ประเด็นการเรียกร้องให้ใส่ชุดไปรเวทเข้าสอบได้ ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายหนึ่งอ้างว่า เขาเข้าสอบวิชาหนึ่งที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วอ้างว่ามีการระบุ “ให้ทุกคนใส่เสื้อในกางเกง / กระโปรงให้ดี…คนที่ไม่ใส่นิสิต ครั้งหน้าใส่ด้วย ไม่งั้นจะหักคะแนนแบบดับเบิ้ล” โดยครั้งแรก จะหัก 5 คะแนน ครั้งที่สอง 10 คะแนน ครั้งที่สาม 20 คะแนน และเมื่อหักถึง 40 คะแนนแล้วก็จะโดนพักการเรียน 1 เดือน
ทั้งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อไปสอบถามทางฝ่ายวิชาการก็แจ้งว่าต้องใส่รองเท้าหุ้มส้น เข็มขัดมีหัว กระดุมถูกระเบียบ แต่ไม่ติดเข็มก็ไม่เป็นอะไร ส่วนคนที่แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายอื่นที่ไม่ใช่ชุดนิสิต ก็จะมีให้กรอกชื่อด้วยเช่นกัน
หลังจากมีการแชร์โพสต์ดังกล่าวก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องการบังคับให้ใส่ชุดนิสิตเข้าสอบอีกครั้ง
ด้านอภิสิทธิ์ ฉวานนท์ ผู้แทนนิสิตคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็นการใส่ชุดไปรเวทเข้าสอบว่า นิสิตหลายคนที่เลือกแต่งกายด้วยชุดไปรเวทเข้าสอบก็น่าจะทราบถึงประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2562 ที่มีระบุเรื่องข้อบังคับการแต่งกายด้วยชุดนิสิตเข้าสอบ
“แต่พวกเราก็ยังแต่งกายด้วยชุดไปรเวทเข้าสอบเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องว่าการ #บังคับใส่ชุดนิสิตเข้าสอบ เป็นการลิดรอนเสรีภาพการแต่งกายของพวกเรา และชุดนิสิตนี้เองก็ไม่ได้ส่งเสริมความสามารถในการเรียนและสอบของพวกเราให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสร้างความลำบากแก่ชีวิตนิสิตอีก” อภิสิทธิ์ระบุ
อภิสิทธิ์ยังยกตัวอย่างอีกว่า ในช่วงเวลารัฐบาลประยุทธ์ที่ผ่านมา ก็มีหลายเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนถูกกระทำ แล้วก็เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในขณะนั้น “แต่พวกท่านก็แยกแยะระหว่างถูกต้องตามระเบียบและถูกต้องตามศีลธรรมได้ ดังนั้น เหตุผลเพียงความถูกต้องตามระเบียบนี้สามารถเป็นความชอบธรรมในการลิดรอนเสรีภาพนิสิตได้จริงหรือ”
หากให้นิสิตสามารถใส่ชุดไปเวทเข้าสอบได้ อภิสิทธิ์ก็เข้าใจว่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็จะถูกจุฬาฯ จับตามองอย่างเข้มงวดขึ้น แต่เขาก็ยังตั้งคำถามว่า “แล้วนิสิตที่เรียกร้องเรื่องเหล่านี้ผ่านการแต่งกายด้วยชุดไปรเวทเข้าสอบล่ะ พวกเราแหกกฎด้วยจุดยืนว่าสิ่งที่เราเรียกร้องอยู่นั้นถูกต้อง แม้พวกเราจะต้องเซ็นชื่อ ถูกถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ถูกเรียกตักเตือน และอาจนำไปสู่การหักคะแนนความประพฤติ แต่พวกเรายังคงยืนหยัดโดยไม่เกรงกลัว แล้วพวกท่านจะเลือกอะไรระหว่างการยืนเคียงข้างนิสิตหรือเลือกเกรงกลัวกับจุฬาฯ ต่อไปเหมือนเดิม”
“คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ของเราภาคภูมิใจกับความหลากหลาย แต่ความหลากหลายเหล่านี้คงจอมปลอมหากท่านยังไม่เปิดทางให้เราเลือกเสื้อผ้าที่เราจะใส่เข้าสอบได้…เราก้าวเท้าเข้ามาในคณะนี้เพื่อหวังถูกบ่มเพาะเป็นนักสร้างสรรค์ แต่ขณะนี้ คณะนี้เหลือพื้นที่ให้เราสร้างสรรค์มากน้อยเพียงใด” อภิสิทธิ์ระบุ
รวมไปถึง มรรยาท อัครจันทโชติ อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ก็ยังออกมาโพสต์ว่า หลังเห็นดราม่าเรื่องชุดเข้าสอบแล้ว เขาก็รู้สึกไม่สบายใจเลย
“ในฐานะครูคนหนึ่ง เราเข้าใจว่าทุกที่ต้องมีกฎมีระเบียบ และนิสิตต้องเรียนรู้เรื่องกาลเทศะ แต่สำหรับเรา การดำเนินการทุกอย่างแบบสุดขั้ว มันก็เกินไป” อ.มรรยาทระบุ
อาจารย์ยังเสริมอีกว่า จากคณะที่ไม่ได้สนใจเรื่องการแต่งกายเข้าเรียน แต่กลับมีการตรวจอย่างละเอียด ถึงขนาดขู่ว่าจะพักการเรียนนิสิต ก็คิกว่าการใช้ไม้แข็งเช่นนี้ จะยิ่งสร้างกระแสต่อต้าน เมื่อต่างฝ่ายต่างแข็ง มันก็เละ และอาจารย์ก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้อำนาจจัดการ
อ.มรรยาทยังระบุอีกว่า ไม่ใช่ว่าเขาให้ท้ายนิสิต แต่มองว่าสถานการณ์จะยิ่งบานปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสอบเช่นนี้ โดยคณะก็ควรรีบหาทางพูดคุยระหว่างนิสิต เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารเพื่อรีบหาข้อสรุป ในขณะที่นิสิตเอง ก็ต้องคุยกันว่า ถ้าจะใช้ชุดไปรเวท ก็ต้องรู้จักการใส่ชุดสุภาพด้วย
อย่างไรก็ดี การรณรงค์ให้ยกเลิกบังคับชุดนิสิต-นักศึกษานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ฝ่ายที่สนับสนุนให้บังคับใส่ชุดนิสิต-นักศึกษาก็มองว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ เป็นความภาคภูมิใจในสถาบัน ทำให้แยกนิสิต-นักศึกษากับบุคคลภายนอกได้ง่ายขึ้น ฯลฯ
ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้ยกเลิกการบังคับชุดนิสิต-นักศึกษาก็มองว่าการใส่เครื่องแบบไม่ได้ช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำได้จริง เพราะทุกวันนี้มีสิ่งที่แสดงความเหลื่อมล้ำได้มากกว่าเสื้อผ้า และเครื่องแบบก็ไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากนัก (เช่นชุดนิสิต-นักศึกษาหญิงต้องเลาะกระดุมออก กระโปรงที่ไม่มีกระเป๋า เข็มขัดที่ไม่มีห่วงร้อย ฯลฯ) หรือในแง่สิทธิมนุษยชน ไม่ควรมีการตีกรอบเยาวชนตามความคิดของผู้ใหญ่ รวมทั้งยังสามารถใช้บัตรนิสิต-นักศึกษาเพื่อยืนยันตัวตนของผู้เรียนได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมเรื่อยมา และในกรณีที้เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าทางคณะ หรือทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินอย่างไร แล้วข้อเรียกร้องของนิสิตจุฬาในครั้งนี้จะได้รับการพิจารณาหรือไม่
อ้างอิงจาก