“สัตว์ที่ถูกขายส่วนใหญ่เป็น ‘ลูกสัตว์’ ที่ทุกข์ทรมานตั้งแต่ลืมตาดูโลก เพราะเติบโตในฟาร์มที่แออัด และยังต้องเดินทางไกล เพื่อมายังตลาดที่ไม่ได้มีสภาพแวดล้อมดีไปกว่ากัน” มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ ระบุ
เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ตลาดนัดจตุจักรในโซนสัตว์เลี้ยง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายมหาศาลให้ทั้งกับผู้ประกอบการ และกับสัตว์หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว งู และนก ที่ไม่สามารถพาตัวเองหนีจากไฟที่ลุกลาม จนเกิดภาพอันน่าหดหู่ใจ เพราะมีสัตว์จำนวนมากที่ตายในกรงขัง กล่อง หรืออะไรก็ตามที่พวกมันอาจมองว่าเป็นบ้าน
ทั้งนี้ เรื่องราวดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแก่สังคม โดยเฉพาะผู้ที่รักสัตว์ที่ต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงสวัสดิภาพของสัตว์เหล่านี้ว่า ทำไมพวกมันต้องถูกจองจำอยู่ในกรงแคบๆ เพื่อรอว่าสักวันหนึ่งจะมีใครสักคนมาซื้อ ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่าธุรกิจค้าขายสัตว์ยังควรมีหรือไม่?
The MATTER จึงนำข้อสงสัยทั้งหมดต่อประเด็นนี้ไปพูดคุยกับ มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ ที่คอยติดตามการค้าขายสัตว์ในตลาดนัดจตุจักรอย่างต่อเนื่อง และ หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เพื่อมาเติมเต็มคำตอบโดยเฉพาะ ‘ทางออก’ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก
การค้าสัตว์ในตลาดนัดจตุจักรเป็นเหมือน ‘ระเบิด’ ที่รอวันระเบิด
“ในฐานะที่เป็นคนรักสัตว์คนหนึ่ง และทำงานในด้านนี้ด้วย เรารู้สึกว่าปัญหาทั้งหมดในตลาดนัดจตุจักรเป็นเหมือนระเบิดที่รอการระเบิด (explore) ออกมา สังคมเหมือนเก็บการค้าสัตว์ไว้ใต้พรม ทั้งสิ่งแวดล้อมที่สัตว์ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง (pet) หรือ สัตว์ป่า (wild life)” หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่าจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ระบุ
องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ กล่าวเพิ่มว่า เรามองว่าไม่มีใครอยากพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตลอดที่ผ่านมาอาจจะมีคนบ่นบ้าง เช่น ในโซเชียลมีคนโพสต์ว่าซื้อหมาที่จตุจักรมาเพียง 2 อาทิตย์ แล้วก็ตาย ดังนั้น เราจึงคิดว่าทุกคนรู้ว่ามีสิ่งนี้ รู้มาตลอดว่าร้านส่วนใหญ่ปฏิบัติกับสัตว์อย่างไร แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้รับความสนใจมากพอ จนกระทั่งเกิดเหตุไฟไหม้ เสียงของปัญหาเลยดังขึ้นมา จนภาครัฐต้องออกมาแถลงถึงมาตรการที่จะปฏิบัติหลังจากนี้
“เราไม่ได้อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เรื่องที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมถูกแผ่ออกมา จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งการกระทำนี้เหมือนเป็นตัวแทนของเสียง ที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรให้กับตัวเองได้”
ฉะนั้นแล้ว เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในนิมิตหมาย ที่ผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองไปข้างหน้าว่า จะทำอย่างไรกับตลาดค้าสัตว์ที่ไม่ใช่แค่ที่จตุจักร แต่รวมไปถึงทางด้านกฎหมายและนโยบาย ที่จะมาควบคุมทั้งสถานที่ดูแลสัตว์ และสถานที่เพาะพันธุ์สัตว์
ไทยมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ แต่ไม่ถูกบังคับใช้อย่างแท้จริง
ตัวแทนจากมูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ กล่าวว่า สัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาดมักยังไม่ถึงวัยที่ได้รับการฉีดวัคซีน (ต้องมีอายุ 2 เดือนขึ้นไป) ทำให้ทางมูลนิธิวอชด็อกต้องประสานเรื่องไปที่กรมปศุสัตว์ เมื่อ 4-5 ปีก่อน จนมีการออกกฎหมายการเพาะพันธุ์สัตว์ แต่มีเพียง ‘มาตรฐาน’ ที่ระบุแค่ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ ไม่ใช่กำหนดว่าจำเป็นต้องทำ ส่งผลให้ทุกวันนี้แทบไม่มีการควบคุมหรือป้องกันอะไร
“ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ธุรกิจค้าสัตว์โหดร้ายมาก ถ้าจะแก้ไขควรเริ่มตั้งแต่มาตรฐานการทำฟาร์มเพาะพันธุ์ ที่ควรจัดเป็นมาตรฐานบังคับ ทางกรมปศุสัตว์จะได้มีอำนาจในการไปตรวจสอบและใช้กฎหมาย ตราบใดที่ยังไม่มีมาตรฐาน ก็ไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุได้เลย”
มูลนิธิฯ เสริมว่า เราหวังว่ากรมปศุสัตว์จะบังคับใช้กฎหมาย หรืออย่างน้อยควรตรวจสอบผู้ขาย ที่มีสถานะเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นปัญหาจะคงเรื้อรังไม่จบไม่สิ้น
นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ยังให้คำตอบเกี่ยวกับกฎหมายเพิ่มเติมอีกด้วย โดยระบุว่า กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบตามประเภทของสัตว์ ดังนี้
- สัตว์เลี้ยง องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ชี้ว่า สัตว์กลุ่มนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีการออกประกาศมากมายเกี่ยวกับกฎหมายการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในสถานที่จัดจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ครอบครองจะต้องเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่เหมาะสม ที่พวกสัตว์สามารถเคลื่อนไหวตัว และสามารถแสดงพฤติกรรมธรรมชาติได้
เช่น นกจะต้องมีพื้นที่สำหรับกางปีก หรืองูที่ต้องมีพื้นที่สำหรับยืดตัว กระต่ายต้องมีพื้นที่ให้หลบซ่อน เพราะตามสัญชาตญาณของกระต่ายถือเป็นสัตว์ถูกล่า ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวครอบคลุมทั้งการค้าขายและแลกเปลี่ยนสัตว์ เพื่อประโยชน์ทางการค้า นอกจากนี้ กฎหมายเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ยังระบุว่า สัตว์ที่อยู่ในการดูแลต้องไม่เกิดความรู้สึกกลัว เครียด เจ็บปวด หรือทุกข์ทรมาน
ทว่าในตลาดนัดจตุจักร เราจะเห็นห้องแถวแคบๆ ที่อยู่ติดกัน ซึ่งสัตว์ก็มักจะอยู่กันอย่างแออัดในกรงหรือโหล ดังนั้นแล้ว แม้ว่าไทยจะมีกฎหมาย ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ แต่สถานที่ในลักษณะนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ จึงเกิดการตั้งคำถามว่า ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายหรือไม่
“มนุษย์ถือเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง ตรงกันข้ามกับสัตว์ที่ทั้งถูกเพาะพันธุ์ ถูกขาย ถูกแลกเปลี่ยน ถูกเลี้ยง และยังต้องลุ้นกับชะตากรรมของตัวเองอีก ถ้าเจอคนรักสัตว์ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่ก็ต้องทนกับการถูกเลี้ยงอย่างปล่อยปละละเลย”
- สัตว์ป่า ในมุมมองว่าขององค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ เราไม่สนับสนุนให้มีการซื้อขายสัตว์ป่า ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม เพราะเราเชื่อว่า ไม่มีสัตว์ป่าตัวไหนที่จะได้รับการสนองความต้องการอย่างเหมาะสม ทำให้การนำพวกมันมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน ในพื้นที่ที่จำกัด พวกมันมักจะไม่ได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ จนเกิดความรู้สึกเครียดและส่งผลต่อสุขภาพและจิตใจได้ ไม่ต่างกับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว
“เรามองว่าไม่มีบ้านไหนจะเป็นบ้านที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์ป่า นอกจากบ้านที่แท้จริงของพวกมันซึ่งก็คือ ‘ป่า’ นั้นเอง” เพราะกว่าที่สัตว์ป่าจะกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงต้องผ่านการวิวัฒนาการหลายร้อยปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม รูปร่าง เช่น นกขมิ้น ที่ขณะนี้ถูกจัดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงแล้ว เนื่องจากสามารถปรับตัวมาจากนกคีรีบูนที่เป็นสัตว์ป่า
ดังนั้น ไม่ใช่สัตว์ป่าทุกชนิดจะเหมาะสมที่จะเป็นสัตว์เลี้ยง ผู้ที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ระบุว่า มีสัตว์ป่าหรือสัตว์สงวนประเภทใดบ้าง ที่สามารถขายหรือเพาะพันธุ์ได้ อีกครั้งว่า สัตว์ป่าเหล่านั้นอยู่ในครอบข่ายที่จะมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้จริงๆ หรือเปล่า
กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับสัตว์ของต่างประเทศ
องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ กล่าวว่า ข้อมูลงานวิจัยจากองค์กรที่ชื่อว่า ความจริงของการทำฟาร์มพันธุ์สัตว์ป่าทั่วโลก (Bred for profit) ที่พบว่า มีสัตว์ป่ากว่า 5.5 พันล้านตัวจากทั่วโลกถูกแสวงหาผลประโยชน์ ในเคสบ้านเราก็มีสัตว์ป่าที่ถูกขายเป็นสัตว์เลี้ยง ถูกกักขัง และถูกใช้งานเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ช้างและเสือ ซึ่งบางครั้งพอสัตว์เหล่านี้ตายลง ชิ้นส่วนร่างกายจะถูกนำไปทำเป็นสินค้าแฟชั่น ทำเป็นอาหาร หรือทำเป็นยาแผนโบราณ
มนุษย์ใช้ประโยชน์จากสัตว์อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะยังมีช่องโหว่ของกฎหมายจากประเทศนั้นๆ อยู่ จนเกิดการนำแนวคิดการพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับสมรรถภาพของมนุษย์ (Capability Approach) โดย อมรรตยะ เสน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1998 มาปรับใช้กับสัตว์เพื่อทำให้กฎหมายคุ้มครองสัตว์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้วยการนำสัตว์แต่ละสายพันธุ์มาพิจารณาขีดความสามารถในการอยู่ร่วมกับมนุษย์ ซึ่งพวกมันมีความต้องการที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากมนุษย์ไปรบกวน ขัดขวาง หรือยับยั้งพฤติกรรมทางธรรมชาติของสัตว์เหล่านี้ ก็จะถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและสามารถทำการฟ้องร้องได้
“ยกสายพันธุ์และความเป็นธรรมชาติของสัตว์เป็นที่ตั้ง อะไรที่ขัดกับสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิไม่ต่างกับมนุษย์ ผู้คนมากมายอยากให้แนวคิดนี้ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญเลย”
อย่างไรก็ดี องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ กล่าวว่า ที่ยกตัวอย่างข้างต้นยังเป็นแค่แนวคิด แต่มีบางประเทศที่นำไปปรับใช้ (adapt) บ้างแล้ว เช่น คอสตาริก้า ที่เป็นประเทศติดทะเล ทำให้ประชาชนให้ความสำคัญกับเต่าทะเลเป็นอย่างมาก จึงเกิดการเรียกร้องสิทธิตามธรรมชาติให้กับพวกมัน ด้วยการจะออกกฎหมายที่ยึดโยงกับแนวคิดของ อมรรตยะ เสน ขึ้นมา ดังนั้น หากใครทำน้ำมันรั่วไหลหรือทิ้งขยะ จนขัดขวางการใช้ชีวิตของเต่าทะเล คนเหล่านี้สามารถถูกฟ้องร้องได้
ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ยังยกตัวอย่างประเทศที่ใช้กฎหมายอย่างจริงจังแล้ว อย่างประเทศในแอฟริกาใต้ ที่มีการเพาะพันธุ์เสือสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อล่าสัตว์ป่า (trophy lion hunting) แต่ในท้ายที่สุด รัฐบาลก็สั่งแบนการเพาะพันธุ์เสือเพื่อป้อนธุรกิจดังกล่าว เมื่อปี 2021 อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับกระทบไม่ได้มีแค่เสือ แต่ยังรวมถึงแรงงานที่อยู่ในวงการนี้ที่ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย รัฐบาลจึงพยายามหาทางออกให้กับทุกฝ่าย
ในบางรัฐของสหรัฐฯ มีกฎหมายไม่ให้มีการซื้อขายสัตว์ ที่เกิดมาจากการเพาะพันธุ์ภายใต้การคัดเลือกสายพันธุ์ เช่น สุนัขหน้าสั้น หางสั้น ที่พวกเหมือนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อผู้ต้องการสุนัขในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สหรัฐฯ มีการออกกฎหมายไม่ให้ค้าขายลูกสัตว์เลี้ยง อนุญาตให้รับเลี้ยงเท่านั้น และประเทศสุดท้ายได้แก่ ออสเตรเลียที่ไม่ให้มีการค้าขายสัตว์แล้ว “ซึ่งตัวอย่างที่ยกมา ล้วนมีหมุดหมายเหมือนกันคือ เพื่อหยุดยั้งการเพาะพันธุ์เพื่อการค้าขาย (breeding profit)”
“ตราบใดที่เป็นการใช้สัตว์เพื่อหวังผลกำไรก็ล้วนเป็นปัญหาหมด ไม่ใช่แค่การค้าขายสัตว์ในตลาดนัดจตุจักร แต่ยังรวมถึงฟาร์มสัตว์ การโชว์สัตว์ตามห้างอีกด้วย” ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมาย โดยอาจนำแนวทางของประเทศอื่นมาปรับใช้ เพื่อคุ้มครองและป้องกันสิทธิและสวัสดิภาพของสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด
“ไม่สนับสนุนให้มีตลาดการค้าขายสัตว์ เพราะสัตว์บางชนิดโดยเฉพาะสัตว์ป่าควรได้อยู่ในธรรมชาติ ฉะนั้นหากใครต้องการเลี้ยงสัตว์ เราอยากเสนอให้รับเลี้ยงแทนการซื้อ (adopt don’t shop) เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมดังกล่าวดำเนินต่อไป” องค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ พูดทิ้งท้าย