เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมที่บางคนอาจจะปรารถนาการเป็นคนที่เป็นที่รู้จัก เป็นคนที่อยู่ในแสงไฟ เป็นคนดัง และอาจจะหวังใจว่า เวลาไปไหนคนก็จะรู้จักตนเอง ซึ่งความดังนั้นก็อาจจะไม่ได้พาไปสู่แค่ความคาดหวังว่าคนอื่นจะรู้จักตนเอง แต่คือการรู้ว่าตนเองเป็นใคร มีสถานะอะไร ซึ่งจะสัมพันธ์ต่อไปอีกกับการคาดเดาว่า อีกฝ่ายจะปฏิบัติต่อตนเองอย่างไร ต้องเข้ามาทักทายไหม ต้องมีท่าทีพูดคุยอย่างไร
ตรงนี้เองก็เลยเริ่มมีมุมมองที่ทั้งสัมพันธ์และอาจจะขัดแย้งกันได้ คือ 1) มุมที่คนทั่วไปหรือใครสักคนมอง คือคนอื่นมองเห็นเราแล้วอาจจะรู้จักหรือไม่รู้จักก็ได้ ส่วนถ้ารู้จักแล้วจะทำอย่างไรก็สัมพันธ์กับมุมมองและแรงจูงใจอันซับซ้อนของคนคนนั้น ส่วนอีกด้านคือ 2) ความคาดหวัง—หรือก็คือมุมมองที่เรามีต่อตัวเอง—เรากำลังมองและประเมินตัวเองไว้แค่ไหน ซึ่งก็จะนำไปสู่ความคาดหวังบางอย่างว่า สังคมจะปฏิบัติต่อเราอย่างไร
สำหรับเงื่อนไขแรก คือคนอื่นคิดต่อเราอย่างไรดูจะเป็นเรื่องอัตวิสัยยากจะอภิปราย แต่อย่างหลังคือประเด็นว่า เรามองความสำคัญของตนเองไว้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามองว่าคนอื่นจะรู้จักและปฏิบัติต่อเราอย่างพิเศษ เช่น มีแสงไฟสาดส่องใส่ในทุกที่เดินไป ในแง่นี้หลายครั้งเราก็จะเริ่มเห็นภาวะที่ขัดแย้งกัน เกิดการประเมินค่าความสำคัญที่ล้นเกิน เกิดภาวะที่เราเรียกว่าการหมกมุ่นหลงใหลกับความสำคัญที่มากกว่ากว่าที่สังคมหรือผู้คนรับรู้ ลักษณะนี้เข้าทำนองภาวะหลงความสำคัญของตัวเอง (delusion of grandeur)
ในประเด็นเรื่องการมองความสำคัญของตัวเอง จากการรู้สึกว่าตัวเองสำคัญจนเกินไป ก็ยังมีอีกมุมที่ใกล้เคียงกันคือความรู้สึกที่เรารู้สึกว่าถูกจับจ้อง ทำให้บางครั้งเรากังวลกับความคิดหรือการมองของคนอื่นเรียกว่า spotlight effect ซึ่งส่วนใหญ่คนทั่วไปไม่ได้ใส่ใจเรามากขนาดนั้น
ภาวะอัตตาเฟ้อ
ก่อนอื่นต้องนิยามก่อนว่า คำเช่น delusion of grandeur รวมถึงภาวะหลงตัวเองหรือ narcissistic บางส่วนใช้นิยามในระดับอาการความเจ็บป่วยได้ ภาวะหลงตัวเองอาจหมายถึงอาการหลงผิดไปมากๆ คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำของโลกหรืออะไรใหญ่โต ซึ่งก็มักจะไปสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยทางจิตใจหรือร่างกายอื่นๆ
เบื้องต้น ภาวะอัตตาเฟ้อ หรือการหลงผิดคิดว่าตนสำคัญก็ดูจะมีหลายระดับ ในระดับเบื้องต้นเอง นิยามของอาการก็ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ลักษณะทั่วไปของคนที่อัตตาเฟ้อมีข้อนิยามว่าเป็นภาวะหลง (delusion) โดยเชื่อไปว่าตัวเองนั้นเป็น มีสถานะหรือศักยภาพ มีอำนาจ หรือมีตัวตนยิ่งใหญ่ ทีนี้มันก็มีเส้นแบ่งเรื่องความมั่นหน้ามั่นใจในการประเมินความสำคัญของตัวเองอยู่ ด้านหนึ่งความเคารพหรือการประเมินความสำคัญก็สัมพันธ์กับความมั่นใจ การผลักดันตนเองไปข้างหน้า แต่ถ้ามั่นมากจนหลง ใครพูดก็ไม่เชื่อ สนใจแต่ภาพที่ตัวเองคิดว่าตัวเองเป็น ก็เข้าข่ายเริ่มหลงหรือ delusion ว่าตัวเองเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ได้เป็นจริงๆ และก็นับว่าไม่โอเค แม้จะนำมาซึ่งความมั่นใจก็ตาม เช่น การหลงไปว่าตัวเองเป็นอะไรที่ไม่ได้เป็น มีความสัมพันธ์พิเศษ มีสถานะพิเศษ หรือหลงคิดว่าตัวเองทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ พิเศษเหนือใคร อะไรทำนองนั้น
อย่างไรก็ตาม ภาวะหลงผิดนั้น เมื่ออ่านคำอธิบายเราก็อาจจะเริ่มคุ้นกับบุคคลที่มีลักษณะใกล้เคียง เช่น คนที่รู้สึกว่าตัวเองเข้าถึงพลังเหนือธรรมชาติได้ เป็นผู้สื่อสารอันนำไปสู่การเป็นหัวหน้าลัทธิ การเชื่อว่าตนเองมีความสามารถในการรักษาโรคที่พิเศษ อาทิ รักษามะเร็งได้ กระทั่งการเชื่อว่าตนเองมีความสัมพันธ์กับผู้คนที่อีกฝ่ายอาจจะไม่รู้จักตนเอง และเน้นย้ำถึงสายสัมพันธ์ตรงนั้น เช่นไปอ้างความสัมพันธ์กับดาราหรือผู้นำประเทศ
ดังนั้น ถ้าเราเริ่มรู้สึกสำคัญแบบแปลกๆ เริ่มคิดว่าเราพิเศษจนโลกงง ใครเตือนก็ไม่ฟัง อาจจะต้องพิจารณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สำหรับประเด็นเรื่องการหลงตนในระดับอาการ ความจริงแล้วก็มีมิติที่น่าสนใจ มีงานศึกษาในปี ค.ศ.2011 พยายามทบทวนแนวคิดนี้ ด้วยความที่อาการคิดว่าตัวเองเป็นอย่างอื่นมีนัยสำคัญอย่างไรต่อจิตใจ งานศึกษาระบุว่า ไอ้ภาวะสร้างและมองตัวเองที่ใหญ่โตกว่าความเป็นจริงมักเป็นสิ่งที่มอบนิยามบางอย่างให้กับผู้ป่วย เช่น เป้าหมายการใช้ชีวิต (sense of purpose) ให้ความรู้สึกยึดโยง (sense of belonging) ให้การนิยามตัวตน ไปจนถึงเป็นคำอธิบายกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติหรือยากลำบากที่ผู้ป่วยเผชิญ แต่ในรายงานก็บอกว่าภาวะหลงตนก็สัมพันธ์กับปัญหาที่ค่อนข้างกว้างขวางทั้งในเชิงกายภาพ เพศ อารมณ์ และอาชีพ
ไม่เชิงรู้สึกว่าดัง แต่รู้สึกใส่ใจกับสายตาคนอื่นมากไป
ทีนี้ ในแง่ของการคิดว่าตัวเองเป็นอย่างไรหรือกำลังถูกสนใจอยู่หรือไม่นั้น ก็มีมิติที่อาจจะคาบเกี่ยวกันคือความรู้สึกของเราที่มีต่อการรับรู้และการจับจ้องของคนรอบข้างหรือคนรู้จัก โดยทั่วไปแล้วเรามักจะรู้สึกอึดอัดหรือกังวลกับสายตาและสิ่งที่คนอื่นคิดหรือเห็นเกี่ยวกับเรา ซึ่งทางวิชาการบอกว่าเรามักมีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นกับสิ่งที่คนอื่นคิด หรือการคาดว่าคนอื่นจะรับรู้หรือคิดกับเราอย่าง ‘มากเกินกว่า’ ที่มันเป็น พูดง่ายๆ คือเราคิดว่าคนอื่นคิดและสนใจเรามากเกินกว่าความเป็นจริง เราเรียกลักษณะดังกล่าวว่า spotlight effect คือคิดไปว่ามีแสงมาที่เราอยู่เสมอ แต่ในแง่นี้ไม่เชิงว่าเป็นความมั่นหน้ามั่นใจ แต่เป็นเชิงของการรู้สึกถูกจับจ้องวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า
ประเด็นภาวะ spotlight effect ค่อนข้างสัมพันธ์กับการประเมินสายตาของคนอื่นในแง่ลบ เราคิดว่าคนอื่นจะมองเห็นเรื่องน่าอาย ความผิดพลาด หรือความเป็นไปของเรา โดยที่เราหมกมุ่นกับมันมากเกินกว่าที่คนอื่นมาหมกมุ่นกับเรา พูดง่ายๆ คือไม่มีใครหมกมุ่นกับความน่าอายและความผิดพลาดเท่ากับตัวเราเอง ในงานศึกษาปี ค.ศ.2012 ใช้วิธีทดลองด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างเด็กมหาวิทยาลัยที่ใส่เสื้อแบบน่าอายสุดๆ ตามแต่บริบทพื้นที่นั้นๆ แล้วให้เด็กเข้าไปทำกิจกรรมบางอย่าง พอจบการทดลองก็มาถามว่ามีใครสังเกตเห็นเสื้อตัวนั้นไหม
ผลคือมีคนมองเห็นเสื้อที่น่าอายสุดๆ นั้นแค่ 25% แต่คนใส่คิดว่าคนกว่าครึ่งน่าจะเห็น ในงานศึกษาเดียวก็ทดลองอีกกลุ่มคล้ายๆ กัน คือให้ผู้เข้าร่วมเลือกใส่เสื้อที่มีหน้าคนดัง แล้วมาถามว่าสังเกตหรือจำได้ไหมคนที่ใส่เสื้อมีหน้าคน เป็นหน้าใคร(เช่น บ็อบ มาร์เลย์, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง) ผลคือคนที่ได้ใส่เสื้อคิดว่าคนครึ่งนึงจะมองเห็นและจำได้ว่าตัวเองใส่เสื้อที่มีหน้าและระบุได้ว่าเป็นหน้าใคร ในการทดลองครั้งหลังนี้ได้ผลน้อยเข้าไปใหญ่คือมีแค่ 10% ที่ระบุใบหน้าบนเสื้อได้
เงื่อนไขของสองมุมก็เลยดูจะคล้ายกัน คือความคาดหวังที่ว่าคนอื่นจะสนใจและรู้จักเราในแง่ของความสำคัญ และการคิดว่าคนอื่นอาจจะสนใจเรื่องของเรา ทั้งรูปลักษณ์ การแต่งกาย หรือการกระทำ ที่อันที่จริงโลกอาจจะไม่ได้สนใจเราขนาดนั้น อย่างหลังนำไปสู่ความรู้สึกกังวลและความไม่มั่นใจ อย่างแรกนำไปสู่ความมั่นใจที่ล้นเกินและความผิดหวังน้อยใจที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้
แต่เงื่อนไขของทั้งสองด้านก็อาจจะสัมพันธ์กับความเข้มข้นด้วย เช่น ถ้าความผิดพลาดนั้นตระการตา คนก็อาจจะมองเห็นและพูดถึง แต่ในอีกด้าน ความสนใจของผู้คนก็อาจจะไม่ได้ยืนยาวนัก ถ้าอธิบายก็อาจจะเป็นเหมือนงูกินหาง เพราะเราเองก็ต่างมีเรื่องของตัวเองที่เรานั่งใส่ใจ ซึ่งแง่นี้หมายถึงเรื่องทั่วๆ ไปเนอะ สไตล์ป้าข้างบ้าน หรือคนที่ไม่ชอบเราแล้วติดตามจดจำยิ่งกว่าแฟนคลับ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็แล้วไป ถือว่าขอบคุณในความเอาใจใส่ไป
ดังนั้น แง่สำคัญหนึ่งของชีวิตคือ โลกไม่ได้หมุนรอบเรา คนจำได้ไม่นานก็ลืม ไม่ว่าจะแง่ไหน (ถ้ามันไม่สาหัสมากอะนะ)
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon