มหาวิทยาลัยต่างๆ จะรับมืออย่างไร เมื่อนักศึกษาเริ่มหันมาใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (AI) ในการทำงานส่งอาจารย์มากยิ่งขึ้น?
นี่คือเรื่องราวของนักศึกษาคนหนึ่ง นามสมมติ ฮันนาห์ ที่ตัดสินใจใช้ AI ช่วยเขียนเรียงความ และเกือบต้องโดนโทษไล่ออก
“เรามีกำหนดส่งงานสองงานในเวลาไล่เลี่ยกันและฉันก็หมดแรงไปเลย” ฮันนาห์ เล่า “ฉันรู้สึกเครียดมาก และรู้สึกกดดันมากที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ฉันรู้สึกแย่มาก และสมองของฉันก็ยอมแพ้ไปเลย” ความสิ้นหวัง ประกอบกับความทุกข์ที่เผชิญจากการเป็นโรคโควิดไปด้วยในระหว่างนั้น ฮันนาห์จึงให้ AI ช่วยเขียนเรียงความหนึ่งเรื่อง
แต่หลังจากนั้น เธอกลับต้องเผชิญหน้ากับคณะกรรมการพิจารณาความประพฤติมิชอบทางวิชาการ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการไล่นักศึกษาที่ ‘โกง’ ออกไป เริ่มจากอาจารย์ได้ใช้ซอฟต์แวร์ตรวจจับ AI สแกนเรียงความของเธอ และพบว่ามีเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้สูงที่ฮันนาห์ใช้ AI ในการเขียนมันขึ้นมา
“ฉันได้คะแนนของงานนี้เป็นศูนย์ แล้วฉันก็ได้รับอีเมลจากอาจารย์ผู้สอนที่บอกว่า เราคิดว่ามีการประพฤติมิชอบทางวิชาการบางอย่าง” เดิมทีฮันนาห์คิดจะปฏิเสธ แต่เมื่อหลักฐานมันฟ้อง เธอจึงทนไม่ไหวและสารภาพว่าใช้ AI ช่วยเขียนเรียงความจริง
แต่ถึงอย่างนั้น คณะกรรมการได้ตัดสินว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่เอาผิดเธอ แม้เธอจะยอมรับเองก็ตาม โดยฮันนาห์เล่าว่า “ฉันเสียใจมากกับการตัดสินใจของตัวเอง ฉันทำได้ดีมาตลอด ได้อันดับหนึ่งหลายครั้ง และฉันคิดว่านั่นอาจเป็นปัญหาด้วย เพราะฉันจำเป็นต้องรักษาระดับเกรดนั้นเอาไว้ และมันผลักฉันให้เข้าสู่จุดที่ต้องใช้ AI ช่วยจริงๆ”
เรื่องราวในลักษณะเดียวกันอาจไม่ได้กำลังเกิดแค่กับฮันนาห์เท่านั้น เพราะการมาถึงของ AI ได้กลายเป็นประเด็นท้าทายของสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘Generative AI’ ที่อาศัยข้อมูลในอดีตจำนวนมหาศาล ในการประมวลผลออกมาเป็นชิ้นงานตามคำสั่งของมนุษย์ได้เพียงแค่พิมพ์คำสั่งลงไปผ่านปลายนิ้ว
นำมาซึ่งโจทย์ท้าทายว่า สถาบันการศึกษาจะทำอย่างไรให้นักศึกษามีความรู้เท่าทัน AI แต่ก็นำมาใช้อย่างถูกวิธี?
มหาวิทยาลัยบางแห่ง มีมาตรการห้ามใช้ AI เว้นแต่จะได้รับอนุญาตโดยเฉพาะ บางแห่งอนุญาตให้ใช้ AI เพื่อระบุข้อผิดพลาดในไวยากรณ์หรือคำศัพท์ หรืออนุญาตให้ใช้เนื้อหา AI เชิงสร้างสรรค์ แต่จะต้องอ้างอิงอย่างครบถ้วน
สำหรับในประเทศไทย บางมหาวิทยาลัยได้ออกข้อกำหนดการใช้ AI ในการศึกษาเช่นกัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศ ‘หลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาฯ’ ในเดือนกรกฎาคม 2566 ระบุว่า หากรายวิชาใดอนุญาตให้นิสิตใช้ AI ผู้สอนควรออกแบบการประเมินผลให้เหมาะสม และหากมีการใช้ จะต้องอ้างอิงและระบุขอบเขตการนำมาใช้ให้ชัดเจน รวมถึงห้ามนำข้อมูลที่เป็นความลับ และข้อมูลส่วนบุคคล อัปโหลดเข้าระบบ AI โดยไม่ได้รับความยินยอม
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศ ‘หลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการเรียนการสอน’ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยระบุรายละเอียดไว้หลายประการ แต่ในภาพรวมมีมาตรการที่คล้ายคลึงกัน คือ จะต้องใช้ภายใต้หลักจริยธรรมทางวิชาการ และผู้สอนต้องอธิบายถึงขอบเขตที่ให้นักศึกษาใช้ในรายวิชานั้นๆ ได้ให้ชัดเจน
Universities UK ซึ่งเป็นองค์กรรองอธิการบดีและอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเครื่องมือ AI ในการสอบและการประเมินผล […] ทั้งหมดมีจรรยาบรรณในการประพฤติตน มีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับนักศึกษาที่ส่งงานที่ไม่ใช่ของตนเอง”
โฆษกของกระทรวงศึกษาธิการสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “Generative AI มีศักยภาพอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา และมอบโอกาสที่น่าตื่นเต้นสำหรับการเติบโต อย่างไรก็ตาม การบูรณาการ AI เข้ากับการสอน การเรียนรู้ และการประเมินผลจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ”
อ้างอิงจาก