สีสันสดใส ประกายไฟหลากสี เสียงที่ดังก้องปฐพี ประกาศเป็นสักขีบนฟ้ายามราตรี
ท่ามกลางเสียงเฮ เสียงปรบมือ เสียงตะโกน “ไชโย ไชโย” กู่ร้องบอกให้โลกใบนี้รู้ว่า เรากำลังเฉลิมฉลองให้กับเทศกาลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลอยกระทง วันขึ้นปีใหม่ ฯลฯ ผ่านเสียงที่ดังสนั่น ผ่านความสวยงามหลากสีสันของพลุที่จุดประกายขึ้นบนท้องฟ้าอันมืดสนิท เรากำลังประกาศให้โลกรู้ว่า นั่นคือช่วงเวลาแห่งความสุข หนึ่งในช่วงเวลาดีๆ ของชีวิต ณ ขณะนั้น
พลุหรือดอกไม้ไฟ (Firework) หนึ่งในสัญลักษณ์ของเทศกาลการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ ทว่าปัจจุบันผลกระทบที่เราได้รับจากความสวยงามของพลุหลากสีสัน คงหนีไม่พ้นเรื่องมลพิษทางอากาศ (ซึ่งรวมไปถึงฝุ่น PM 2.5) ที่เกิดขึ้น เพราะส่วนประกอบของพลุคือสารเคมีชนิดต่างๆ มาผสมและประกอบกัน เป็นสารพิษที่อันตรายหากสูดดมเข้าสู่ร่างกาย หนำซ้ำยังเป็นปัญหาเรื่องมลพิษทางเสียงที่มีความดังมากเกินกว่า 130 เดซิเบลเลยทีเดียว
แน่นอนว่าปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียง ย่อมมีผลต่อสุขภาพของเราทุกคน ซึ่งนั่นเองก็อาจเป็นราคาที่คนทั่วโลกต้องก้มหน้าจ่ายให้กับความสวยงามของพลุที่ถูกจุดขึ้นบนฟ้า แต่วันนี้ The MATTER ชวนไปดูอีกหนึ่งราคาแพงที่ใครบางคนถูกบีบบังคับให้ต้องจ่าย ด้วยความเจ็บปวดและความบอบช้ำทางจิตใจ ให้กับเทศกาลแห่งความสุขด้วยเช่นกัน
ทราย, อายุ 36 ปี
เราเป็นคนต่างจังหวัด บ้านที่อยู่มีลักษณะเป็นชุมชนคืออยู่ติดๆ กันหลายบ้าน ผู้คนบ้านใกล้เรือนเคียงจะรู้จักกันหมดเลย ทุกครั้งเวลาจุดพลุมักมีเสียงเด็กเล็กร้องไห้กันจ้าในซอย เพราะเสียงมันดังมาก เมื่อก่อนบ้านเราเคยเลี้ยงหมาอยู่ตัวหนึ่ง เป็นหมาที่ทุกคนในบ้านรักมากๆ เค้ามาอยู่เป็นเพื่อนแม่เราที่เอาแต่เศร้าซึมหลังจากพ่อเสีย เรียกง่ายๆ ว่าแม่เรากลับมาปกติดีได้ เพราะมีหมาเป็นเพื่อนนี่แหละ แต่ทุกครั้งที่แถวบ้านจุดพลุหรือประทัดในช่วงเทศกาลลอยกระทงและปีใหม่ บ้านเราก็จะเก็บน้องไว้ในห้องพร้อมกับกอดปลอบไว้
แต่เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือวันหนึ่งก็มีการจุดพลุขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ หมาที่แม่เราเลี้ยงไว้ตกใจและวิ่งเตลิดหายออกจากบ้านไป เราพยายามหาทุกที่ ทั้งติดป้ายและประกาศในออนไลน์แล้วยังไงก็หาไม่เจอ แม่เรากินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้คิดถึงหมาที่หายไปจากเสียงพลุทุกวันเป็นเดือนๆ ทุกวันนี้แม่เราก็ยังพยายามตามหามันอยู่เพราะ “วันนั้นแม่ยังไม่ได้กอดมันเลย แม่ไม่รู้ว่าจะเป็นวันสุดท้ายที่ได้อยู่ด้วยกัน”
เรารู้สึกว่าการเฉลิมฉลองในงานเทศกาลต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความสุข มันควรจะแบ่งปันความสุขให้คนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่มีความสุขกันแค่แป๊บเดียว แล้วไปสร้างความทุกข์ในใจให้คนอื่นไปตลอด แล้วก็อยากให้คนที่จุดพลุหรือประทัดแจ้งให้คนบ้านใกล้เรือนเคียงรู้ด้วย
กีรติ, อายุ 24 ปี
เราเลี้ยงแมวอยู่ 1 ตัว ตอนนี้อายุประมาณ 3 ปีแล้ว แรกๆ เลี้ยงในคอนโด แมวเราจะไม่เคยเจอเสียงดังที่ชวนให้ตกใจเลย จนเราเรียนจบและย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัด เราเลยเอาแมวให้เดินเล่นในบ้านได้แบบไม่ได้ขังกรงไว้ แล้ววันหนึ่งก็มีการจุดพลุที่งานวัดแถวบ้าน แมวเราวิ่งหนีเตลิดไปเลย หากันอยู่หลายชั่วโมงและโชคดีที่เจอว่าแมวเราซุกตัวอยู่ใต้โต๊ะเก็บของข้างบ้าน หลังจากวันนั้นแมวเราก็ยังช็อกอยู่หน่อยๆ ไม่ค่อยกินข้าว-กินน้ำ ซึมไปช่วงหนึ่ง และระแวงเสียงที่ดังมากขึ้น
หลังจากนั้นทุกครั้งที่เรารู้ว่าจะมีการจุดพลุ เราจะขังตัวเองกับแมวไว้ในห้องแล้วนั่งกอดปลอบ นั่งปิดหูแมวจนกว่าเค้าจะจุดพลุเสร็จกัน แต่บางเทศกาลกลับจุดพลุต่อเนื่องเป็นชั่วโมง เราต้องเห็นแมวตัวสั่น วิ่งหาที่ซุกทุกครั้งเวลามีการจุดพลุ เราทรมานใจทุกครั้งที่ต้องเห็นแมวของเราตกใจจนกินข้าวไม่ได้ เพราะน้องพูดไม่ได้ และเราก็ไม่รู้เลยว่าเสียงที่น้องได้ยินมันดังขนาดไหน ถ้าครั้งต่อๆ ไปเรารับมือไม่ทัน แมวเราจะยังมีชีวิตอยู่ไหม
เรายังไม่เห็นผลดีของการจุดพลุสักอย่าง แต่ถ้าจำเป็นต้องจุดจริงๆ คิดว่าควรเอาแต่พอดี เราไม่ได้พูดในฐานะคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะต่อให้ไม่ได้เลี้ยงแมว แต่ถ้าต้องมาฟังเสียงดังๆ เป็นเวลาหลายนาที หรืออาจจะถึงชั่วโมงจากการฉลองอะไรบางอย่าง มันก็น่าเหนื่อยหน่ายใจ อยากให้ภาครัฐเข้มงวดในกฎเกณฑ์สำหรับการจุดพลุ ให้ต้องมีการขออนุญาต และทำประกาศเรื่องระยะเวลาของการจุดว่า จะจุดกี่โมง จุดนานเป็นเวลานานเท่าไร เพราะคนทั่วไปจะได้รับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ทัน
พุดดิ้ง, อายุ 25 ปี
ปกติบ้านเราได้รับมลพิษทางเสียงบ่อยๆ อยู่แล้ว ทั้งจากเสียงร้านเหล้า หรือเสียงพลุที่จะจุดพลุตามเทศกาล ด้วยความที่บ้านอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวไม่เกิน 3 กิโลเมตร และบ้านเรายังอยู่ในชุมชน ไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรรที่สามารถเลือกทำเลสงบๆ ได้ ก็จะได้ยินเสียงพลุตลอดจากงานปีใหม่ ตอนกลางวันถ้าเป็นช่วงวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่เขาจะยิงสลุตปืนใหญ่ก็ยังได้ยิน ได้ยินแม้แต่ประทัดในวันตรุษจีนในตอนกลางวัน ซึ่งบางทีเราไม่รู้เวลาเลยว่าเขาจะจุดกันตอนไหน หรือต่อให้รู้ เขาก็จะจุดติดกันหลายวัน และถ้าเป็นช่วงเทศกาลใหญ่ๆ แล้ว เวลาเช้ามืดก็ยังมีคนจุดพลุกันอยู่เลย
ทุกคนอาจจะคิดว่าทุกครั้งที่จุดพลุมันถ่ายรูปสวย เป็นคอนเทนต์ที่ดี แต่มันทำให้เรานอนหลับได้ไม่เต็มตาสักวันเหมือนคนประสาทแดก ได้ยินเสียงนิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องตื่น อย่างช่วงนี้กำลังจะมีงานพลุแถวสะพานที่อยู่ ซึ่งเขาจะจุดพลุตอนประมาณสามทุ่ม นั่นแปลว่าเราจะไม่มีทางได้นอนเร็วกว่านั้นเลย ยิ่งตอนปีใหม่ เสียงพลุทำให้หมาที่เราเลี้ยงตกใจกลัวจนฉี่แตก ใจเต้นจนเกือบหัวใจวาย ทุกๆ ปีเราต้องเอาผ้าห่มมาพันตัวน้องแล้วนั่งกอดไว้ แล้วลองคิดดูว่าถ้าเป็นหมาจรจัดจะทำยังไง ทั้งหมดนั้นยังไม่นับรวมการหายไปของแมวจรจัดที่ชอบแวะเวียนมาบ้านเราเป็นสิบๆ ตัว จนทำให้เราต้องมานั่งคิดว่า ทำไมชีวิตเราถึงเลือกไม่ได้ว่าเราอยากนอนข้ามปีโง่ๆ โดยที่ไม่มีเสียงรบกวน
เราไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นจะได้รับสาส์นเหล่านี้ไหม แต่คนที่ได้รับผลกระทบยังมีอยู่มาก การเฉลิมฉลองยังมีอีกหลายรูปแบบที่ไม่รบกวนคนอื่น ซึ่งสำหรับการจัดงานต่างๆ เราอยากให้มั่นใจว่าพื้นที่การแสดงแสง สี เสียงไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชุมชน เพราะมันคือเรื่องของกาลเทศะพื้นฐาน ความเกรงใจต่อเพื่อนบ้าน ชุมชนถือเป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ คุณอยากฉลองความสุขของคุณด้วยการจุดพลุดังๆ เราก็อยากมอบความรักของเราให้สัตว์เลี้ยงด้วยความปลอดภัยมากๆ เหมือนกัน เราหวังว่าในอนาคตผู้คนจะตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น หรือมีมาตรการที่ทำให้งานเทศกาลสนุกได้แบบไม่มีใครต้องเดือดร้อน
Bsk, อายุ 24 ปี
บ้านเราอยู่ใกล้กับห้างใหญ่ย่านฝั่งธนฯ ย่าอายุกว่า 80 ปี นอนหลับไม่สนิททุกครั้งที่มีการจุดพลุ เพราะเวลาเสียงดังมากๆ ย่าจะสะดุ้งตื่นแล้วเพ้อ ก่อนจะนอนกึ่งหลับกึ่งตื่นตลอดคืน แล้วต้องมานอนในช่วงกลางวันแทน นั่นทำให้เรากังวลเรื่องสุขภาพของย่า เพราะคนสูงอายุควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอและสม่ำเสมอ แถมละแวกบ้านเรายังมีสัตว์จรจัดที่จะส่งเสียงร้อง เพราะตกใจเสียงพลุ ก่อนจะวิ่งกระเจิงกันไปทั่ว
บางครั้งเสียงของพลุมันดังมากจนไม่ใช่แค่คนสูงอายุ หรือสัตว์ต่างๆ ที่ตกใจ แม้แต่ตัวเราเองยังรู้สึกตกใจเสียงของพลุทุกครั้งที่ไม่ได้รับการบอกกล่าว หรือได้รับการแจ้งเตือนจากทางเขต ตัวเราไม่แน่ใจว่าเขามีกฎหมาย หรือข้อบังคับของการจุดพลุหรือเปล่า เพราะทุกครั้งที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่เคยมีผู้จัดมารับผิดชอบเรื่องสัตว์ต่างๆ รวมถึงมลพิษทางเสียงของบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่จัดจุดพลุเลย เราเคยทักท้วงหาประกาศแจ้งเตือนชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ที่จุดพลุ ก่อนจะได้รับคำกล่าวอ้างว่าได้ประกาศไปแล้วผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเราเองไม่เห็นด้วย เพราะพื้นที่อยู่อาศัยมีลักษณะเป็นชุมชน และไม่ใช่ทุกคนในชุมชนจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
เมื่อก่อนนี้เราเคยรู้สึกสงบ และพอรับได้เวลามีเสียงพลุที่ถูกจุดขึ้นตามงานเทศกาลวันสำคัญเท่านั้น แต่การจุดพลุในช่วงหลังๆ มีบ่อยขึ้นมากจนมันกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เราเลยอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลประชาชน โดยมีมาตรการที่เข้มแข็งต่อภาคเอกชน และอยากให้ภาคเอกชนหรือบุคคลทั่วไปเห็นใจพื้นที่ใกล้เคียง ไม่อยากให้จุดพลุพร่ำเพรื่อ เพราะยังมีคนหวาดระแวงต่อสะเก็ดไฟของพลุ ว่าจะตกถึงบ้านเรือนของตัวเองในวันไหน
น, อายุ 28 ปี
ตอนจุดประทัดและพลุในช่วงเทศกาล บ้านเราจะปิดประตูและหน้าต่างทุกบาน เพื่อให้เสียงเข้ามาได้น้อยที่สุด เพราะเราเลี้ยงนกแก้ว และนกแก้วเป็นสัตว์เซนซิทีฟ ถ้าวันไหนที่จุดกันนานมากๆ เราต้องเก็บน้องไว้ในตะกร้าก่อนจะเอาผ้าคลุมและพาเข้าห้อง
ทุกครั้งที่มีเสียงดังจากการฉลองในงานต่างๆ นกแก้วที่เลี้ยงไว้ในช่วงแรกจะตื่นตัวผิดปกติและตกใจง่าย พอเราปล่อยน้องให้ออกมาบินตามปกติ น้องก็จะบินชนตู้กระจกและกำแพง แล้วถ้าเกิดบินชนแรงๆ ก็อาจจะทำให้น้องคอหักได้ อีกทั้งแถวบ้านเรามีหมาจรจัดของข้างเยอะ ทุกครั้งเวลาขับรถกลับบ้านตอนกลางคืน จะมีหมาจรฯ วิ่งตัดหน้ารถ เพราะตกใจเสียงพลุ และก็เป็นโชคดีที่เราไม่ได้ขับรถเร็วมากเลยไม่เกิดอุบัติเหตุอะไร
มนุษย์ไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกใบนี้ แค่ดำเนินกิจวัตรประจำวันก็ทำลายโลก สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอยู่มากแล้ว เพราะงั้นเราเลยคิดว่าอะไรที่ลดได้ก็ควรลด มันจะได้ส่งผลกระทบที่ไม่ดีให้น้อยลง
ทั้งนี้หากมองไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันในประเทศอังกฤษเอง แม้จะมีกฎหมายจำกัดการขายดอกไม้ไฟเฉพาะวันหยุดบางวันในหนึ่งปี รวมถึงกฎเกณฑ์การควบคุมระยะห่างระหว่างผู้ชมกับสถานที่ที่จุดพลุแล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมาย เพื่อควบคุมการใช้พลุในพื้นที่สาธารณะใหม่ เพราะพบว่าคนและสัตว์ยังคงได้รับความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจจากดอกไม้ไฟ
เช่นเดียวกับดิสนีย์แลนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอลังการของพลุ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงและถูกร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ซูซี่ บราวน์ (Suzi Brown) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสัมพันธ์และการสื่อสารภายนอกของดิสนีย์แลนด์รีสอร์ท ได้ออกมากล่าวถึงการรับมือต่อปัญหาที่ถูกร้องเรียนว่า “ดิสนีย์แลนด์ใช้นวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีการยิงทางอากาศ ที่ทำให้สามารถลดระดับควันและเสียงของดอกไม้ไฟได้”
ส่วนประเทศไทย ทนายความพีรภัทร ฝอยทอง ได้ให้ข้อมูลผ่าน Thai PBS ไว้ในปี 2565 ว่าในไทยมีกฎหมายกำหนดการจุดดอกไม้เพลิง (พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นที่มีสภาพคล้ายกัน) คือมีโทษไปตั้งแต่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ไปถึงการทำให้เกิดเสียงดังจนผู้อื่นตกใจ และสำหรับการจุดดอกไม้เพลิงเพื่อเฉลิมฉลองเพียงเล็กน้อย กลับไม่มีการระบุไว้ว่าต้องขออนุญาต แต่หากเป็นการจุดดอกไม้เพลิงสำหรับงานระดับใหญ่ในพื้นที่สาธารณะจะต้องขออนุญาตจากท้องถิ่น ทั้งยังต้องแจ้งกำหนดการและระยะเวลาให้ทางการทราบ และในปี 2566 สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดกำชับอำเภอ ในการพิจารณาอนุญาตการจุดและปล่อยดอกไม้เพลิงของประชาชนและผู้จัดงานสถานที่ต่างๆ โดยมีการระบุโทษในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนไม่ขออนุญาตก่อน
ทว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำหลังจากขออนุญาตจุดพลุ หรือประทัดสำหรับการเฉลิมฉลองแล้ว คือการแจ้งเพื่อนบ้าน หรือผู้คนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงจากบริเวณที่จะจุดดอกไม้เพลิงด้วย เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมรับมือและดูแลเด็กเล็ก ผู้ป่วย คนชรา รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่ตัวเองรัก เพราะเมื่อเป็นการเฉลิมฉลองในเทศกาลแห่งความสุขแล้ว เราทุกคนก็ควรจะมีความสุขไปอย่างพร้อมหน้ากัน
ไม่อย่างนั้นความสุขเพียงชั่วครู่คราว อาจสร้างแผลใจอันยาวนานให้กับใครบางคนได้
อ้างอิงจาก