ทั้งจากเหตุน่าสลดในเมืองจูไห่ ที่มีชายขับรถไล่ชนคนในศูนย์กีฬาจนมีผู้เสียชีวิต และหากย้อนกลับไปไม่นาน จีนก็เพิ่งจะเผชิญกับเหตุน่าสลดจากความรุนแรง อย่างการไล่แทงคนในที่สาธารณะ ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดความกังวล และการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความปลอดภัยในสังคม และอาจเรียกเหตุที่เกิดขึ้นว่า ‘การแก้แค้นทางสังคม’ ได้
เมื่อวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2024 มีรายงานว่า ชายวัย 62 ปี ขับรถไล่ชนคนรอบศูนย์กีฬาในเมืองจูไห่ จนมีผู้เสียชีวิต 35 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีก 43 ราย โดยตำรวจเปิดเผยว่า เกิดจากผู้ก่อเหตุมีความเครียด และแค้นต่อข้อตกลงการแบ่งทรัพย์สินในการหย่าร้าง
และเหตุการณ์นี้ จึงกลายเป็นเหตุการณ์ที่จุดชนวนคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงในที่สาธารณะในจีนปัจจุบันนี้
ในที่เกิดเหตุ มีผู้คนนำดอกไม้ พวงหรีด และของไว้อาลัยต่างๆ มาวางไว้มากมาย แต่เจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่ก็รื้อออกแทบจะทันที อย่างในวันพุธที่พนักงานส่งของได้ขับมอเตอร์ไซค์มาส่งดอกไม้ที่ที่เกิดเหตุอยู่เรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ก็รีบเก็บช่อดอกไม้ทันที บางครั้ง ถึงขั้นที่คนยังไม่สามารถนำช่อดอกไม้ไปวางบนพื้นด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกัน บนโซเชียลมีเดีย คนจำนวนหนึ่งพูดถึงเหตุการณ์นี้ ในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคม อย่าง ‘การแก้แค้นสังคม’ (Social Revenge) ซึ่งเป็นคำนิยามเหตุการร์ที่บุคคลต่างๆ ตอบสนองต่อความคับข้องใจส่วนตัวผ่านการทำร้ายคนแปลกหน้า
ความคิดเห็นหนึ่งที่กลายเป็นไวรัลบน Weibo มีใจความว่า “คุณมาแก้แค้นกับสังคมจากการที่ชีวิตครอบครัวของคุณไม่เป็นไปด้วยดีได้ยังไง? คุณพรากชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปมากมาย คุณจะมีจิตใจสงบสุขได้เมื่อไร?”
และยังมีผู้ใช้ WeChat แสดงความคิดเห็นว่า “หากขาดความมั่นคงในความปลอดภัยในวงกว้าง และมีความกดดันมหาศาลในการเอาตัวรอด… สังคมจะต้องเต็มไปด้วยปัญหา ความเกลียดชัง และความหวาดกลัว” รวมถึงมีผู้แสดงความเห็นถึงโครงสร้างสังคม ว่า “เราควรตรวจสอบปัจจัยทางสังคมที่หยั่งรากลึกซึ่งก่อให้เกิดการโจมตีผู้ที่อ่อนแออย่างไม่เลือกหน้ามากมาย”
หลายคนกล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุรุนแรงที่นองเลือดที่สุดในจีนในรอบหลายทศวรรษ แต่หากย้อนกลับไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็ได้มีหลากหลายเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น ในเดือนตุลาคม เกิดเหจตุการแทงกันที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในเซี่ยงไฮ้จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย และการใช้มีดทำร้ายในโรงเรียนในปักกิ่ง จนมีผู้บาดเจ็บ 5 ราย ซึ่งคนเรียกว่าเป็นการแก้แค้นสังคมเช่นกัน
ผู้วิจารณ์บอกกับ Radio Free Asia ว่า จีน พบเห็นการโจมตีในลักษณะที่เป็นการแก้แค้นทางสังคมหลายครั้ง ซึ่งรัฐบาลมองว่าการโจมตีเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ประกาศว่าผู้ก่อเหตุจะต้องได้รับ ‘การลงโทษอย่างรุนแรง’ โดยล่าสุดผ้ก่อเหตุถูกจับกุมแล้วในอาการโคม่า เนื่องจากเขาทำร้ายตัวเอง
อย่างไรก็ดี นอกจากที่คนจะวิจารณ์ตัวเหตุการณ์โดยตรง พวกเขายังกล่าวหาสื่อของจีนว่า แทบไม่ได้รายงานเหตุการณ์ดังกล่าว แต่กลับไปพูดถึงข่าวการแสดงทางอากาศของทหารมากกว่า
เนื่องจากเหตุการณ์น่าสลดที่เกิดขึ้นนี้ อยู่ในขณะเดียวกันกับการจัดนิทรรศการการบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งทุกๆ 2 ปีจะจัดแสดงความสำเร็จด้านการบินพลเรือนและการทหารของประเทศ และในปีนี้ยังมีการจัดแสดงเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ด้วย
แม้จะไม่มีข้อบ่งชี้ว่าทั้งสองเหตุการณ์มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็มีข้อสังเกตว่า สื่อจีนอาจรายงานข่าวระดับประเทศขนาดใหญ่เช่นนี้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อพยายามเซ็นเซอร์เหตุสลดที่เกิดขึ้น จนคนบางส่วนวิจารณ์ว่า “ในสายตาของผู้มีอำนาจ เครื่องบินมีความสำคัญมากกว่าชีวิตมนุษย์” เพราะช่วงชั่วโมงแรกๆ หลังเกิดเหตุ ไม่มีสถิติ หรือคำแถลงเปิดเผยออกมาเลย
โดยสำนักข่าว BBC Chinese รายงานว่า มีสื่อจีนหลายแห่งที่เผยข้อมูล ว่าช่วงไม่กี่ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ พวกเขาได้รับคำสั่งชัดเจนว่าไม่ให้รายงานข่าวนี้ หลังจากนั้น สื่อต่างๆ จึงเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการโจมตี โดยส่วนใหญ่มักอ้างอิงจากคำแถลงของตำรวจและสีจิ้นผิง
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวของภาครัฐอย่าง CCTV ไม่ได้กล่าวถึงการโจมตีดังกล่าวในรายงาน แต่รายงานการเดินทางของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไปยังอเมริกาใต้ และการแสดงทางอากาศที่เมืองจูไห่แทน
โรส ลู่ชิว (Rose Luqiu) ผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ของจีนที่มหาวิทยาลัยแบปติสต์ในฮ่องกง กล่าวว่า วิธีการเซ็นเซอร์ข่าวเหตุจูไห่ สอดคล้องกับวิธีที่ใช้กับเหตุการณ์อื่นๆ ในจีนที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
“การเซ็นเซอร์ถือเป็นเรื่องปกติ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ถูกเซ็นเซอร์เพื่อพยายามควบคุมเรื่องราว คำแถลงของตำรวจจะเป็นคำอธิบายอย่างเป็นทางการเพียงอย่างเดียว และพวกเขาจะไม่อนุญาตให้ผู้คนท้าทายหรือพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้” ลู่ชิวกล่าว
ลู่ชิวยังเปรียบเทียบถึงเหตุการณ์ในเดือนกันยายน ที่มีคนร้ายแทงเด็กนักเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่นทางตอนใต้ของจีน จนเสียงชีวิต ซึ่งถือเป็นการโจมตีพลเมืองญี่ปุ่นครั้งที่สองในปีนี้ ซึ่งสื่อจีนก็พยายามลดผลกระทบการเลียนแบบโดยการรายงานถึงเรื่องนี้อย่างน้อยที่สุดเช่นกัน
แม้ว่าข้อมูลจะชี้ว่าไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นชาวต่างชาติจากกรณีจูไห่ และไม่มีข้อบ่งชี้ว่าพลเมืองญี่ปุ่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ แต่สถานทูตญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่ง ได้ออกคำเตือนเมื่อวันอังคารหลังเกิดเหตุ โดยเตือนให้พลเมืองญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในจีน หลีกเลี่ยงการพูดภาษาญี่ปุ่นเสียงดังๆ ในที่สาธารณะ และหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกในเวลากลางคืน
นอกจากเรื่องการแก้แค้นทางสังคม ซึ่งเกิดมาจากการมีความเครียด หรือปัญหาชีวิตต่างๆ ยังมีเหตุการณ์ลักษณะอื่นๆ ในประเทศจีนที่อาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาชีวิตเช่นกัน เช่น ปัญหาฆ่าตัวตายในวัยรุ่น
จึงเป็นประเด็นที่น่าศึกษาและติดตามต่อไปว่า ขณะนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับสังคมจีน หรือมีปัจจัยกระตุ้นอะไรทั้งจากภายในและภายนอกหรือเปล่า ที่ทำให้คนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความปลอดภัยในระดับสังคม และระดับชาติ ที่ควรเร่งแก้ไขให้คนสบายใจในการใช้ชีวิตต่อไป
อ้างอิงจาก