สัตวแพทย์ระบุว่า สาเหตุที่ลูกแพนด้าแดง วัย 3 เดือน เสียชีวิตที่สวนสัตว์แห่งหนึ่ง ในสกอตแลนด์ มาจากอาการตื่นตระหนก เพราะ ‘การจุดพลุและดอกไม้ไฟ’ ในงานเฉลิมฉลองประจำปี พร้อมเรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมการจุดพลุที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา สวนสัตว์เอดินเบอระ (Edinburgh zoo) รายงานว่า ร็อกซี แพนด้าแดงวัย 3 เดือน ได้เสียชีวิต หลังจากสำลักและอาเจียนอย่างหนัก โดยผู้ดูแลสวนสัตว์เชื่อว่าอาการดังกล่าว เกิดจากความเครียดและตกใจ จากเสียงพลุและดอกไม้ไฟที่ดังอย่างต่อเนื่อง
ในวันเดียวกันนั้น มีการเฉลิมฉลองวันกาย ฟอกส์ (Guy Fawkes Day) หรือที่คนในสหราชอาณาจักร เรียกว่า คืนแห่งกองไฟ (Bonfire Night) ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งผู้คนออกมาจุดดอกไม้ไฟและกองไฟ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ ในปี 1605 ที่มีความพยายามลอบปลงพระชนม์กษัตริย์อังกฤษ ด้วยการระเบิดรัฐสภา ที่แม้จะล้มเหลว แต่ทำให้คนรุ่นหลังใช้ กาย ฟอกส์ คนสำคัญของแผนการ เป็นสัญลักษณ์รำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น
“น่าเศร้ามากที่ในคืนวันจุดพลุ มันสำลักและอาเจียนอย่างหนัก และสัตวแพทย์ของเรา เชื่อว่านี่อาจเป็นปฏิกิริยาต่อดอกไม้ไฟ” เบน ซัพเพิล (Ben Supple) เจ้าของสวนสัตว์เอดินเบอระกล่าว พร้อมเล่าว่า ในวันเกิดเหตุ “ร็อกซีเข้าไปหลบในถ้ำของมันได้ แต่เสียงพลุที่น่ากลัวนั้น หนักหนาเกินจะทนได้”
เขากล่าวว่า 5 วันก่อนหน้านั้น แม่ของร็อกซีเพิ่งเสียชีวิต ทำให้มันต้องกินอาหารด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามสวนสัตว์รายงานว่า มันได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ซัพเพิลเชื่อว่าสาเหตุการตายของร็อกซี มาจากความเครียดสะสม จากเสียงดังต่อเนื่องตั้งแต่วันฮาโลวีน
ทั้งนี้แพนด้าแดง ถือเป็นสัตว์อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคาม จากการบุกรุกของมนุษย์ การสูญเสียที่อยู่อาศัย และการลักลอบล่าสัตว์ โดยปัจจุบันแพนด้าแดงได้รับการคุ้มครอง ในอินเดีย ภูฏาน จีน เนปาล และเมียนมาร์ และอาจอาศัยตามธรรมชาติไม่ถึง 10,000 ตัว
“เราขอเรียกร้ององค์กรเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ ให้ห้ามการขายดอกไม้ไฟให้ประชาชนทั่วไป โดยอนุญาตให้มีการแสดงดอกไม้ไฟ เฉพาะในงานที่มีจัดการอย่างรัดกุมเท่านั้น” ซัพเพิลกล่าว
ล่าสุดประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ได้ลงนามในข้อเรียกร้อง เพื่อให้มีกฎหมายควบคุมการใช้ดอกไม้ไฟ ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยจะส่งไปที่สำนักงานของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ภายในเดือนนี้ อีกทั้งราชสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ (Royal Society for the Prevention of Cruelty to Animals หรือ RSPCA) หรือองค์กรการกุศลเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ ก็ได้รณรงค์ประเด็นดังกล่าวเช่นกัน
ในช่วงเทศกาลที่มีผู้คนออกมาเฉลิมฉลองอย่างมีความสุข ในด้านหนึ่งการจุดพลุและดอกไม้ ทำให้วันสำคัญมีสีสันมากขึ้น แต่ในอีกมุม ก็มีข้อสังเกตว่า มีสัตว์มากมายที่ได้รับผลกระทบ แม้การดูแลสัตว์อย่างรัดกุม อาจเป็นทางหนึ่งที่เจ้าของสามารถช่วยได้ แต่ยังมีสัตว์อีกหลายตัว ที่ไม่มีใครคอยดูแล ทำให้ปัญหาเรื่องเสียงพลุและดอกไม้ไฟในงานเทศกาล ยังคงสร้างความกังวลอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิงจาก