ตอนเข้ามาจีบหรือสานสัมพันธ์ในช่วงแรก ทุกอย่างก็ดูราบรื่นดี ไม่ได้มีตรงไหนขัดใจ แต่พอคบกันไป กลับเริ่มอยากให้เราเหมือนคนนั้นคนนี้ เปลี่ยนไปเป็นแบบนั้นแบบนี้ เหมือนกับว่าเราคนที่อยู่ตรงนี้ไม่ใช่คนที่เขาเลือกมาแต่แรก
“ทำไมถึงไม่ลองแต่งตัวแบบคนนั้นล่ะ”
“ลดน้ำหนักสิ เธอจะสวยขึ้นเยอะเลย”
“เปลี่ยนทรงผมดูไหม แบบคนนี้ก็ดีนะ”
คำแนะนำที่ฟังแล้วชวนอึดอัดมากกว่าอยากจะทำตาม เมื่อเรามักถูกคนรักแนะนำให้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกให้เป็นไปตามความชอบส่วนตัวของเขาเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราก็เป็นแบบนี้มาตลอด แต่ทำไมกันนะ นานไปเขาถึงอยากให้เราเปลี่ยนไปเป็นอีกคน
ปัญหาโลกแตกที่คู่รักหลายคู่เคยเจอ บ้างก็ยอมเปลี่ยนด้วยความเต็มใจ บ้างก็เกิดคำถามว่าจริงๆ แล้ว เขาชอบเราที่ตรงไหนกันแน่นะ? เมื่อรูปลักษณ์ภายนอกเป็นสิ่งที่มองเห็นตั้งแต่แรก กลับยังไม่ถูกใจเขา ทั้งที่เราก็เป็นแบบนี้มานาน จนความน้อยใจเริ่มกัดกินความรู้สึก หรือบางคนก็เป็นฝ่ายที่อยากให้คนรักเปลี่ยนมันเสียเอง พร้อมมีเหตุผลให้ตัวเองว่า แค่อยากให้อีกฝ่ายดูดีขึ้น หรือสุขภาพดีขึ้นก็เท่านั้นเอง ไม่ได้มีเจตนาอะไรมากกว่านั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหน แต่ถ้ารู้ตัวว่ากำลังเผชิญปัญหานี้ งั้นลองมาสำรวจเรื่องนี้ให้มากขึ้นกันอีกนิด
ดร.พอล โฮคเมเยอร์ (Paul Hokemeyer) นักจิตบำบัดเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้บนเว็บไซต์ Men’s Health ว่าคนที่เรียกร้องให้คู่รักเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตนเองนั้น มักต้องต่อสู้กับความไม่มั่นใจลึกๆ เกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของตัวเอง คนเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานจากบุคลิกหลงตัวเอง และต้องการเป็นที่ยอมรับจากภายนอกเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาเป็นคนพิเศษ
หากพูดให้เห็นภาพมากขึ้นก็เหมือนกับการมีแฟนไว้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ตัวเองนั้นไม่ได้บกพร่อง เพราะสามารถมีแฟนที่มีรูปลักษณ์สมบูรณ์แบบได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดอย่างการลดน้ำหนัก แรกเริ่มเราต้องแยกแยะระหว่างการอยากให้ใครสักคนมีสุขภาพดี กับความต้องการให้ใครสักคนลดน้ำหนักเพื่อรูปร่างหน้าตาที่ดีก่อน หากเราต้องการให้อีกฝ่ายลดน้ำหนักเพื่อมีสุขภาพที่ดีขึ้น สิ่งนี้เป็นเรื่องของความหวังดีและความเห็นอกเห็นใจกัน แต่ถ้าเป็นความต้องการอย่างหลังนั้นอาจหมายความว่า เรามีพื้นฐานความต้องการมาจากความหลงตัวเอง คือต้องการให้ใครสักคนเปลี่ยนเพื่อเรา เพื่อให้เราเองรู้สึกดีขึ้น โดยจะเทน้ำหนักของความรู้สึกไปที่ความต้องการอยากจะเปลี่ยนเขา มากกว่าความรู้สึกหรือความเต็มใจของอีกฝ่าย
อาจกล่าวได้ว่าหากเราเป็นคนที่ต้องการให้อีกฝ่ายเปลี่ยนรูปลักษณ์เพื่อเรา หมายถึงเราต้องการให้เขาเปลี่ยนเพื่อเติมเต็มความไม่สมบูรณ์ในจิตใจของเราเอง และต้องการเป็นที่ยอมรับจากคนภายนอก ว่าฉันเองก็มีแฟนที่มีรูปลักษณ์อย่างที่ตัวเองต้องการนะ ฉันไม่ได้บกพร่องต่อสิ่งไหนไปเลยนะ ซึ่งความต้องการเหล่านี้นอกจากจะทำลายความมั่นใจของคนรักแล้ว ยังอาจทำลายความสัมพันธ์อีกด้วย
มาถึงตรงนี้แล้ว คนที่ต้องการให้อีกฝ่ายเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกด้วยความหวังดี หวังให้เขามีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ดี เริ่มเกาหัวแล้วว่า อย่างนี้เราจะสามารถบอกให้คนรักเปลี่ยนบ้างได้หรือเปล่า? จะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ไปด้วยไหม? โฮคเมเยอร์แนะนำว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องยาก หากต้องการให้อีกฝ่ายเปลี่ยนมันด้วยความหวังดีจริงๆ ควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงการตัดสินภาพลักษณ์ที่อีกฝ่ายเป็นอยู่ในตอนนี้
- มอบพลังบวกในการเปลี่ยนแปลง อย่างการออกกำลังกายร่วมกัน ทำอาหารร่วมกัน
- วางตัวเองเป็นมิตร ไม่เป็นคนกำหนดทิศทางในการเปลี่ยนแปลงนั้นเพียงคนเดียว
หรือถ้าเราเป็นฝ่ายที่กำลังถูกร้องขอให้เปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในตัวเอง ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองอย่างหนักแน่นว่า สิ่งที่เราจะเปลี่ยนนั้นมันตรงกับความต้องการของเราไหม? ไม่ใช่แค่เพื่อเอาอกเอาใจอีกฝ่าย แต่มันมาจากความต้องการจริง ๆ ของเรามากแค่ไหนกัน? หรืออาจจะต้องถอยห่างออกมาเพื่อมองให้กว้างขึ้นว่า หากความต้องการไม่ตรงกันแล้วความสัมพันธ์ของเรานั้นลงตัวแค่ไหน เรากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ตกเป็นเหยื่อของการถูกวิจารณ์เกินขอบเขตในรูปแบบของความรักอยู่หรือเปล่า?
นั่นก็เพราะว่าพฤติกรรมโน้มน้าวให้เปลี่ยนรูปลักษณ์ ยังเข้าข่ายพฤติกรรม Manipulation ที่ใครคนหนึ่งมักจะบงการให้อีกฝ่ายทำตามสิ่งที่ตนต้องการ โดยอาศัยการโน้มน้าวว่าสิ่งที่บอกนั้นเป็นความหวังดี อาจจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ไปจนถึงบงการทุกรายละเอียดในชีวิต หากเริ่มรู้สึกว่าในความสัมพันธ์ของเรากำลังเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น นอกเหนือจากเรื่องรูปลักษณ์แล้ว เราอาจจะต้องระมัดระวังความสัมพันธ์นี้ให้ดี
บางครั้งเราอาจเป็นคนหลงตัวเองโดยไม่รู้ตัว บางครั้งเราอาจเป็นเหยื่อถูกรังแกในรูปแบบของความรักโดยไม่รู้ตัว หมั่นสำรวจความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เราได้พบเจอกับความสัมพันธ์ที่ดีและไม่เป็นพิษกับใจ
อ้างอิงจาก