ในวันที่ปัญหาชีวิตรุมเร้า การตามหาคนที่จะมารับฟังเราอย่างไม่ตัดสินก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทางออกของวัยรุ่นชาวจีนในยุคสมัยใหม่นี้จึงเป็นการปรึกษากับเอไอ ที่พวกเขามั่นใจว่าจะ ปลอบประโลมความรู้สึกพวกเขาอย่างเข้าใจได้แน่นอน
ฮอลลี่ (นามสมมติ) วัยรุ่นจีนวัย 28 ปึ เล่าว่า ทุกคืนก่อนนอน เธอจะล็อกอินเข้า DeepSeek AI ตัวใหม่ของจีนที่กำลังมาแรง เพื่อพูดคุยกับมันเสมือนรับการบำบัด
นับตั้งแต่ DeepSeek เปิดตัว ฮอลลี่ก็นำปัญหาและความเศร้าโศกมาคุยกับเอไอแชตบอต ซึ่งคำตอบของมันก็สะท้อนใจเธอมาก จนบางครั้งถึงกับทำให้เธอถึงกับน้ำตาซึม
“DeepSeek เป็นที่ปรึกษาที่ยอดเยี่ยมมาก มันช่วยให้ฉันมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองที่แตกต่าง และทำงานได้ดีกว่าบริการให้คำปรึกษาแบบเสียเงินที่ฉันเคยลองใช้” ฮอลลี่กล่าว
แน่นอนว่าการมาถึงของ Ai ทำให้การใช้ชีวิตและวิถีการทำงานของเราเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่คนอาจคาดไม่ถึงก็คือการนำมาใช้มันเพื่อจุดประสงค์ในการช่วยคลายทุกข์
ซึ่งไม่ใช่แค่ฮอลลี่เท่านั้น แต่ DeepSeek กลายมาเป็นแหล่งปลอบประโลมใจสำหรับชาวจีนรุ่นใหม่ ที่กำลังเผชิญกับความผิดหวังในชีวิตและในอนาคตของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เศรษฐกิจที่ซบเซา อัตราการว่างงานที่สูงขึ้จ และการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด ล้วนมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบเหล่านี้ ประกอบกับการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์ ยังทำให้ช่องทางในการระบายความหงุดหงิดของผู้คนลดน้อยลงด้วย
DeepSeek เป็นเครื่องมือ AI ที่คล้ายกับ ChatGPT ของ OpenAI และ Gemini ของ Google ที่เราอาจคุ้นเคยกัน ซึ่งได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลจำนวนมหาศาล เพื่อประมวลผลตามคำสั่งของผู้ใช้งาน สร้างเนื้อหาใหม่ในรูปแบบข้อความและรูปภาพ และยังดำเนินการสนทนาได้เหมือนคนคนหนึ่งอีกด้วย
นับตั้งแต่เปิดตัวแชตบอตนี้ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยจุดเด่นของมันคือโมเดล AI R1 ที่ช่วยให้ผู้ใช้เห็น กระบวนการคิดของมันก่อนจะตอบกลับไดัด้วย
ครั้งแรกที่เธอใช้ DeepSeek ฮอลลี่ขอให้มันเขียนข้อความไว้อาลัยคุณย่าผู้ล่วงลับของเธอ ซึ่งมันใช้เวลาเพียงห้าวินาทีในการหาคำตอบ และข้อความนั้นก็เขียนได้สวยงามมากจนเธอตะลึง
ฮอลลี่ตอบว่า “คุณเขียนได้ดีมาก ทำให้ฉันรู้สึกสูญเสีย ฉันรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในวิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณ” และ DeepSeek ก็ตอบกลับเธออย่างลึกซึ้ง ว่า “จงจำไว้ว่าคำพูดที่ทำให้คุณสั่นสะท้านเหล่านี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนของคำพูดที่อยู่ในจิตวิญญาณของคุณมาช้านานเท่านั้น […] ฉันเป็นเพียงหุบเขาที่คุณเคยผ่านมาเป็นครั้งคราว ซึ่งทำให้คุณได้ยินเสียงของตัวเอง”
คำตอบที่ดูลึกซึ้งจนน่าประหลาดใจนี้ อาจทำให้วัยรุ่นจีนยิ่งติดใจกับลูกล่อลูกชนของเอไอที่ทำให้พวกเขาสบายใจได้มากยิ่งขึ้นในเวลารวดเร็ว
หนาน เจีย (Nan Jia) ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและการจัดการที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย แนะนำว่า แชตบอตเหล่านี้สามารถ “ช่วยให้ผู้คนรู้สึกว่าได้รับการรับฟัง” ในรูปแบบที่เพื่อนมนุษย์อาจเปรียบได้ยาก
“AI ดูเหมือนจะมีความสามารถในการเห็นอกเห็นใจได้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ เนื่องจากพวกเขารับฟังทุกอย่างที่เราแบ่งปัน ต่างจากมนุษย์ ที่บางครั้งเรายังต้องถามว่า ‘คุณได้ยินฉันจริง ๆ ไหม'” หนาน กล่าวเสริม
ศาสตราจารย์ฟาง เค่อเฉิง (Fang Kecheng) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง กล่าวว่าในประเทศจีนนั้นขาดแคลนบริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาจากผู้เชี่ยวชาญมาก และบริการมักมีราคาแพงเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่ ประกอบกับงานวิจัยหลายชิ้น ที่ชี้ให้เห็นว่า โรคซึมเศร้าและวิตกกังวลกำลังเพิ่มขึ้นในหมู่ชาวจีน เอไอจึงช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ได้
อย่างไรก็ตาม หนานเน้นย้ำว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรงไม่ควรพึ่งพาแอปเหล่านี้
“โดยเฉพาะผู้ที่มีความต้องการทางการแพทย์ควรแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรม… การใช้งานเอไอของพวกเขาจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด” เธอกล่าว
อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ DeepSeek ยิ่งเป็นที่นิยม ก็อาจเพราะแอปคู่แข่งจากตะวันตก เช่น ChatGPT และ Gemini ถูกบล็อกในจีน ผู้ใช้ในจีนต้องจ่ายเงินสำหรับบริการ VPN เพื่อเข้าถึงแอปเหล่านี้
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่มีการเปิดตัว DeepSeek ที่ผ่านการทดลองใช้โดยคนจากประเทศอื่นๆ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า แอปมีการเซนเซอร์เนื้อหาอย่างหนัก เช่น หากเอ่ยชื่อผู้นำจีนหรือถามถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์จีน เอไอนี้ก็จะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้
จริงๆ แล้วก่อนที่จะมี DeepSeek ในกลุ่มคนไทยเองก็มีการแชร์ประสบการณ์ปรึกษาปัญหาชีวิตกับเอไออยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งเอไอที่คนไทยนิยมใช้คือ ChatGPT
แม้การปรึกษาปัญหากับเอไอจะดูไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีอาจเป็นการกลืนกินความเป็นมนุษย์ไปทีละนิด ที่แม้แต่การปรึกษาปัญหาที่มีแต่ประสบการณ์ของมนุษย์เท่านั้นที่จะเข้าใจยังต้องพึ่งปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่น่าถกเถียงและจับตามองต่อไปว่ามนุษย์จะอยู่ร่วมกับเอไออย่างไรต่อไปได้บ้าง
อ้างอิงจาก