อย แต่ครั้งนี้คนดูเป็นหลักแสน และร่วมโหวตไป 40,000 กว่าคนแล้ว
อาจมีเรื่องของการตั้งคำถามที่อาจทำให้คนสับสนบ้าง แล้วก็มีคนท้วงติงเรื่องทีเปิดให้โหวตซ้ำได้ ว่าจะทำให้สามารถจัดตั้งขึ้นมาทั้งกองพันเพื่อที่จะเทความเห็นได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็มีคำอธิบายนะครับ ด้วยกลไกนี้ต้องบอกก่อนว่าจำนวนในการโหวตไม่ได้ส่งผลต่อร่างกฎหมายว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ เพราะข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญจะไปตัดสินเรื่องนี้กันในสภาฯ แต่การสำรวจเสียงของประชาชนสำคัญครับ เพราะฉะนั้นต้องเปิดกว้างที่สุด
ท้ายที่สุดคุณคาดหวังกับผลลัพธ์ของร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. ไว้แค่ไหน
มีคนถามผมแบบนี้นะว่าเสนอยุบ กอ.รมน. ไป ทำอะไรไม่ได้หรอก แต่ผมคงต้องเรียนตรงๆ สำหรับกรณีร่างกฏหมายฉบับนี้ ผมคิดว่าเราสามารถยุบได้ เราสามารถผ่านวาระสามได้ เพราะเสียงในฝั่งรัฐบาลจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันนะ อาจจะมีคนที่เห็นด้วยกับนายกฯ ว่าเรื่องนี้อย่าไปแตะเลย ไม่มีความคิดแบบนี้เลย แต่ก็มีปรากฏการณ์แบบท่านอดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาลที่ก็เห็นต่าง
และผมเชื่อว่ามีฝั่งรัฐบาลหลายท่านก็กังขาต่อบทบาทของกอ.รมน. มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าลืมนะครับเรามีสส.เขตถึง 12 คน จาก 13 เขตการเลือกตั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ที่อยู่ในฝั่งรัฐบาล ผมยังเชื่อว่าเพื่อน สส. ของผมก็น่าจะมีทัศนะต่อกอ.รมน. ที่อาจไม่ต่างไปจากผม
ถ้าเราได้พิจารณากันจริงๆ ได้ทบทวนกันจริงๆ ก็เป็นไปได้ครับที่กฎหมายฉบับนี้จะผ่านในสามวาระ…ท่านนายกฯ บอกให้ผมเข็น ผมก็ต้องเข็นสุดตัวครับ