เด็กจุฬาฯ บ้านรวยจริงไหมไม่รู้ แต่เด็กจุฬาฯ ที่รายได้น้อยจนขนาดนิยามตัวเองว่า “หนูจน” มีอยู่จริงแน่ บางคนต้องเปิดประสบการณ์ชีวิตด้วยการผ่อนไอแพดเพราะอาจารย์แจกแต่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ บางคนต้องทำพาร์ทไทม์ตัวเป็นเกลียวเพื่อหาเงินใช้ ส่วนบางคนต้องทำงานส่งตัวเองเรียนเกือบ 100%
ไม่แน่ใจว่า พวกเขาอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในจุฬาฯ หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ พวกเขามีตัวตนและต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมหาวิทยาลัยที่ค่าครองชีพและต้นทุนการใช้ชีวิตสูงไม่ต่างจากเพื่อนนิสิตคนอื่น
ขอบคุณคุณูปการจากเนติวิทย์และเพื่อนที่ศึกษาความเหลื่อมล้ำภายในนิสิตจุฬาฯ จนค้นพบว่า รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของนิสิตจุฬาฯ มากกว่าแสนบาท/เดือน และสูงจนอยู่ท็อป 14% ของประเทศ แม้งานจะถูกตั้งคำถามเรื่องระเบียบวิธีวิจัยและจำนวนประชากรที่มีข้อจำกัด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันประสบความสำเร็จในการปลุกสังคมให้ขบคิดถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
และยังเป็นที่มาของคำถามสำคัญในใจเราว่า แล้วนิสิตที่ไม่ได้ร่ำรวย ฐานะทางบ้านไม่ดี รายได้น้อย แต่ต้องอยู่ในมหาวิทยาลัยทำเลทองอันรายล้อมด้วยห้าง ร้านรวง และที่พักอาศัยที่ราคาแพง อย่าง ‘นักเรียนทุน’ ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบนี้อย่างไร? ทั้งที่ผ่านสารพัดกระบวนการพิสูจน์ความจนมาขนาดนี้?
ใครที่จินตนาการไม่ออกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายในการอยู่จุฬาฯ เป็นอย่างไร ให้ลองนึกสภาพมหาวิทยาลัยที่ทิศหนึ่งติดกับสามย่านมิตรทาวน์ อีกทิศหนึ่งติดกับศูนย์กลางการช้อปปิ้งสุดหรูอย่างสยาม ส่วนอีกทิศก็ติดกับถนนสีลม ย่านธุรกิจการค้าที่ราคาที่ดินแพงติดอันดับประเทศ ไหนจะรั้วที่ติดขอบกับสารพัดขนส่งสาธารณะอย่าง BTS และ MRT ที่ตัดผ่านตรงไหนก็มีผลกับราคาที่ดินตรงนั้น ค่าครองชีพรอบจุฬาฯ จึงสูงไม่น้อย จริงอยู่ที่มีร้านราคาถูกแฝงตามย่านต่างๆ และมีสถานที่ที่สร้างมาเพื่อขายสินค้าราคาถูกให้นิสิต เช่น โรงอาหารในมหาวิทยาลัย ร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัย หรือหอพักเกรดถูกของมหาวิทยาลัย แต่ร้านรวงรอบมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สร้างมาเพื่อเป้าหมายเช่นนั้น
จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่า แล้วนักเรียนทุนจุฬาฯ อยู่อย่างไรในสังคมแบบนี้นะ? The MATTER ชวนเจาะลึกและสำรวจวิธีเอาชีวิตรอดฉบับนักเรียนทุนจุฬาฯ 6 คน ทั้งจากคนที่ยังเรียนอยู่และบัณฑิตป้ายแดงไปด้วยกัน
‘แทนไท’ คือคนแรกที่เราติดต่อสัมภาษณ์ได้ เขาเป็นเด็กทุนจุฬาฯ–ชนบท ทุนที่มหาวิทยาลัยนิยามว่าเป็นทุนเรียนฟรีสำหรับนักเรียนยากจน ซึ่งก็ตรงกับเกณฑ์คุณสมบัติตามประกาศของมหาวิทยาลัยที่ระบุว่า จะต้องเป็นผู้มีฐานะครอบครัวยากจน พ่อแม่ไม่สามารถสนับสนุนให้ศึกษาปริญญาต่อได้
แทนไทสอบและผ่านกระบวนการพิสูจน์ตัวตนมากมาย จนได้ทุนนี้มา เขาผ่านการกรอกข้อมูลในเอกสารเล่าว่าบ้านเขามีหน้าตาแบบไหน มีหน้าต่าง ประตู หรือมีกี่ชั้น แถมยังผ่านกระบวนการตรวจเยี่ยมบ้านจนสุดท้ายก็ได้ทุนนี้มา ซึ่งทุนจุฬา–ชนบทครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลายชนิด ทั้งค่าเทอม ค่าหอใน (ให้อยู่ฟรี) ค่ารักษาพยาบาล แถมยังให้ค่าใช้ชีวิตอื่นๆ เช่น ค่าหนังสือเรียน 1,500 บาท/เดือน ค่าชุดนิสิต 1,000 บาท/เทอม และค่าใช้จ่ายประจำเดือน 5,000 บาท/เดือน
เราชวนคุยถึงค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตที่จุฬาฯ แทนไทเริ่มเล่าว่าแต่ละชั้นปีต้องใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ “ชีวิตมันก็เปลี่ยน เราอยู่ในสังคมที่มันหลอมให้เราอยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป็อป” ไหนจะค่าอุปกรณ์การเรียนที่ต้องเสียเป็นระยะๆ อย่างคอมพิวเตอร์ ไอแพด และค่าหนังสือ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น
“ปีแรกอยู่ได้เพราะกินข้าวหอใน แต่พอปี 2-3 ก็อยากจะไปกินข้าวข้างนอกบ้าง กินหอในทุกมื้อก็เบื่อ เราก็อยากจะอยู่เพื่อชีวิตที่ดีเหมือนกัน และเราก็อยากจะเปลี่ยนการแต่งตัวให้มันดีขึ้นด้วย เพราะสังคมที่ห้อมล้อมเรามันชื่นชมคนประเภทนี้ มันก็เลยกล่อมเกลาเราโดยไม่รู้ตัว”
“สังคมมันผลักให้เราต้องมี เช่น เราต้องมี macbook ต้องเป็น apple จุฬาฯ ไม่ได้ทำตรงๆ หรอก แต่เพราะผู้คนในจุฬาฯ มันใช้ ก็เลยทำให้เราคิดกับตัวเองว่า โอเค กูต้องคิดแล้วว่าต้องทำยังไงให้ซื้อให้ได้ นี่อาจเป็นประเด็นเล็กๆ ที่เกิดกับเรา” แทนไท บอกกับเรา
ประเด็นน่าสนใจที่แทนไทบอกกับเรา คือ ประเด็น ‘ความแพง’ ของมหาลัย เขาอธิบายเป็นฉากๆ ถึงความแพงของจุฬาฯ ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตแพง : แพงทั้งค่าใช้ชีวิตพื้นฐานและค่าใช้จ่ายที่ต้องทำให้ตัวเองดูแพงเหมือนกับคนในสังคม เช่น ค่าใช้จ่ายที่จะต้องแต่งตัวให้ดีเพื่อเป็นที่ยอมรับ
- การศึกษาแพง : นิสิตจะพูดอะไรก็ต้องพูดให้แพงแบบคนมีการศึกษา พูดจากระจอกกับอาจารย์ก็ไม่ได้ ขณะที่เด็กภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ อย่างเตรียมอุดมฯ สาธิตฯ ถูกสั่งสอนให้มีความแพงทางด้านการศึกษา และมีต้นทุนที่แพงกว่าอยู่แล้ว
“เด็กจุฬาฯ บ้านรวย ไม่ใช่รวยแค่ตัวเม็ดเงิน แต่รวยต้นทุน จะอยู่จุฬาฯ มันต้องรวยทั้งเรื่องความคิด mindset การอ่าน การศึกษา อาจารย์หลายคนชอบบอกว่าเด็กเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็อยากถามกลับว่า คุณคาดหวังกับเด็กแบบไหนวะ เด็กแบบเตรียมอุดมฯ ที่อยู่ข้างๆ คุณหรอ อย่าลืมว่ามีเด็กอีกกลุ่มที่ก็ต้องใช้ความสามารถอย่างมากในการเรียนรู้และทำให้ความรู้แพงอย่างที่คุณต้องการ” แทนไท ทิ้งท้าย
หนอนแก้ว เด็กนิเทศ ปี 3 คือนักเรียนทุน Sea Scholarship ซึ่งเป็นทุนประเภทที่มอบให้กับนิสิตที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยทุนนี้กำหนดเกณฑ์ชัดเจนว่าจะต้องมีรายได้รวมของครอบครัวไม่เกิน 300,000 บาท/ปี
หนอนแก้วอธิบายว่า ต้องขอทุนการศึกษาเพราะที่บ้านมีฐานะยากจน เธอส่งตัวเองเรียนเกือบ 100% โดยสร้างรายได้จากการเขียนนิยายและทำงานพาร์ทไทม์ โดยเฉลี่ยแล้ว เธอต้องหาเงินให้ได้มากกว่า 10,000 บาท/เดือน เพื่อเอาไปจ่ายค่าหอ ค่าอยู่ และค่ากิน
ที่อยู่อาศัยของหนอนแก้วจึงเป็นหอในจุฬาฯ เธอให้เหตุผลว่าเพราะใกล้มหาวิทยาลัย สะดวก และราคาถูกมาก ทั้งยังเล่าด้วยว่าจ่ายค่าหอในเพียงประมาณ 4,000 บาท/เดือน ซึ่งถือว่าถูกมากหากเทียบกับที่พักอื่นๆ ในย่านจุฬาฯ
“ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตในมหาลัยสูงโคตรๆ เราเริ่มทำงานเขียนนิยายตั้งแต่ ม.6 ตอนสอบติดก็วางแผนชีวิตแล้วว่าจะใช้เงินค่าต้นฉบับส่งตัวเองเรียน มันคงไม่เหนื่อยหรอก เอาอยู่ แต่พอมาอยู่จริงๆ มันไม่ใช่อย่างที่คิดเลย”
“แค่ชานมไข่มุกที่เราชอบกินมากๆ ก็ราคาเฉียด 100 บาทแล้ว หรือบางทีก็มากกว่านั้น ขอดักไว้ก่อนเลยนะถ้ามีคนมาสอนว่าทำไมไม่ประหยัด อยากบอกว่าใน กทม. ถ้าจะหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่เป็นของแพงก็คงไม่ต้องมีความสุขในชีวิตแล้วแหละ เพราะของทุกอย่างเริ่มต้นที่ราคา 70-100 บาทแล้ว” หนอนแก้ว ระบุ
เธอทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า บางทีก็อยากไปเที่ยวกับเพื่อนแต่นั่นก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ สุดท้ายก็เลยไปเที่ยวบ่อยไม่ได้ แค่กินข้าวกับเพื่อนนอกโรงอาหารคณะยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะราคาร้านเหล่านั้นสูงมาก
มิกกี้เป็นเพื่อนของรุ่นน้องเราอีกที เขาเรียนอยู่คณะเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 6 กำลังจะเรียนจบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก่อนหน้านี้เขาเคยกังวลว่าจะไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะครอบครัวรายได้น้อย มีหนี้สินเยอะ แถมมีแม่เพียงคนเดียวที่เป็นผู้หาเงินเลี้ยงดูคนทั้งบ้าน
อย่างไรก็ดี มิกกี้ได้ทุนจุฬาฯ–ชนบท และย้ายออกจากบ้านที่สมุทรสงครามมาอยู่อาศัยอยู่ที่หอในของมหาวิทยาลัย
เมื่อถามว่าค่าใช้จ่ายและการใช้ชีวิตในรั้วจุฬาฯ แพงมั้ย มิกกี้ตอบว่า หากพิจารณาอาหารในโรงอาหารหอในก็ไม่ได้แพง แต่ยิ่งอยู่ยิ่งแพงขึ้น เขาเล่าย้อนว่า ช่วงปี 1 อาหารในโรงอาหารเฉลี่ยจากละ 20 บาทเท่านั้น ส่วนร้านรอบๆ มหาวิทยาลัยก็เคยเป็นแค่ร้านอาหารข้างทางที่ราคา 40-50 บาท พอเข้าช่วงวิกฤตโรคระบาด ร้านอาหารในโรงอาหารก็ปรับราคาขึ้นเป็นจานละ 30 บาท ส่วนร้านตามรอบๆ มหาวิทยาลัยก็ยังพอมีเหลืออยู่บ้าง แต่ในปัจจุบัน โรงอาหารหอในดันปรับราคาเพิ่มอีกเป็นจานละ 33 บาท ส่วนร้านอาหารย่านมหาวิทยาลัย เช่น ถนนบรรทัดทอง ก็กลายเป็นร้านราคาสูงมาก
“ผมมองว่าการใช้ชีวิตในจุฬาฯ ไม่แพงมาก แต่ก็แพงจากเมื่อก่อน ส่วนสิ่งแวดล้อมรอบข้างมีแต่ของแพงๆ” มิกกี้ กล่าว
มิกกี้แจกแจงรายจ่ายต่อเดือนให้เราฟังว่า จากเงินทุนค่าใช้จ่าย 5,000 บาท/เดือน เขาใช้ไปกับการกินข้าว 4,000 บาท นอกนั้นจะเป็นค่าของใช้ส่วนตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เขาย้ำเองว่าความจริงอาจใช้เงินเยอะกว่านี้ เพราะมีรายได้เสริมจากการสอนพิเศษด้วย เนื่องจากทุน 5,000 ไม่พอต่อการใช้จ่ายจริง
เมื่อถามว่ามีวิธีจัดการตัวเองอย่างไรเมื่อต้องอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีแต่ร้านแพงๆ เขาตอบว่า “ผมจะไม่เลือกเข้าร้านราคาแพงที่รู้ตัวว่าไม่สามารถจ่ายเงินได้ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยเงินที่เหลือหากกินร้านนี้ได้ ส่วนใหญ่จะกินข้าวโรงอาหารหอใน ทั้งมื้อเช้า กลางวัน และเย็น บางครั้งเพื่อนในกลุ่มชวนไปกินร้านอาหารแถวสยาม ก็ปฏิเสธบ้างและไปด้วยบ้าง เพราะต้องเซฟเงินตัวเอง”
มิกกี้เล่าด้วยว่า ต้องจำกัดไลฟ์สไตล์ตัวเอง เช่น มักใส่เสื้อผ้าที่มีมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเสื้อกีฬาโรงเรียน เสื้อพละ เสื้อกีฬาสี และเสื้อค่าย ซึ่งนั่นก็ทำให้เขากังวลเรื่องการแต่งกายและกังวลที่จะต้องไปร่วมงานหรือไปเที่ยวกับเพื่อนที่ต้องแต่งตัวดีๆ
สถานะของมิกกี้ก็ทำให้เสียโอกาสในเรื่องการเรียนเช่นกัน ทั้งในเรื่องการไม่มีอุปกรณ์ไอแพดจนพลาดการส่งไฟล์เอกสารไป และเรื่องการฝึกงานที่ต้องคิดหนักเพราะไม่อยากฝึกไกลจากหอในมากนัก
“ช่วงที่เริ่มเรียนแรกๆ เราต้องปรินท์เอกสารเรียน แต่เพื่อน 99% คือมีไอแพด บางครั้งอาจารย์ก็ส่งไฟล์ในคาบเรียนผ่าน Airdrop ทำให้เราไม่ได้เอกสารนั้น จะปรินท์ไม่ทันเพราะมันเข้าคาบเรียนแล้ว ก็รู้สึกเสียโอกาสตรงนี้มาก ตอนหลังเลยหาผ่อนไอแพด แต่พอได้ไอแพดมาก็ไม่มีปากกาอีก เลยต้องซื้อปากกาของปลอมมาใช้ แต่ปัจจุบันยืมไอแพดของคณะเรียนจึงพอผ่านมาได้” มิกกี้ บอกกับเรา
นอกจากนี้ มิกกี้พูดถึงการเสียโอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มสังคมในมหาวิทยาลัยด้วย เขาให้เหตุผลว่า บางกิจกรรมต้องเสียเงินเพื่อเข้าร่วม หรือกระทั่งการไปเจอกับผู้คนก็ต้องใช้เงินแล้ว ซึ่งคนมีเงินอาจทำอะไรก็ได้ แต่เขาต้องวางแผนเรื่องเงินในหัวตลอดว่าจะมีพอใช้ไหม
ท้ายที่สุด มิกกี้เสนอว่า จุฬาฯ ควรหาวิธีลดช่องว่างระหว่างนิสิตที่รวยและยากจน ควรสำรวจจำนวนนิสิตที่ยากจนและต้องการความช่วยเหลืออย่างครอบคลุม ควรพิจารณาจำนวนเงินทุนค่าใช้จ่ายที่ให้นิสิต และควรรับรู้ถึงสถานการณ์ว่า สิ่งแวดล้อมรอบมหาวิทยาลัยมันแพงเกินไป ให้ช่วยสนับสนุนสร้างสิ่งที่จำเป็นต่อนิสิตจริงๆ บ้าง
ริกเตอร์ บัณฑิตจบใหม่จากคณะนิติศาสตร์ คืออีกคนที่ได้ทุนจุฬาฯ–ชนบท เขาเล่าให้เราฟังว่า สมัยอยู่มัธยมปลายไม่เคยคิดว่าจะได้จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้เลย ด้วยความที่เป็นเด็กนอกกรุงเทพฯ ที่เคยคิดว่ามหาวิทยาลัยนี้คงไม่เหมาะกับเขา
อย่างไรก็ดี ริกเตอร์คิดว่าการใช้ชีวิตในจุฬาฯ แพงมาก ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของเขาหมดไปกับค่าอาหาร โดยปกติเขาจะพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 15,000 บาท/เดือน ซึ่งทุนจุฬาฯ–ชนบทให้ค่าใช้จ่ายเขาเพียงเดือนละ 5,000 บาทเท่านั้น เขาจึงต้องทำพาร์ทไทม์ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งเพื่อหาเงินด้วยตัวเอง
“การใช้ชีวิตในจุฬาฯ แพงครับ ด้วยความที่จุฬาเป็นมหา’ลัยที่ล้อมไปด้วยห้าง ทุกอย่างมันเลยแพงไปหมด ค่าครองชีพใดๆ ถ้าอยากได้ค่าครองชีพที่ถูกก็ต้องกินอาหารโรงอาหารมหา’ลัย และพักหอพักมหา’ลัยเท่านั้น นอกนั้นคือค่าใช้จ่ายสูงลิ่วพอสมควรเลย” ริกเตอร์ กล่าว
บัณฑิตนิติศาสตร์เล่าว่า สมัยที่ยังเรียนอยู่ ร้านอาหารแพงๆ รอบมหาวิทยาลัยทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของเขาสูงขึ้น หากต้องเซฟตัวเองก็ต้องหาร้านที่ราคาเหมาะสมกับเงินที่มีกิน เช่น ร้านอาหารตามตรอกซอยแถวมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็ร้านในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย
บางครั้ง ริกเตอร์ต้องลดการใช้ชีวิตทั่วไป เช่น เที่ยว กิน ดูหนัง เพื่อประหยัดเงิน และในบางครั้งเขาต้องตัดใจเลือกสินค้าที่คุณภาพด้อยกว่าเพื่อประหยัดเงิน เช่น ตอนซื้อโน๊ตบุ๊ก เป็นต้น
เมื่อถามว่าเสียโอกาสไหมที่ถูกตัดจากเพื่อนที่ใช้เงินเยอะไปโดยปริยาย เขาตอบว่า เสียโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักกัน เพราะ “คนที่บ้านรวยไม่ได้มาแบ่งหรือเลือกคบเพื่อนหรอก แต่การใช้ชีวิตมันมีปัจจัยการเงินมาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เพื่อนบางคนปกติกินข้าวในห้างทุกวัน แต่ฐานะเราไม่เอื้อให้ทำแบบนั้น มันก็ยากที่จะสนิทสนมเพราะไลฟ์สไตล์ต่างกัน สิ่งนี้เลยเป็นเหมือนเส้นแบ่งโดยปริยาย”
มอส เป็นบัณฑิตป้ายแดงจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทุนสนับสนุนค่าเทอมและค่าใช้จ่ายจากคณะ ขณะเดียวกันก็ได้ทุนค่าใช้จ่าย ‘ว่าที่ครูไทย’ จาก Oriental Princess ด้วย เมื่อคำนวณจากทุนทั้งหมด มอสได้เงินสนับสนุนค่าเทอมฟรี ได้ค่ากินที่หากเฉลี่ยแล้วจะเป็นจำนวน 5,000 บาท/เดือน และได้เงินสนับสนุนเอกชนเทอมละ 10,000 บาท ทั้งนี้ เขาเล่าเพราะบ้านจนก็เลยขอทุนการศึกษา ซึ่งนอกจากขอทุนแล้ว ระหว่างเรียนก็ต้องทำงานพิเศษโดยการเป็นติวเตอร์เพื่อหาเงินด้วย
เมื่อถามว่าค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยสูงมั้ย มอสตอบว่า “สูง เพราะมหาลัยอยู่ในตัวเมือง ถึงจะมีโรงอาหาร แต่เมื่อใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โรงอาหารก็ปิดบ้าง หรือกิจกรรมวัยรุ่นมันก็ต้องกินข้าว ดูหนัง หรือมีการเข้าสังคม ก็เลยทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น”
เราจึงถามต่อว่า มอสมีวิธีประหยัดเงินอย่างไรในมหาวิทยาลัย เขาก็ตอบว่ายากมาก เพราะหลายๆ อย่างคือการทำเพื่อเข้าสังคม
“การใช้ชีวิตในมหาลัยที่มีแต่ร้านแพงๆ มันยากมาก มันคือการทำทุกอย่างให้ตัวเองได้เข้าสังคม เพราะถ้าเราไปไม่ได้ เราก็จะไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม สิ่งที่เราทำเพื่อแก้ปัญญาหนูจน คือ การสอนพิเศษ สอนพิเศษเยอะๆ เอาเงินมาใช้ชีวิต และก็ต้องรู้จักปฏิเสธคนบ้าง” มอส ระบุ
อย่างไรก็ตาม เหตุที่มอสยังเลือกเรียนจุฬาฯ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายสูง เพราะเขาเชื่อว่ามันคือการลงทุนอย่างนึง ที่แม้จะลงทุนสูง แต่เชื่อว่าผลตอบแทนก็อาจจะสูงเช่นกัน
เคี้ยง นิสิตปี 3 คณะนิเทศศาสตร์ เล่าให้เราฟังว่าได้รับทุนอุดหนุนทางการศึกษา ทำให้เขาไม่ต้องจ่ายค่าเทอม และได้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 เดือน เคี้ยงขอทุนเพราะว่าที่บ้านลำบากขึ้นเพราะวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน พ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัวล้มป่วย ทำให้รายได้ของครอบครัวลดลง
เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตในจุฬาฯ เคี้ยงเล่าว่า ค่าใช้จ่ายสูงกว่าตอนมัธยมศึกษา ซึ่งเขามองว่าเป็นเพราะแถวจุฬาฯ มีแต่อาหารราคาแพง แม้จะมีโรงอาหารในมหาวิทยาลัย แต่บางครั้งเลิกเรียนหรือเลิกทำกิจกรรมดึก โรงอาหารเหล่านี้ก็ปิดแล้ว จึงไม่เหลือทางเลือกนอกจากไปกินย่านบรรทัดทองที่ราคาสูง
“หรือถ้าเราอยู่ดึกมากแบบ 4-5 ทุ่ม ร้านที่ยังเปิดอยู่ก็จะเหลือแค่ร้านหม่าล่าที่แพงกว่า 200 บาท หรือไม่งั้นก็ต้องหนีไปร้าน 24 ชั่วโมงในสามย่านมิตรทาวน์ เช่น KFC หรือก๋วยเตี๋ยวเรือด้านล่างสุด ที่ก็แพงทั้งนั้น” เคี้ยง เล่าให้ฟัง
ในกรณีนี้ เคี้ยงจึงไม่สามารถเซฟเงินในช่วงเวลากลางคืนได้เลย เพราะวิธีเซฟเงินหลักๆ คือการกินข้าวที่โรงอาหารคณะที่ก็ปิดตามเวลาราชการ
เคี้ยงเล่าต่อว่า “เราเจอเพื่อนหลายคนที่พอเลิกเรียนก็เดินไปกินข้าวที่สามย่านมิตรทาวน์เพราะโรงอาหารคณะรอคิวนาน พวกเขาไม่ต้องรอคิว มีร้านอาหารหลายสิบร้านให้เลือก ตอนนั้นก็ช็อคกับสิ่งนี้มาก ในขณะที่เราไม่มีทางเลือกนอกยืนรอคิวโรงอาหารไปเรื่อยๆ หรือบางครั้งก็ต้องยอมเข้าเลทนิดนึงจากกาารอคิวโรงอาหาร”
ในทัศนะของเคี้ยง ปัญหาของจุฬาฯ คือการพัฒนาพื้นที่ให้มีไลฟ์สไตล์ราคาแพง โดยที่มองว่าแค่มีโรงอาหารก็สามารถแก้ไขอะไรต่างๆ ได้ ซึ่งมาจากวิธีคิดของจุฬาฯ ที่ไม่เคยรู้ว่านิสิตใช้ชีวิตอย่างไร มองว่านิสิตใช้ชีวิตแค่ในเวลาราชการ ซึ่งเขามองว่าผิดมาก เพราะบางวิชาก็เลิกดึก ขณะเดียวกันนิสิตก็ต้องทำกิจกรรม
“ควรรองรับการใช้ชีวิตตรงนี้ของพวกเขาด้วย ไม่ใช่แค่สร้างโรงอาหารที่ปิด 5 โมงแล้วจบ” เคี้ยง ทิ้งท้าย
จะเห็นได้ว่า นิสิตทั้ง 6 คนล้วนมาจากครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ก็มีปัญหากระทันหันจนทางบ้านขาดรายได้ ด้วยลักษณะเหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลให้พวกเขาขอทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนค่าเล่าเรียนของตัวเอง
ปัญหาร่วมสำคัญที่นักเรียนทุนทุกคนบอกกับเรา คือ ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตรอบมหาวิทยาลัยซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงลิ่ว ความเหลื่อมล้ำนี้ไม่เพียงส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของพวกเขา แต่ยังสร้างอิทธิพลต่อการกินอยู่ คุณภาพชีวิต เครือข่ายทางสังคม กระทั่งการเข้าถึงระบบการศึกษา
นอกจากรายได้น้อยจะส่งผลต่อการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ข้อสังเกตสำคัญ คือ ในขณะที่นิสิตทั่วไปใช้ชีวิตตามปกติ นิสิตทุน (บางคน) ต้องเสียโอกาสมหาศาลจากการเข้าไม่ถึงบางทรัพยากรที่ต้องใช้เงิน แถมยังต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายรอบมหาวิทยาลัยที่แพงบรม ซึ่งก็ชวนตั้งคำถามต่อว่า สิ่งนี้จะยิ่งถ่างให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยให้ยิ่งกว้างขึ้นไปอีกหรือไม่
อีกคำถามสำคัญ จริงอยู่ที่มหาวิทยาลัยมอบทุนการศึกษาและสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนกับนิสิตแล้ว แต่ในบางประเด็นที่นักเรียนทุนหยิบมาเล่า จุฬาฯ ดันถูกมองเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างปัญหาขึ้นมาด้วยซ้ำ เช่น ปัญหาค่าครองชีพรอบมหาวิทยาลัยที่ราคาแพงขึ้นตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ