“ทหาร ซึ่งก็เป็นข้าราชการ ถ้าทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต และประพฤติมิชอบก็ต้องขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเช่นเดียวกับข้าราชการคนอื่นๆ ไม่ใช่บอกว่าเป็นคนที่อยู่ในอำนาจขอบเขตของศาลทหาร แล้วไปขึ้นศาลทหาร”
ข้อความนี้คือช่วงหนึ่งในการอภิปรายโดย เชตวัน เตือประโคน สส.พรรคประชาชน จ.ปทุมธานี เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ในวาระที่อภิปรายเรื่อง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่… พ.ศ. …)
แล้วสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้คืออะไร?
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชน ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ บอกถึงหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่า “ข้าราชการที่ทุจริต ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพลเรือน ข้าราชการท้องถิ่น หรือข้าราชการทหาร ต้องขึ้นศาลเดียวกัน นั่นก็คือ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ”
หรือพูดกันแบบเข้าใจง่ายๆ คือ การโอนคดีทุจริตต่างๆ ของกองทัพ ไปตัดสินกันบนศาลพลเรือนนั่นเอง
สส.วิโรจน์ อธิบายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเหมือนการปักหมุดเพื่อปฏิรูปกองทัพ แก้ปัญหา ‘ทหารปกป้องพวกเดียวกันเอง’ รวมถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘รัฐซ้อนรัฐ’
“ให้กองทัพเลิกทำตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐ ที่มีระบบยุติธรรมของตัวเอง สามารถปกป้องความผิดของพวกพ้องตัวเอง ทำตัวให้อยู่เหนือกฎหมาย” วิโรจน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี ในการประชุมเมื่อวานนี้ ได้มีความเห็นจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญของการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้เขาจะลงมติเห็นด้วย แต่ก็โต้แย้งว่า ตัวแทนศาลยุติธรรมได้ให้ความเห็นอย่างมีน้ำหนักว่า จะพบปัญหาจากการบังคับใช้ เนื่องจากไม่มีการรองรับเขตอำนาจต่อคดีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะที่ อดิศร เพียงเกษ สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบต่อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทหารอยู่มากพอสมควร แน่นอนว่าในรัฐธรรมนูญฉบับอดีต ปัจจุบันและอนาคตต้องการให้องค์กรที่ใช้เงินภาษีเป็นองค์กรที่สุจริต และตรวจสอบได้ และองค์กรทหารเป็นองค์กรที่ถูกท้าทายมาก แต่ตนมองว่า การเปลี่ยนกฎหมายอย่างรวดเร็วนี้จะไปขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญศาลทหาร
“ไม่ใช่ว่าให้ไปกลัวทหารนะครับ แต่ว่าถ้าแก้ไขกฎหมายโดยการจับเข่าคุยกันทุกองค์กร พร้อมที่จะแก้ไข พร้อมที่จะให้ตรวจสอบ พร้อมที่จะให้ศาลพลเรือนมาเป็นคณะในศาลทหารอะไรทำนองนั้น ซึ่งจะอำนวยให้กับทุกคนทั้งทหารและพลเรือน แบบนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ?” อดิศรกล่าวในการอภิปรายพร้อมบอกด้วยว่า ตนไม่อยากให้สังคมเกิดความแตกแยกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ
หลังจากนั้น ที่ประชุมรัฐสภา ได้ลงมติ และผลออกมาว่า มีเสียงไม่เห็นด้วยที่ 415 และเห็นด้วย 163 เสียง ทำให้ร่างฯ ถูกตีตกไป ในฝั่งของพรรคเพื่อไทยมีเพียง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่เป็นประธานกรรมาธิการฯ เห็นด้วยเพียงคนเดียวเท่านั้น
ขณะที่ สส.พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคประชาชาติ, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคกล้าธรรม ชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นชอบเช่นกัน
เมื่อกฎหมายถูกตีตก วิโรจน์ ในฐานะผู้นำเสนอร่างกฎหมายนี้ ได้แถลงภายหลังการประชุมว่า ไม่คิดว่าวันนี้จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
“วันนี้ยิ่งกว่าตระบัดสัตย์ ไม่รู้คุณคน เนรคุณเสื้อแดง ไปถามแกนนำด้วยว่า คนเสื้อแดงรู้สึกอย่างไรกับการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ไม่รู้บุญคุณข้าวแดงแกงร้อนของคนเสื้อแดง เสียข้าวสุกที่คนเสื้อแดงเอามาป้อน อดสูที่สุด ผมต้องการคำตอบจาก ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จาก ชลน่าน ศรีแก้ว จากสส.ที่เคยต่อสู้ร่วมกับคนเสื้อแดงว่า คุณไม่รู้สึกสมเพชและอดสูตัวเองหรือ น่าผิดหวังมาก คงไม่มีอะไรที่แย่ไปกว่าวันนี้อีกแล้ว”
เขาขยายความถึงเรื่องคนเสื้อแดงต่อในโพสต์เฟซบุ๊กว่า “พรรคเพื่อไทย จำไม่ได้จริงๆ หรือครับว่า ศาลทหาร คือ กลไกที่ทำให้พี่น้องคนเสื้อแดง ต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม คนเสื้อแดงที่ปกปักรักษาประชาธิปไตย เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ต้องทนทุกข์ทรมานกับการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมายาวนานขนาดไหน”
อ้างอิงจาก
facebook.com