ตลอดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทุกคนคงเห็นข่าวการเจอซากพะยูนเกยตื้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า พะยูนตายเพราะประสบกับสภาวะขาดอาหาร
ปีนี้พระยูนตายไปราว 40 ตัว และระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตายไปเกือบ 80 ตัว ทำไมถึงเป็นเช่นนี้? The MATTER ทำการรวบรวมข้อมูล และพูดคุยกับ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ถึงปัญหาและทางออกของเรื่องนี้
ปัญหาพะยูน วิกฤตแค่ไหน?
ก่อนที่จะไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน The MATTER ขอชวนทุกคนทำความรู้จักสัตว์น้ำชนิดนี้กันก่อน
พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตอบอุ่นตั้งแต่ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก จวบจนถึงภูมิภาคโอเชียเนีย ที่ประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะต่างๆ ทั้งนี้ในประเทศไทย พะยูนจะมีหลักแหล่งอยู่ที่ทะเลอันดามันและอ่าวไทย
ส่งผลให้พวกมันจึงถูกจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แต่ถึงอย่างนั้นสถานะพะยูนก็ยังตกอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากพะยูนมีอัตราการตายถี่ขึ้น เฉพาะเดือนพฤศจิกายนนี้ ตายไปแล้วทั้งสิ้น 5 ตัว ซึ่งถูกพบที่บริเวณป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต, เกาะลิบง จังหวัดตรัง และเกาะปู จังหวัดกระบี่
ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน คาดว่า สาเหตุการตายเกิดจากอาการป่วยเรื้อรังจากภาวะขาดอาหารเป็นเวลานาน เพราะพื้นที่ที่พบซากพะยูน ถือเป็นแหล่งหญ้าทะเล–อาหารหลักของพะยูน ที่จะอยู่ตามแถบชายฝั่งและน้ำตื้น
ก้องเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรฯ กล่าวว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียพะยูนไป 154 ตัว หรือเฉลี่ยปีละ 25 ตัว ซึ่งอัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบระหว่างปี 2548-2561
“ตลอด 2 ปีให้หลัง หรือปี 2566-2567 พบพะยูนตายทั้งสิ้น 75 ตัว ทำให้จำนวนประชากรพะยูนฝั่งทะเลอันดามัน ที่คาดว่าเดิมทีมีประมาณ 250 ตัว ขณะนี้เหลือไม่ถึง 100 ตัว”
อุณหภูมิโลกพุ่งสูง ‘หญ้าทะเล’ จึงหายไป
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรฯ ระบุว่า เริ่มพบสัญญาณหญ้าทะเลเสื่อมโทรม และมีลักษณะกุดสั้นลง ในช่วงปี 2562 ซึ่งคาดว่าเกิดจากสาเหตุน้ำทะเลในแถบอันดามัน มีระดับน้ำต่ำกว่าปกติ ประมาณ 20 เซนติเมตร แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ
“ทว่าตั้งแต่ปี 2566 เราพบว่าระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปกติถึง 22 เซนติเมตร ส่งผลให้หญ้าทะเลมีใบกุดสั้น และก็หายไปจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ ที่เดิมทีพื้นที่เหล่านี้มีหญ้าทะเลปกคลุมผืนใหญ่”
“พอระดับน้ำทะเลมีระดับต่ำลง ทำให้หญ้าทะเลผึงแห้งนานขึ้น ประจวบกับอุณหภูมิของน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอ ใบขาดหาย ท้ายที่สุดก็ตายไป” ก้องเกียรติ อธิบาย
เขาเสริมข้อสันนิษฐานอีกว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลง มีลมพายุและมรสุมมากขึ้น ทำให้น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งยิ่งขึ้น และพัดพาตะกอนเข้ามาทับถมในแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต
จึงเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทำให้แหล่งอาหารหลักของพะยูนลดน้อยลง ขณะที่รายงานภาวะโลกรวน ของ UNDP ระบุว่า ภาวะโลกรวนส่งผลให้มหาสมุทรสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะอุณหภูมิโลกสูงขึ้น สัตว์น้ำย้ายถิ่นฐานหนีคลื่นน้ำอุ่น แนวปะการังและป่าชายเลนตาย
การสูญเสียหญ้าทะเล ไม่ได้กระทบแค่พะยูน
“ระบบนิเวศของหญ้าทะเล เป็นที่สั่งสมความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเล คล้ายกับระบบนิเวศของปะการัง ที่เปรียบเสมือนบ้านและแหล่งอาหาร ของสัตว์หลากหลายชนิด”
ก้องเกียรติ ชี้ว่า โดยเฉพาะประเภทสัตว์น้ำวัยอ่อน อาทิ ปูม้า กุ้ง ปลา และลูกปลา มักอาศัยระบบนิเวศของหญ้าทะเล ฉะนั้นหากระบบนิเวศของหญ้าทะเลเสื่อมไป จะส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านี้ไม่มีพื้นที่ในการเพาะพันธุ์ ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับห่วงโซ่อาหารและกับมนุษย์เองด้วย เพราะจะไม่มีสัตว์น้ำหลงเหลือ
การเร่งรัดฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลอย่างเดียวอาจไม่พอ?
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรฯ กล่าวว่า ณ ตอนนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของสภาพพื้นดินที่เป็นแหล่งของหญ้าทะเล เช่น บริเวณเกาะลิบงและเกาะมุกนั่นหายไป ตรงข้ามกับเมื่อก่อน ที่พื้นที่ปกคลุมมีมากถึงร้อยละ 40 แต่ขณะนี้เหลือเพียงร้อยละ 3
การหายไปของหญ้าทะเล และการทัมถมของตะกอน ได้เปลี่ยนสภาพพื้นดินปนโคลน ไปเป็นทรายแทน ส่งผลให้การอุ้มสารอนินทรีย์ (inorganic substance) แร่ธาตุที่สำคัญชนิดหนึ่งทำได้น้อยลง ดังนั้นเป็นไปได้ยากที่หญ้าทะเลจะเติบโตบนพื้นทราย
“จึงเป็นการท้าทาย เพราะสภาพพื้นทะเลเปลี่ยนไปแล้ว จึงยากที่จะฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับมาเจริญเติบโตตามเดิม”
อย่างไรก็ดี ขณะนี้หลายภาคส่วนพยายามเร่งสร้างแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล อาทิ ขยายพันธุ์ในบ่อดิน เนื่องจากสามารถควบคุมปัจจัยสิ่งแวดล้อมได้
“ทั้งนี้ เราเชื่อว่ากระบวนการการฟื้นฟูของหญ้าทะเลไม่อาจทำได้อย่างรวดเร็ว อาจต้องใช้เวลามากถึง 5-10 ปี”
และอีกโจทย์ที่เขากำลังประสบคือ การพบสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่ขึ้นปกคลุมหญ้าทะเล ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายเพราะอาจเป็นพิษต่อสัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะพะยูน
เขาเสริมว่า ยังไม่นับสารพิษอีกจำนวนหนึ่ง ที่อาจสร้างผลเสียต่อสุขภาพของพะยูน แต่ต้องรอการยืนยันอย่างชัดเจนอีกทีว่าสร้างกระทบจริงหรือไม่ จึงสรุปได้ว่านอกจากการเผชิญวิกฤตการขาดแคลนอาหาร พะยูนอาจได้รับสารพิษที่เกาะตามหญ้าทะเลอ่อนแอ
ขยะพลาสติกล้นทะเล อีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม
ก้องเกียรติ ยอมรับว่า มลพิษที่มนุษย์สร้างมีกระทบเฉกเช่นเดียวกัน โดยเขายกตัวอย่างพะยูนตัวล่าสุดที่ตายว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบถุงพลาสติกในกระเพาะอาหาร
ด้วยเหตุผลที่ว่า พะยูน เต่าทะเล และสัตว์อีกจำนวนมากมาย ไม่สามารถแยกแยะขยะพลาสติกกับอาหารได้ ลักษณะของถุงพลาสติกที่อยู่ในระบบนิเวศทะเล มักจะถูกสาหร่ายเข้าไปเคลือบบนพื้นผิว ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่พะยูนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นใบของหญ้าทะเล
“ขยะพลาสติกที่ปนเปื้อนในระบบนิเวศ เป็นอีกปัจจัยที่คุกคามการเป็นอยู่ของพะยูน”
ขั้นตอนการช่วยเหลือและดูแลพะยูนนับจากนี้
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรฯ พูดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือ ‘การทราบว่าพะยูนที่หายไป หายไปไหนบ้าง’ เนื่องด้วยพะยูนมีการอพยพย้ายถิ่นขึ้นไปที่บริเวณโซนบนและล่างของไทย เช่น ตอนใต้ของเมียนมา หรือตอนเหนือของมาเลเซียและอินโดนีเซีย พะยูนที่เหลือในฝั่งอันดามันของไทย อาจเหลือแค่ 60-80 ตัว ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่แถวพังงาและภูเก็ต
เราจึงมีมาตรการการค้นหาและคุ้มครอง อย่างประกาศพื้นที่คุ้มครอง รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างทีมอาสาและผู้คนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการดูแลพะยูนที่ป่วย หรือได้รับสารอาหารไม่เต็มที่
“เบื้องต้นเราพยายามจะให้อาหารกับพะยูนในแหล่งธรรมชาติ แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ อาจนำพะยูนที่ป่วยเข้ามาดูแลรักษาในสถานที่ที่เราดูแลได้ เช่นในบ่อและคอก”
ถ้าพะยูนสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทย?
ก้องเกียรติ ระบุว่า พะยูนทั่วโลกมีราวๆ 6 กลุ่มหลัก ซึ่งพะยูนฝั่งอันดามันของไทย มีลักษณะทางพันธุกรรมที่โดดเด่น และไม่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่ส่วนอื่นของโลก ดังนั้นถ้าพะยูนที่ไทยหายไป สายพันธุ์นี้ของพะยูนก็จะไม่มีอีกแล้ว
หากพูดถึงความสำคัญของพะยูนในระดับประเทศ พะยูนเป็นประเภทสัตว์ที่สามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
“ถ้าพะยูนหายไป หญ้าทะเลหายไป ถือเป็นการล่มสลายของระบบนิเวศ”
เขาพูดต่อว่า สมมติพะยูนสูญพันธุ์จริงๆ ระบบนิเวศ ผู้ที่ทำอาชีพประมง และการท่องเที่ยวระดับชุมชนก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องอาศัยระบบนิเวศชายฝั่ง เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน”
สอดคล้องกับความเห็นของ สันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ที่บอกว่า หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ไม่ได้กระทบเฉพาะพะยูน เพราะหญ้าทะเล ถือเป็นระบบนิเวศแห่งหนึ่งแยกออกจากป่าชายเลน ชายฝั่ง หรือ แหล่งปะการัง ชาวเกาะลิบงที่ทำอาชีพประมงมีรายได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี จากการจับ หอยชักตีน ปูม้า และปลา ในแหล่งหญ้าทะเลในช่วงน้ำลง และการท่องเที่ยวระดับชุมชนปีละหลาย 10 ล้านบาทก็หายไปด้วย เพราะไม่มีพะยูนหลงเหลือให้ดู
“การตายของพะยูนเข้าขั้นวิกฤต หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย พวกมันมีโอกาสที่จะหายไปจากแผนที่ฝั่งทะเลอันดามัน” ก้องเกียรติ ปิดท้าย