หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissism) ว่ามักต้องการเป็นที่สนใจ การยกย่องชื่นชม รวมถึงเห็นว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น แต่งานวิจัยล่าสุดพบว่า ความเป็นจริงอาจสวนทางกับความต้องการของคนประเภทนี้ เพราะพวกเขามีแนวโน้มที่จะถูกละเลยออกจากสังคมโดยสิ้นเชิง
งานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยบาเซิล (University of Basel) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่การวิจัยที่ตีพิมพ์บนวารสาร Journal of Personality and Social Psychology เผยว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองในระดับที่สูงกว่า ไม่เพียงแต่จะเจอปัญหา ‘การถูกกีดกันจากสังคม’ มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังถูกผู้อื่นรังเกียจบ่อยมากขึ้นอีกด้วย
ผู้วิจัยได้ศึกษา ผู้หลงตัวเองอย่างเปิดเผย (Overt Narcissist หรือ Grandiose Narcissist) ซึ่งมักให้ความสำคัญตัวเองอย่างสูงเกินจริง ต้องการความสนใจอย่างไม่สิ้นสุด รวมถึงยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และหลายครั้งคนหลงตัวเองประเภทนี้ จะใช้เสน่ห์หรือวิธีต่างๆ ในการบงการคนอื่น เพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ผู้วิจัยใช้ข้อมูลผู้คนมากกว่า 77,000 ราย จากการศึกษา 7 เรื่องที่แตกต่างกัน ทั้งใช้สถานการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง และการทดลองแบบควบคุม เพื่อระบุสาเหตุที่ผู้หลงตัวเอง มีประสบการณ์ถูกกีดกันในระดับสูง
นอกจากนี้ ยังให้คน 323 คน ใช้แอปฯ สมาร์ทโฟนพิเศษเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่อเข้ามาบันทึกทุกครั้ง ที่รู้สึกว่าตัวเองถูกละเลย เช่น ไม่ได้รับเชิญไปงานปาร์ตี้ หรือถูกเพิกเฉยในระหว่างการสนทนา
ผลการศึกษาระบุว่า ผู้หลงตัวเองมักแสดงพฤติกรรมก่อกวนในสังคม เช่น ก้าวร้าว หรือเย่อหยิ่ง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็เพิ่มโอกาสที่ผู้อื่นจะตีตัวออกห่าง ทั้งนี้ในอีกหนึ่งการทดลองที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2,500 คน ก็พบว่าผู้คนมักจะเลือกที่จะอยู่ห่างจากผู้ที่มีลักษณะหลงตัวเองเสมอ
อีกทั้งคนที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ยังมีความอ่อนไหวง่ายต่อสถานะของตัวเองในสังคม รวมถึงอะไรก็ตามที่เป็นสัญญาณว่าพวกเขาอาจถูกละเลย เช่น พวกเขาอาจมองว่าการตอบกลับข้อความช้าเป็นการจงใจดูถูก หรือคิดว่าการไม่ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แปลว่าผู้คนกำลังต่อต้านพวกเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะรับรู้ถึงการกีดกัน แม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้วิจัยยังได้ศึกษาข้อมูลที่เก็บเป็นเวลา 14 ปีจากประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งครอบคลุมผู้คนมากกว่า 72,000 คน และพบว่า เมื่อพฤติกรรมหลงตัวเองของใครบางคนเพิ่มขึ้น พวกเขาจะถูกกีดกันมากขึ้นในปีต่อไป จนกลายเป็นวงจรเลวร้าย ที่ทำให้การหลงตัวเองของพวกเขาแย่ลงไปอีก
Christiane Büttner หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้อาจชี้ให้เห็นว่า ลักษณะบุคลิกภาพสามารถส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้อย่างไร พร้อมระบุว่า ในขณะที่หลายคนคิดถึงการหลงตัวเอง ในแง่ของการคิดว่าตัวเองมีสิทธิเหนือกว่า หรือความเย่อหยิ่ง แต่ “งานวิจัยของเราเน้นย้ำว่า ผู้หลงตัวเองมักประสบกับความเจ็บปวดทางสังคมเช่นกัน”
อ้างอิงจาก