คนแบบไหนกันจะยกมือกลางสภาพร้อมยิ้มรับเมื่อมีคนชี้มาทางเขาว่า เขาคนนี้เป็นคนทำรัฐประหาร?
ต้องเป็นคนประเภทไหนถึงจะทำในสิ่งที่เขาทำหรือพูดในสิ่งที่เขาพูดออกสู่สาธารณะชนนับล้านที่ฟังเขาอยู่ทั่วประเทศได้? ไม่กี่วันที่ผ่านมาในช่วงการถ่ายทอดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หนึ่งคำที่ผุดขึ้นมาตามโซเชียลมีเดียเมื่อพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาคือคำว่า ‘หลงตัวเอง’ ไม่ว่าจะจากการไม่รู้ร้อนรู้หนาวเรื่องการรัฐประหาร การไม่มองปัญหาปัจจุบันว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลตัวเอง และคำพูดคำจากในการแถลงหลังจากนั้น เช่น ‘มีสักกี่คนในห้องนี้ที่เคยเป็นนายกฯ มาก่อน ผมถามก็แล้วกันเพราะฉะนั้นผมมีประสบการณ์มากกว่าท่าน’
แต่เขาคนนี้ไม่ใช่คนคนแรกที่ถูกอธิบายด้วยคำนี้ เพราะความหลงตัวเองหรือ Narcissism นั้นโดนใช้ในการพูดถึงเผด็จการทั่วโลกทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) หัวหน้าพรรคนาซีผู้นำของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และผู้ติดตามของเขาที่เชื่อในความถูกต้องของพวกเขาจนก่อโศกนาฏกรรมต่อมนุษย์นับล้าน คิม จองอิล (Kim Jeongil) อดีตผู้นำของเกาหลีเหนือผู้มีความเชื่อว่าตัวเองนั้นมีปาฏิหาริย์เหนือธรรมชาติ มาจนถึงวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีของรัสเซียคนปัจจุบัน ที่มีผู้วิจารณ์จำนวนมากกล่าวว่าเบื้องหลังการวางมาดของอำนาจและพลัง ความเปราะบางต่อคำวิจารณ์และมูฟทางการเมืองของเขามักมีรากจากความหลงตัวเอง
รู้จักกับ Malignant Narcissism
Narcissism คือการให้ความสำคัญต่อตัวเองเหนือผู้อื่นอย่างยิ่งยวด จนถึงระดับที่สามารถละทิ้งความรู้สึกของคนรอบข้างได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งความหลงตัวเองนั้นสามารถพบได้ในทุกคน อาจเป็นพฤติกรรมหลงตัวเองชั่วครู่คราว ไปจนการเป็น personality disorder เลยก็ได้
โดยความหลงตัวเองสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ grandiose narcissism และ vulnerable narcissism แบบแรกคือความหลงตัวเองที่มักเกิดจากการเลี้ยงดูที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่าตัวเองเหนือกว่าคนรอบตัว ผลคือความหยิ่งทะนงและความมั่นใจสูง แต่อย่างหลังนั้นตรงกันข้าม เพราะมันคือความหลงตัวเองที่เกิดจากการเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย และมักมีความวิตกกังวลหากคนรอบข้างไม่มองว่าพวกเขาพิเศษกว่าใคร
แต่นอกจากสองประเภทที่กล่าวมาแล้ว หนึ่งในซับเซตของ narcissism ที่พบอาการมากในเผด็จการที่เราเห็นในยุคปัจจุบันผ่านการกระทำของพวกเขาต่อสื่อคือ malignant narcissism รูปแบบของความหลงตัวเองที่มีรากบางส่วนมาจากอาชญวิทยา
โดยนอกจากอาการโดยทั่วไปของคนหลงตัวเอง เช่น การขาดความเห็นอกเห็นใจ การเรียกร้องความสนใจ และความเชื่อว่าตัวเองเหนือกว่าแล้ว อาการของ malignant narcissism ยังเสริมพฤติกรรมต่อต้านสังคม (Anti-social) เช่น ความก้าวร้าว ขี้โกหก ไม่สนใจสิทธิผู้อื่น การขาดความรับผิดชอบอย่างเรื้อรัง ไม่สนใจหากการกระทำตัวเองเป็นภัยต่อผู้อื่น และมีการกระทำฉับพลันที่เสี่ยงต่อความเป็นอยู่ของผู้อื่น คุ้นๆ ว่าไหม?
ผู้แข็งแกร่งที่แสวงหาความมั่นคง
ในข้อเขียนเกี่ยวกับเผด็จการ Ur-Fascism โดยนักปรัชญาชาวอิตาลี อุมแบร์โต เอโก (Umberto Eco) เขาพูดถึงความลักลั่นของเผด็จการและการสร้างโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาว่า ‘ผู้ติดตาม (ของเผด็จการ) ต้องรู้สึกถึงความอดสูต่ออำนาจและเงินทองอันล้นเหลือของศัตรู…อย่างไรก็ดี พวกเขายังต้องเชื่อว่า เขาสามารถเอาชนะศัตรูได้อย่างราบคาบด้วย เช่นนั้นแล้วการสลับวาทกรรมไปมาอย่างต่อเนื่อง ศัตรูของพวกเขานั้นมีลักษณะทั้งแข็งแกร่งเกินไปและอ่อนแอเกินไป’
ในขณะที่เผด็จการแสดงกำลังและอำนาจอันเบ็ดเสร็จและความสมบูรณ์แบบของพวกเขา อีกสิ่งที่คู่ขนานกันของกำลังนั้นๆ คือความหวาดกลัวและความวิตกต่อประเด็นต่างๆ กองทัพของรัสเซียนั้นมีแสนยานุภาพสูงที่สุดในโลก แต่ยูเครนได้เปรียบเพราะพวกเขามีทหาร Super soldier หรือรัฐบาลไทยเป็นที่รักของประชาชนส่วนมากตามโพล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเรื่องกลุ่มทุนลับที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ‘ซื้อ’ คนจำนวนมากให้ก่อความไม่สงบและความไม่มั่นคงต่อสถาบัน
การสร้างความสมดุลระหว่างความอ่อนแอและความแกร่งของพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการต้องทำเสมอ เพื่อรักษาภาพของความเหนือกว่าไปพร้อมๆ กับการสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของพวกเขา ราวกับว่าเป็นความหลงตัวเองเวอร์ชั่นที่ขยายใหญ่ขึ้นให้กลายเป็นแนวคิด นั่นคือภาพของคนที่สูงส่งอยู่บนอีโก้แต่เมื่อโดนแตะหรือเผชิญหน้าด้วยข้อมูลที่ตรงข้ามกับความเชื่อเหล่านั้น จะตอบโต้ด้วยพฤติกรรมที่สุดโต่ง
เราเรียกการตอบโต้นั้นว่า narcissistic rage ที่ถูกใช้ครั้งแรกโดยนักจิตวิเคราะห์ไฮนซ์ โคฮุต (Heinz Kohut) โดยเขานิยามมันว่า พฤติกรรมรุนแรงชั่ววูบที่คนหลงตัวเองใช้เมื่อพวกเขาได้รับการตอบกลับเชิงลบ เช่น การตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่พวกเขาสร้างขึ้น การไม่ให้ความสนใจ การจับได้ว่าโกหก หรือการทำให้รู้สึกว่าพวกเขาสูญเสียการควบคุม ซึ่งมักตอบโต้ด้วยความรุนแรงที่เลยเถิดออกจากความสมเหตุสมผล และเมื่อมองภาพในไม่กี่ปีที่ผ่านมาในสนามการเมืองไทย การเปรียบเทียบระหว่างคนหลงตัวเองและรัฐบาลนั้นน่าจะชัดไปกว่านี้ไม่ได้
มั่นใจและเด็ดขาดกับหลงตัวเองมีความแตกต่างกันหรือไม่?
แต่เขาว่ากันว่าหนึ่งในคุณสมบัติของผู้นำที่ดีคือความมั่นใจและความเด็ดขาดไม่ใช่เหรอ? แล้วอย่างนั้นการหลงตัวเองและความมั่นใจมีข้อแตกต่างกันหรือเปล่า?
คำตอบคือต่าง อย่างที่คุยกันไป ความหลงตัวเองนั้นมักมาจากการได้รับความสนใจเกินหรือขาด แต่ความมั่นใจนั้นมาจากความเติมเต็มภายใน ซึ่งที่มาของความหลงตัวเองและความมั่นใจนั้นสำคัญเพราะมันอาจนำมาซึ่งการแสดงออกที่ต่างกันแม้ความหมายจะไม่ห่างกันมาก
ในงานวิจัยที่สืบหาความแตกต่างระหว่างความหลงตัวเองและความมั่นใจในตัวเองเมื่อปี ค.ศ.2018 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา พบว่านอกจากความต้องการมีส่วนร่วม การเสนอตัว ความรู้สึกแง่บวก และความต้องการที่จะได้สิ่งตอบแทน ทั้งสองอย่างแตกต่างกันเกือบทั้งหมด
โดยในขณะที่ความมั่นใจเชื่อมโยงกับความมีสติและความอดทน ความหลงตัวเองมักเชื่อมกับความโมโห ความเป็นศัตรู การเปรียบเทียบ และการถกเถียง กล่าวคือในขณะที่ความมั่นใจในตัวเองคือความพึงใจในสิ่งที่ตัวเองมี ความหลงตัวเองขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบ
และนอกจากนั้นทั้งสองอย่างไม่ได้มีความเชื่อมโยงต่อกันและกันอีกด้วย เราอาจเชื่อว่าความหลงตัวเองนั้นมาจากความมั่นใจที่มากเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้วจากงานวิจัยเพื่อหาคำตอบประเด็นดังกล่าวที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Research in Personality ในปี ค.ศ.2019 พบว่า จากการวิจัยคนงาน 158 คน พบว่าคนที่มีความมั่นใจในตัวเองไม่จำเป็นว่าจะมีลักษณะของความหลงตัวเอง และทั้งสองอย่างอยู่แยกกันโดยสิ้นเชิง
ฉะนั้นแล้วถ้าหากเราเจอคนที่บอกว่า ความผิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนั้นมาจากรัฐบาลก่อนหน้าที่บริหารผิดพลาดไม่ใช่ของเขา คนที่ฉุนเฉียวเมื่อโดนนักข่าวถามคำถาม แล้วตอบโต้ด้วยการประชดประชัน หรือโยนหมวกลูกเสือใส่ หรือรัฐบาลที่เลือกตอบโต้การประท้วงเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้กำลังและไม่ฟังเหตุผล คนคนนั้นและรัฐบาลที่เขาสร้างขึ้นมานั้นไม่ได้มาจากความมั่นใจหรือความแข็งแกร่ง แต่มาจากความหลงตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก