ช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘โยโล่ – YOLO’ ที่เป็นคติยอดฮิตของเหล่าวัยรุ่น ซึ่งย่อมาจาก You only live once แปลรวมๆ ได้ว่า ชีวิตนี้มีแค่ครั้งเดียวก็ใช้ซะ ให้ความสำคัญกับความสุข ณ ปัจจุบันไม่ต้องไปคิดถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน ซึ่งเทรนด์นี้ก็ฮอตมากในหมู่คนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว
ทว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ปัจจุบันทำให้การใช้ชีวิตตามเทรนด์นี้เป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และนิสัยของพวกเขาให้มีความประหยัดมากขึ้น จนเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘โยโนะ – YONO’ หรือ You only need one เป็นตัวแทนของวิถีชีวิตใหม่ที่ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง
ชเว เยบิน วัย 27 ปี อาชีพผู้จัดการงานอีเวนต์ เป็นหนึ่งในคนที่ใช้ชีวิตในวิถีใหม่นี้ โดยเธอทำบัญชีค่าใช้จ่ายในบ้านและรู้สึกว่ารายรับที่เธอได้มันสวนทางกับรายจ่ายของเธอที่มีมันมากเกินไป
ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยและค่าอาหาร รวมถึงค่าอาหารนอกบ้าน คิดเป็นสัดส่วนที่มากเกินไปของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเธอ จนเมื่อไม่นานมานี้เธอรู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงค่าใช้จ่ายด้านอาหารนอกบ้านที่เพิ่มขึ้น
เยบินให้สัมภาษณ์กับ The Korea Times ว่า ถ้าวันไหนที่เธอไม่มีนัดนอกบ้าน เธอก็จะพยายามไม่กินข้าวนอกบ้าน แต่ถ้าอาทิตย์ไหนที่มีนัดนอกบ้าน 2 ครั้ง เธอก็จะมองว่ามันคือสัญญาณอันตรายแน่ๆ และจะปรับเปลี่ยนตาราง
“ฉันเคยรู้สึกว่าการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนส่วนตัว หรือเพื่อความบันเทิงเป็นที่ชื่นชมของสังคม แต่ในปัจจุบันชัดเจนว่าไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว” เยบินเล่าพร้อมกับยกตัวอย่าง ‘โอมากาเสะ’ (อาหารที่ปรุงโดยเชฟญี่ปุ่นและเสิร์ฟเป็นคอร์ส) ที่เมื่อก่อนเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากมาย แต่ปัจจุบันความคิดของคนวัย 20 ต้นๆ เปลี่ยนไปแล้ว และมองว่า ‘ฉันอยากจะเอาเงินนี้ไปใช้ทำอย่างอื่นมากกว่า’
อัตราเงินเฟ้อที่สูงและอัตราการเติบโตของรายได้ที่ต่ำผลักดันให้คนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ข้อมูลสถิติของเกาหลีใต้แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2021 ถึงปี 2023 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% 5.1% และ 3.6% ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนประจำปีอยู่ที่เพียง 2.5% 0.9% และ 1.6% เท่านั้น
ข้อมูลจาก NH NongHyup Bank ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าบัตรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 ถึง 30 มิถุนายน 2024 แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนเช่นกัน
โดยข้อมูลของ NH NongHyup Bank ระบุว่า จำนวนการทำธุรกรรมเพื่อการรับประทานอาหารนอกบ้านของคนหนุ่มสาวในวัย 20 และ 30 ปี ลดลง 9% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทว่าการบริโภคอาหารจากร้านสะดวกซื้อกลับเพิ่มขึ้น 21%
จำนวนธุรกรรมในห้างสรรพสินค้าลดลง 3% และการบริโภคกาแฟชั้นนำอย่าง Starbucks และ A Twosome Place ก็ลดลง 13% เช่นกัน ขณะที่การซื้อรถยนต์นำเข้าลดลงถึง 11% และการซื้อรถยนต์ในประเทศกลับเพิ่มขึ้น 34%
“เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของคนหนุ่มสาวเป็นหลัก ส่งผลให้ค่าครองชีพของผู้ที่เริ่มทำงานแรกหรือมีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นโดยตรง แต่เนื่องจากปัญหาตลาดงานและราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนหนุ่มสาวจึงได้รับความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจสูงสุดในกลุ่มอายุทั้งหมด” สหพันธ์อุตสาหกรรมเกาหลีเขียนไว้ในการศึกษาวิจัยในปี 2022
อย่างไรก็ตาม กระแสดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่จะใช้จ่ายอย่างประหยัดในทุกด้านของชีวิต เพราะในขณะเดียวกันก็ใช้จ่ายเพื่องานอดิเรกในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย NH NongHyup Bank ระบุว่า “แทนที่จะซื้อของใช้ต่างๆ เหล่าคนรุ่นใหม่กลับไม่ลังเลที่จะใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ต่างๆ เช่น การชมกีฬา หรือท่องเที่ยวต่างประเทศแทน
อ้างอิงจาก