ตื่นเช้า ออกมาทำงาน สัมผัสอากาศที่ยังไม่ร้อนมากเท่าไร แต่เมื่อลองหายใจเข้ากลับรู้สึกแสบจมูกอย่างบอกไม่ถูก นั่นก็เพราะ ‘ฝุ่น PM2.5’ ได้กลับมาอีกแล้ว จนกลายเป็นสิ่งที่คน (จำเป็นต้อง) ชินชาไปโดยปริยาย เพราะนี่ไม่ใช่ปีแรกที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับฝุ่นมหาศาลในช่วงต้นปีเช่นนี้
วันนี้ (8 มกราคม 2568) มีรายงานว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร ติดอันดับที่ 11 ค่าฝุ่นสูงสุดในโลก ซึ่งเกินมาตรฐาน และอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือระดับสีส้ม นอกจากนั้น ยังมีจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีค่าฝุ่นสูงสุดติดอันดับ 25 ของโลก
ดังนั้น สถานการณ์ฝุ่นที่กลับมารุนแรงอีกครั้งนี้ ทำให้น่าตั้งคำถามว่า ในเมื่อประเทศไทยต้องรับมือกับฝุ่นมาเป็นทศวรรษ แล้วทำไมเราจึงไม่มีมาตรการจัดการฝุ่นได้อย่างเด็ดขาด และจะต้องรอถึงเมื่อไรชาวไทยถึงจะมีอากาศสะอาดให้หายใจ
หนึ่งในเป้าหมายที่คนฝากความหวังไว้ คือ ‘พ.ร.บ. อากาศสะอาด’ โดยตอนนี้ เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวทั้ง 7 ฉบับที่เสนอโดยหลากหลายพรรค ผ่านที่ประชุมสภาฯ ด้วยมติเอกฉันท์ 433 เสียง และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.)
สถานะของร่างกฎหมายฉบับนี้ ในตอนนี้ คืออยู่ในชั้น ‘การประชุม’ ของคณะกรรมาธิการ ท่ามกลางกระแสทางสังคมที่มีคนพูดถึงและผลักดันประเด็นนี้อยู่เรื่อยๆ พร้อมกับความคิดเห็นจากนักการเมืองบางส่วน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นทางการใดๆ เพิ่มเติม
ขั้นตอนหลังจากนี้ จึงจะต้องรอติดตามว่าผลการพิจารณาของ กมธ. จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อไร และจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากเรียบร้อยแล้ว จะมีการเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ โดยคาดว่าจะเป็นช่วงเดือนมีนาคมนี้
หลังจากนั้น จะมีการเสนอร่างกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและลงมติในวาระ 2 และ 3 และให้วุฒิสภาพิจารณาวาระ 1-3 ซึ่งหากผลออกมาว่าผ่านการพิจารณาทั้งหมด ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
แม้อาจจะยังเหลือขั้นตอนที่ต้องผ่านไปให้ได้อีกไม่น้อย แต่ก็อาจเรียกได้ว่า การมาถึงของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด นั้น ใกล้จะเป็นความจริงเต็มที
พวกเราก็ยังต้องคอยลุ้นในรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร และกระบวนการพิจารณาจะราบรื่นหรือไม่ เพราะจะเป็นตัวตัดสินว่าคนไทยจะได้สิทธิในการหายใจด้วยอากาศสะอาด และมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตกี่โมง
อ้างอิงจาก