1.
“ประกาศ !! ญาติโยมที่จะนำ สุนัข 🐕 แมว 🐱 มาปล่อยทิ้งที่วัด กรุณาเขียนชื่อของโยมไว้ให้ด้วย เพื่อจะได้นำมาตั้งเป็นชื่อ สุนัข และแมว ต่อไป”
เรื่องราวทั้งหมดเกิดจากการโพสต์สเตตัสนี้ของ พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ (ธีรวิทย์ ฉนฺทวิชฺโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กลายเป็นที่สนใจและตลกขบขันบนโลกออนไลน์ จนมียอดไลก์มากกว่า 10,000 ไลก์ และอีกมากกว่า 5,000 แชร์
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดราชาธิวาสฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นโทในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เก่าแก่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่ต้น สถาปัตยกรรมและศิลปะประดับวัดสวยงามวิจิตรระดับขึ้นหิ้ง แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่วัดราชาธิวาสฯ ไม่ต่างจากวัดไทยทั่วประเทศ – หมาวัด
เมื่อทีมข่าว The MATTER ลงพื้นที่ สุนัขเดินเล่นในวัดจำนวนประปราย ในฝูงยังมีกระทั่งสุนัขสายพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ที่มีคนนำมาฝากไว้ให้วัดเลี้ยง นอกจากแมววัดที่ชื่อ ‘อัญชลี’ เรายังได้พบกับ ‘มนูญ’ สุนัขที่พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณรับดูแลไว้เอง เพราะป่วยหนัก ต้องใส่คอลลาร์กันเลีย และมีก้อนเนื้อที่ทำให้ต้องผ่าตัดสะโพกด่วน
เรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับพระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ เกี่ยวกับสเตตัสไวรัลข้างต้น ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า เป็นประเด็นที่ได้ไปหยิบยกมา และต้องการ ‘คอลเอาต์’ เนื่องจากเป็นกรรมการตรวจวัด และได้ไปพบเห็นปัญหาสุนัขและแมวที่ถูกนำมาทิ้งที่วัดต่างๆ
“วันนั้นไปที่เพชรบุรี มีท่านพระสังฆาธิการในพื้นที่บอกว่า วัดก็ลำบากใจมากเลย เพราะคนที่เขารักหมาเขาก็จะหาว่าใจร้ายถ้าไม่ให้วัดรับหมา แต่พอรับมาแล้ว คนที่เข้ามา เห็นอุจจาระบ้าง สกปรก หรือว่าสุขภาวะที่ไม่เรียบร้อย ก็จะตำหนิวัดว่า ทำไมวัดปล่อยให้สกปรกแบบนี้ อันนี้ก็เป็นความหนักใจทั้งสองฝ่าย” พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณเล่าให้เราฟัง
“บางวัดที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการได้ดีๆ ท่านก็บริหารได้ แต่เราต้องเข้าใจ วัดไม่ได้พร้อมทุกวัด บางวัดมีหลวงตาสักรูปหนึ่ง มีโยมสักคนสองคนในวัด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เราก็เห็นข่าวบ่อยๆ ที่มีปัญหาในวัด”
ด้วยเหตุนี้ พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณจึงมองว่า เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาเฉพาะวัด แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ ที่ทุกภาคต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ ต้องมีมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
“ถ้าเราจะบริหารจัดการกันอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะเห็นว่า เขาจะมีระบบบริหารจัดการ ซึ่งในเมืองใหญ่ๆ เดี๋ยวนี้เขาทำดีขึ้น มีโครงการ บางครั้งในพระราชดำริบ้าง โครงการราชการบ้าง โครงการภาคประชาชนบ้าง แต่อาจจะต้องถอดโมเดล และเอาจริงเอาจังกับปัญหาพวกนี้
“พระก็เมตตาอยู่แล้ว พระท่านจะไปทำมากกว่านี้ไม่ได้หรอก ก็พูดเล่นๆ ไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าจริงๆ แล้ว ก็อยากจะให้ทุกภาคส่วนมาดูปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ กันมากกว่า” ท่านว่า
2.
ก็จริงอย่างที่พระครูฯ กล่าว – ปัญหาหมาแมวไม่ใช่ปัญหาแค่บางวัด
ถัดจากวัดราชาธิวาสฯ ไม่ถึง 5 กิโลเมตร ทีมข่าว The MATTER ลงพื้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ที่มีชื่อเสียงทั้งในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ เป็นแหล่งเรียนรู้นวดแผนไทย (ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดย UNESCO) และยังขึ้นชื่อเรื่องการเป็นที่อยู่ของ ‘แมววัด’ เกือบ 200 ชีวิตด้วย
“ข้าวแช่ กาแฟ หางงอ โกโก้น้อย ข้าวต้ม สำลี แมงมุม ถั่วเขียว นมสด ไข่ดาว”
พระมหานรินทร์ อภิฉนฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ซึ่งจำชื่อแมวที่วัดได้ทุกตัว และเป็นบุคลากรหลักของวัดในการอาสาดูแลแมว พาเราเดินสำรวจรอบวัด และขานชื่อเรียกเหล่าแมวมากินข้าว
พระมหานรินทร์ เล่าให้เราฟังว่า ได้เริ่มมาดูแลแมวที่วัดโพธิ์ด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 2557 ก่อนหน้านั้นก็ยังไม่ได้สนใจ แต่ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสให้ดูแลความสะอาดและสถานที่ จึงต้องมาเกี่ยวข้องกับแมว จากที่ไม่มีความรู้ ก็ต้องเริ่มศึกษา จนได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะมูลนิธิและอาสาสมัคร
“จริงๆ แมวมันอยู่ที่นี่อยู่แล้วส่วนหนึ่ง ออกลูกออกหลานอยู่ที่นี่ มันเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าวัดก็เป็นเขตอภัยทาน เป็นที่พึ่งของสัตว์ได้ คนจะเอามาปล่อย เขาก็ต้องนึกถึงวัดว่า วัดปลอดภัยที่สุด วัดเป็นเขตอภัยทาน วัดเป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล อย่างน้อยๆ เป็นที่พึ่งของเขาได้บ้าง” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์เล่าเท้าความ
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา – คือหลักพรหมวิหาร 4 ในพระพุทธศาสนา ที่พระมหานรินทร์ใช้ในการดูแลและอยู่ร่วมกันกับแมว โดยปกติแล้ว แมวจะได้กินอาหาร 2 เวลา คือ มื้อเช้า และเลี้ยงใหญ่ตอนเย็น ส่วนในระหว่างวัน พระมหานรินทร์จะมีอาหารเม็ดผสม 3 ยี่ห้อ (เพื่อป้องกันแมวเป็นโรค) ติดไม้ติดมือตลอดเวลา
“เขาขี้กลัวนิดหนึ่ง ทำไมเขาต้องกลัว เพราะว่าเมื่อก่อน เขาเคยถูกไล่กวาดล้าง เขาก็ฝังใจ แต่ทุกวันนี้ ให้ความรัก ให้ความเมตตากับเขา พยายามสร้างความคุ้นเคยให้เขาไว้ใจเรา เขาก็ไม่กลัว ก็รู้สึกเบาใจ สบายใจ เป็นเรื่องปกติ เขากลัวไง เขาก็รักตัวกลัวตาย กลัวภัยเหมือนกัน” พระมหานรินทร์ เล่าถึงแมวที่ชื่อ ‘พะโล้’ ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการเลี้ยงแมวที่วัดโพธิ์ด้วย
และถ้าสังเกตดีๆ รอบๆ วัด ไม่ใช่แค่รูปปั้นยักษ์หรือฤาษีดัดตน แต่วัดโพธิ์ยังเต็มไปด้วยห้องน้ำแมวที่เป็นกระบะทรายวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยห้องน้ำไม้ 40 หลัง และซีเมนต์บอร์ดอีก 20 หลัง ที่พระมหานรินทร์ใช้เงินส่วนตัวจ้างช่างฝีมือทำโดยเฉพาะ โดยมีลวดลายสอดคล้องไปกับสถาปัตยกรรมของวัด เพื่อความเรียบร้อย สะอาด และไม่มีกลิ่น
พระมหานรินทร์มีทีมงานในวัด และอาสาสมัครจากหน่วยงานข้างนอก ดูแลแก้ไขปัญหาแมวมาอย่างต่อเนื่อง โดยการทำหมันจนถึงปัจจุบัน ทั้งในวัดรวมถึงชุมชนรอบๆ วัด เช่น ท่าเตียน หรือปากคลองตลาดด้วย ซึ่งสังเกตเห็นได้ว่าจำนวนแมวลดลงเรื่อยๆ ส่วนแมวที่เหลืออยู่ที่วัด ก็เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี ด้วยการมอบความรักและอาหารที่มีคุณภาพ
“ใครเข้ามา เขาก็ไม่ได้รังเกียจ เขามาก็จะเห็นแมวอ้วนทุกตัว ถ้าเป็นภาพแมววัด มันจะติดตาแล้วว่า มันจะต้องผอมๆ จะต้องขี้โรค จะต้องสกปรก มันอย่างนั้นจริงๆ เป็นหมาก็ต้องขี้เรื้อน มันไม่ใช่นะที่นี่” พระมหานรินทร์กล่าว
3.
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ที่ผ่านมา เคยมีความพยายามไล่จับแมวที่วัดครั้งใหญ่อย่างน้อย 3 ครั้ง คือ เมื่อปี 2555 ก่อนการเยือนวัดของ บารัก โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น – เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นนโยบายของวัด – และเมื่อปี 2560 ระหว่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ แม้จะจับไปหมดวัด แต่แมวก็ยังไม่หมดไป “มันก็สะท้อนให้เห็นว่า มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว คุณจับออกไป แมวอื่นก็เข้ามาเหมือนเดิม ขยายพันธุ์เหมือนเดิม” พระมหานรินทร์อธิบาย ซึ่งต่อมา วิธีที่ท่านใช้ จากการปรึกษาและร่วมมือกับทีมงานจิตอาสา ก็คือ ทำหมันและฉีดวัคซีน
อันที่จริง หากหน่วยงานหรืออาสาสมัครลงมือทำอย่างจริงจัง วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมีมนุษยธรรมมากที่สุดวิธีหนึ่งในการรับมือกับสัตว์จรจัดในชุมชนต่างๆ ด้วย สำหรับแมว มักจะเรียกว่า TNVR นั่นคือ trap (จับ) neuter (ทำหมัน) vaccinate (ฉีดวัคซีน) และ return (คืนสู่ชุมชน) ส่วนสุนัข จะเรียกว่า CNVR นั่นคือ catch (จับ) neuter (ทำหมัน) vaccinate (ฉีดวัคซีน) และ return (คืนสู่ชุมชน)
ในกรณีของสุนัข เพิ่งมีงานวิจัย “Impact Assessment of Free-Roaming Dog Population Management by CNVR in Greater Bangkok” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Animals เมื่อเร็วๆ นี้ และสำรวจผลลัพธ์ของการใช้ CNVR ควบคุมประชากรสุนัขในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอด 5 ปี (ค.ศ. 2016-2021) ได้ข้อสรุปว่า วิธี CNVR ช่วยลดความหนาแน่นของสุนัขตามชุมชนได้ 24.7%
อย่างไรก็ดี งานวิจัยก็ชี้ว่า วิธีดังกล่าวช่วยลดจำนวนสุนัขได้จริง เพราะเป็นการลดความสามารถในการสืบพันธุ์ของสุนัข ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหนึ่งของประชากรสุนัข แต่จะไม่ได้ผลเท่าใดนัก หากตามท้องถนนมีสุนัขเพิ่มขึ้นจากแหล่งที่มาอื่นๆ เช่น สุนัขถูกทิ้ง หรือหลงกับเจ้าของ
ดังนั้นแล้ว หากภาครัฐจะมีความตั้งใจแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างจริงจัง คงต้องใช้วิธี CNVR หรือ TNVR ร่วมกับวิธีอื่นๆ อย่างเป็นระบบ เช่น การช่วยเหลือในการคืนสุนัขและแมวที่สูญหายให้กับเจ้าของ หรือป้องกันและรณรงค์ไม่ให้เจ้าของทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง
รวมถึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งไทยเองก็มีกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยมีมาตรา 23 ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทําการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับที่ พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ เจ้าของสเตตัสเฟซบุ๊กไวรัลข้างต้น กล่าวกับเราว่า “ภาครัฐ อาจจะต้องมีมาตรการจริงๆ เราเคยเห็นข่าวก่อนหน้านี้ มีความพยายามเก็บภาษีหมาแมว แล้วก็มีการทำหมัน มีอะไรต่างๆ แต่สุดท้ายแล้ว กระบวนการนำนโยบายลงสู่ภาคปฏิบัติ คิดว่ายังน้อยไป
“ก็เพียงแต่นำลงมาสู่ปฏิบัติให้จริงจัง และสร้างความรับผิดชอบให้กับประชาชนจริงๆ ในการที่จะครอบครองสุนัขและแมว”