วันที่ 29 กันยายน 2567 ได้มีการประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566 จัดโดย สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (ทรูโฟร์ยู ช่อง 24)
โดยในสาขา รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary Film) ผู้ได้รับรางวัลคือสารคดีเรื่อง ‘The Last Breath of Sam Yan’ กำกับโดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และอำนวยการสร้างโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
The Last Breath of Sam Yan ออกฉายครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2566 และเข้าฉายผ่านแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
“ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองเป็นที่รู้จักในระดับชาติและระดับโลก ผู้บริหารจุฬาฯ เลิกโครงการจะทุบศาลเจ้าและทำลายวัฒนธรรมชุมชนและผู้คนเถิดครับ” เนติวิทย์ กล่าวบนช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง
สารคดีเรื่องดังกล่าว พูดถึงการปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่อยู่บริเวณข้างตลาดสามย่านมาเป็นเวลากว่า 110 ปี แต่กำลังถูกคำสั่งให้ย้ายออกเพราะจะมีการปรับปรุงพื้นที่ในบริเวณนั้น โดยกล่าวถึงเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ดูแลศาลฯ และการเรียกร้องจากนิสิตจุฬาฯ รวมถึงประชาชนทั่วไป
กรณีพิพาทเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิม เริ่มต้นมาจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ให้ย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองออกจากพื้นที่เดิม เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่หมอน 33 ที่จะสร้างเป็นคอนโดใหม่
ในขณะนั้น จุฬาฯ รับปากว่าจะสร้างศาลใหม่ทดแทนให้เหมือนกับศาลเก่ามากที่สุด แต่คนกลับวิพากษ์ว่าหน้าตานั้นออกมาแตกต่างจากศาลดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง ทั้งรูปแบบและขนาดพื้นที่ที่เล็กลง และหลังจากนั้นจุฬาฯ ยังฟ้องเรียกค่าเสียหายจากศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นจำนวน 4,600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี
เหล่านี้ได้จุดประกายให้เกิดการเรียกร้องในกลุ่มนิสิตจุฬาฯ บางส่วน และแฮชแท็ก #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม บนโซเชียลมีเดีย ที่ออกมาปกป้องศาลฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนมานาน ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการตอบโต้จากฝั่งจุฬาฯ ถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายการให้ศาลฯ ย้ายออกแต่อย่างใด
ในขณะนี้ ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองจึงยังตั้งอยู่ที่เดิมท่ามกลางไซต์ก่อสร้างคอนโด และยังมีประชาชนเดินทางไปเยี่ยมชมและสักการะอยู่เรื่อยๆ ทั้งชาวบ้านบริเวณนั้น นิสิตจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป
คนบางส่วนเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘Gentrification’ ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงในย่านย่านหนึ่ง ที่ผู้อยู่อาศัยและธุรกิจดั้งเดิมถูกแทนที่ด้วยกลุ่มคนแบบใหม่ ชนชั้นแบบใหม่ ที่มีความมั่งคั่งกว่า ทำให้สภาพเศรฐกิจบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป ในที่นี้ ก็คือจากชุมชนดั้งเดิมของจุฬาฯ ที่จะกลายเป็นร้านค้าและอาคารใหม่ๆ ที่ดู ‘ทันสมัย’ มากขึ้นนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ The Last Breath of Sam Yan เคยได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยม ประจำปี 2566 จากชมรมวิจารณ์บันเทิง รวมถึง เพ็ญประภา พลอยสีสวย ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ได้รับรางวัลจิตร ภูมิศักดิ์ ด้านการขับเคลื่อนสังคม ประจำปี 2565 อีกด้วย