ลองจินตนาการตัวเองในวัย 7 ขวบ แล้วคิดดูว่าถ้าเราได้ยินข่าวลือแย่ๆ ของเพื่อนคนหนึ่ง เช่น ขโมยของหรือทำลายของเล่น เราจะยังเลือกทำดีกับเพื่อนคนนั้นอยู่รึเปล่า? งานวิจัยล่าสุดเผยว่า ข่าวลือแย่ๆ ที่ได้ฟังมาเพียงครั้งเดียวมีอิทธิพลต่อการกระทำของพวกเขามากกว่าเรื่องราวดีๆ ที่ได้ยินจากหลายแหล่ง
แม้ว่าการซุบซิบนินทาอาจทำให้รู้ว่าเราเชื่อใจใครได้บ้าง แต่เราอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากข้อมูลผิดๆ ได้
และความเสี่ยงดังกล่าวคือ หนึ่งในสิ่งที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซากาและ NTT Communication Science Laboratories ในเกียวโต ตั้งคำถามในงานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ ในชื่อ ‘Children are sensitive to the number of sources when relying on gossip’
งานวิจัยดังกล่าวให้เด็ก 7 ขวบ ทั้งหมด 108 คน ดูวิดีโอสั้นๆ ของตัวละครหุ่นเชิด ที่ตัวหนึ่งใส่เสื้อลายตาราง และอีกตัวใส่เสื้อลายจุด หลังจากแนะนำตัว ทั้งสองก็ออกไปจากจอ เพื่อให้ตัวละครหุ่นเชิดอีก 5 ตัว ได้เข้ามาเล่าเรื่องซุบซิบเกี่ยวตัวละครที่ออกไป โดยเป็นทั้งเรื่องที่ดี เรื่องที่เป็นกลาง และเรื่องที่แย่ เกี่ยวกับตัวละครทั้งสอง
หลังจากคลิปวิดีโอจบลง ผู้วิจัยขอให้เด็กๆ แจกสติกเกอร์รางวัลให้กับตัวละครหุ่นเชิดทั้งสอง ผู้วิจัยพบว่าเด็กๆ มีท่าทีที่ใจดีกับตัวละครมากขึ้น ก็ต่อเมื่อได้ยินเรื่องราวเชิงบวกหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับตัวละคร อย่างไรก็ตามเพียงแค่ได้ฟังข่าวลือแย่ๆ แค่ครั้งเดียว กลับทำให้เด็กๆ ไม่อยากให้รางวัลกับตัวละคร
“ข่าวลือเชิงบวกมีผลต่อการกระทำของเด็กๆ ก็ต่อเมื่อมีผู้เล่าหลายคน ไม่ใช่คนเดียว แต่ในทางกลับกันพวกเขาเชื่อข่าวลือลบๆ โดยไม่สนใจแหล่งที่มา” ผู้วิจัยเขียน พร้อมทั้งยังแสดงความกังวลอีกว่า เมื่อฟังข่าวลือเรื่องแย่ๆ แล้ว เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะปรับพฤติกรรมตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายจากคนในข่าวลือ
อิทธิพลของข่าวลือด้านลบในเด็กอาจกลายเป็นปัญหาได้ เมื่อเรื่องราวร้ายๆ ที่เด็กๆ ได้ฟังเพียงหนเดียว สามารถสร้างพฤติกรรมที่สร้างบาดแผลในใจให้เด็กคนนั้นได้ โดยบางทีข่าวลือนั้นอาจไม่ใช่เรื่องจริงด้วยซ้ำไป สิ่งที่น่ากังวลคือข่าวลือนั้นอาจนำไปสู่การกีดกันทางสังคม หรือแม้แต่การกลั่นแกล้งในอนาคตได้
แน่นอนว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้น การตัดสินใจเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อข่าวลือแย่ๆ จะเปลี่ยนไป แต่บาดแผลในใจของเด็กๆ จะคงอยู่ การวิจัยนี้อาจเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้เราหันมาใส่ใจดูแลเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากข่าวลือแย่ๆ
อ้างอิงจาก
https://royalsocietypublishing.org/doi/10.1098/rsos.230375#