ต่อจากนี้ เหตุการณ์ในคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ และคดี ม.112 อาจจะไม่สามารถถูกนำมาเผยแพร่ได้หากไม่ได้รับอนุญาต
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ศาลอาญาเริ่มมีคำสั่งในรายงานกระบวนการพิจารณาคดี โดยเฉพาะในคดี ม.112 และคดีจากการแสดงออกทางการเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจ โดยระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดนำเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี และในศาลอาญาถ่ายทอดสู่สาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต
ซึ่งล่าสุดพบว่ามีอย่างน้อย 4 คดีแล้ว ที่ศาลมีคำสั่งในลักษณะเดียวกันแม้จะไม่ใช่คณะพิจารณาเดียวกัน
เริ่มต้นจาก การนัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลของ ‘อานนท์ นำภา’ โดยศาลได้นำตัวอานนท์เข้าไปอ่านคำสั่งในห้องเวรชี้ และไม่ให้ประชาชนหรือผู้สังเกตุการณ์เข้าฟัง ขณะที่อานนท์ได้แสดงออกประท้วงโดยการถอดเสื้อ เตะขาที่มีโซ่กุญแจระหว่างศาลอ่านคำสั่ง โดยที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน
ซึ่งหลังจากที่ศาลอ่านคำสั่งแล้ว ได้มีการบันทึกในรายงานกระบวนการพิจารณาคดีด้วยว่า
“ห้ามมิให้บุคคลใดนำเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีและในศาลอาญาถ่ายทอดเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต มิฉะนั้น ศาลจะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลต่อไป”
เช่นเดียวกับ กรณีของการสืบพยานคดีม.112 ของ ‘ตะวัน–ทานตะวัน ตัวตุลานนท์’ เมื่อวันที่ 2 เมษายน จากกรณีไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ และการสืบพยานคดีม.112 ของอานนท์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน โดยศาลได้มีคำสั่งในรายงานเช่นเดียวกับคดีของอานนท์ก่อนหน้านี้ และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 – 23 เมษายน ที่ผ่านมา จากการสืบพยานคดีม.112 ของ ‘นรินทร์’ ที่โพสต์เฟซบุ๊กในเพจชื่อ กูKult ศาลก็ได้มีคำสั่งในลักษณะเดียวกันทั้ง 2 วันที่มีการสืบพยาน
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายฯ ยังระบุด้วยว่า ปัญหาที่ตามมาจากคำสั่งดังกล่าว คือ ความไม่ชัดเจนของคำสั่งที่ใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ เช่น ห้ามเผยแพร่เหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี ซึ่งอาจครอบคลุมการถ่ายทอดถ้อยคำจากการอ่านคำพิพากษา การบรรยายภาพบรรยากาศ หรือแม้แต่การอธิบายปฏิกิริยาของผู้พิพากษาหรือคู่ความในห้องพิจารณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจธรรมชาติของกระบวนการ
สิ่งนี้ตามมาด้วยการตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมว่าเหตุใดจึงต้องมีการพิจารณาคดีในขณะที่มีคำสั่งห้ามประชาชนหรือผู้สังเกตุการณ์เข้าร่วมฟัง รวมถึงการห้ามเผยแพร่รายละเอียดในห้องพิจารณาคดี
ศูนย์ทนายฯ ระบุถึงความเสี่ยงที่ตามมาว่าจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมแห่ง ‘ความกลัว’ ต่อการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในอนาคตหรือไม่
อ้างอิงจาก