ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 สมาชิกรัฐสภาตุรกีได้อนุมัติกฎหมายเพื่อกำจัดสุนัขจรจัดนับล้านตัว ทำให้ผู้รักสัตว์เกิดข้อกังวลว่าสุนัขหลายตัวจะถูกฆ่า หรือถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์สัตว์ที่แออัด และไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
โดยรัฐบาลได้ประเมินว่า ในตุรกีมีสุนัขจรจัดประมาณ 4 ล้านตัว ทั้งบนถนน และในพื้นที่ชนบท แม้ว่าหลายตัวจะไม่เป็นอันตรายอะไร แต่สุนัขเหล่านี้ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีที่รวมตัวกันเป็นฝูงเพื่อเข้าทำร้ายคน
จากปัญหานี้ กฎหมายใหม่จึงจะกำหนดให้เทศบาลจะต้องจับสุนัขจรจัดไปไว้ที่สถานสงเคราะห์ เพื่อฉีดวัคซีน และทำหมัน ก่อนที่จะหาผู้รับเลี้ยงต่อไป แต่สำหรับสุนัขที่ป่วยระยะสุดท้าย หรือเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของมนุษย์ได้ ก็จะถูกทำการุณยฆาต
หลังกฎหมายผ่าน ผู้คนหลายพันคนจัดการประท้วงทั่วตุรกีเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิก โดยสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน กลุ่มสวัสดิภาพสัตว์ และกลุ่มอื่นๆ เรียกร่างกฎหมายนี้ว่า เป็น ‘กฎหมายสังหารหมู่’
ผู้คนหลายร้อยคนไปรวมตัวกันที่จัตุรัส Şişhane ในอิสตันบูล และส่งสารไปยังรัฐบาลว่า “กฎหมายการสังหารหมู่ของคุณเป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งสำหรับเรา” พร้อมกล่าวกับฝูงชน “เราจะเขียนกฎหมายนี้ลงบนพื้นถนน สิ่งที่จะชนะคือชีวิตและความสามัคคี มิใช่ความเกลียดชังและความเป็นศัตรู” ซึ่งหมายถึงการมองว่าประชาชนคือผู้กำหนดกฎเกณฑ์ที่แท้จริง หาใช่รัฐบาล และพวกเขาต้องการส่งเสียงนี้ไปให้ถึงผู้มีอำนาจ
นอกจากนี้ คนรักสัตว์ในกรุงอังการาได้ออกมาประท้วงหน้าสำนักงานเทศบาลเช่นกัน โดยมีเสียงนกหวีดและเสียงเรียกร้องเป็นระยะว่า “เราขอเตือนรัฐบาลอีกครั้ง หยุดใช้กฎหมายนี้ อย่าก่ออาชญากรรมต่อประเทศนี้”
พรรคฝ่ายค้านหลักของตุรกี ก็พยายามจะยกเลิกกฎหมายนี้ที่ศาลฎีกาด้วย
“คุณได้ร่างกฎหมายที่ผิดศีลธรรม ผิดศีลธรรม และผิดกฎหมาย มือที่เปื้อนเลือดของคุณมันไม่สามารถล้างได้หรอก” มูรัต เอมีร์ (Murat Emir) รองหัวหน้าพรรค Republican People (CHP) กล่าวในรัฐสภา โดยตั้งคำถามสำคัญถึงเจตนาของกฎหมาย ว่าเพราะเหตุใดร่างกฎหมายจึงต้องกำหนดให้มีการรวบรวมสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่ก้าวร้าวด้วย ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าพวกมัน
ประชาชนส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต้นตอของการเพิ่มขึ้นของประชากรสุนัขจรจัด ก็เกิดมาจากความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ก่อนหน้านี้ ที่กำหนดให้ว่าสุนัขจรจัดทุกตัวต้องถูกจับไปทำหมันก่อน แล้วจึงส่งคืนไปยังพื้นที่อยู่อาศัยของพวกมัน เพื่อไม่ให้เกิดจำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นมาอีก
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าคิดต่อ คือการที่มีคนมองว่า ร่างกฎหมายนี้อาจมีเป้าประสงค์บางอย่างทางการเมืองด้วย เพราะได้ระบุว่าหากนายกเทศมนตรีไม่ปฏิบัติตามการจัดการสัตว์จรจัด จะมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กฎหมายนี้อาจถูกใช้เพื่อ ‘จัดการ’ นายกเทศมนตรีจากพรรคฝ่ายตรงข้าม
แต่มีคนไม่เห็นด้วย ก็ย่อมมีคนที่เห็นด้วย “พวกเขาควรนำสุนัขจรจัดออกไป (จากบนท้องถนน) และหาบ้านให้พวกมัน” อาเดม คอสคุน (Adem Coskun) ผู้ที่มีหลานชายเคยถูกสุนัขจรจัดกัด กล่าวยินดีกับมาตรการใหม่นี้
ในเมื่อปัญหาจากสุนัขจรจัดที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่สวัสดิภาพสัตว์ก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงน่าติดตามต่อไปว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้ในตุรกีจะเป็นอย่างไรต่อไป และสำหรับประเทศไทยเองที่ก็เผชิญปัญหาสัตว์จรจัด จะมีแนวทางใดการแก้ไขจัดการอย่างไรในเร็วๆ นี้บ้างหรือเปล่า
แล้วคุณคิดว่านโยบายแบบไหน ถึงจะตอบโจทย์ปัญหานี้?
อ้างอิงจาก