จากข่าวเรื่องที่เครื่องบินสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากที่เครื่องบินเผชิญกับการตกหลุมอากาศ ทำให้หลายๆ คนสงสัยกันต่อว่า แล้วการตกหลุมอากาศนี่จริงๆ แล้วมันคืออะไรนะ?
อธิบายแบบง่ายๆได้ว่าเวลาที่เครื่องบินกำลังบินอยู่และเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจะมีแรงดันของอากาศไหลผ่านทั้งด้านบนและด้านล่างของปีกเครื่องบินอยู่ลักษณะคล้ายกับการที่มีทั้งอากาศด้านบนและล่างของพยุงเครื่องบินอยู่ตลอด
โดยส่วนใหญ่แล้ว เครื่องบินจะเคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่อากาศมีความหนาแน่นที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้การบินไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น
อย่างไรก็ดี เมื่อเครื่องบินต้องบินผ่านบริเวณที่ความหนาแน่นของอากาศ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นการบินเข้าสู่ก้อนเมฆ รวมถึงผลกระทบของลมจากสภาพภูมิประเทศด้านล่างเครื่องบิน และปรากฏการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้า มันก็จะทำให้เครื่องบินสั่นขึ้นๆ ลงๆ ได้
ทั้งนี้ ระดับของความรุนแรงของหลุมอากาศ มี 3 ระดับ ได้แก่
1) หลุมอากาศระดับเบา (Light Turbulence) เป็นหลุมอากาศที่ผู้โดยสารบนเครื่องบินอาจจะไม่ได้รู้สึกถึง
2) หลุมอากาศระดับกลาง (Moderate Turbulence) ผู้โดยสารสามารถรู้สึกถึงได้ ถ้าผู้โดยสารกำลังเดินหรือไม่รัดเข็มขัด อาจจะตัวลอยขึ้นอย่างฉับพลันและเกิดอาการบาดเจ็บจากการกระแทกสิ่งต่างๆ บนเครื่องบินได้
หลุมอากาศระดับรุนแรง (Severe Turbulence) ผู้โดยสารรู้สึกได้อย่างชัดเจน เกิดการสั่นอย่างรุนแรง ส่งผลให้สิ่งต่างๆ ที่อยู่บนเครื่องบินกระจัดกระจายได้ ถ้าไม่รัดเข็มขัดหรือกำลังเดินอยู่ อาจได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้
อย่างไรก็ดี เว็บไซต์กองอุตุนิยมวิทยาการบิน ระบุเอาไว้ด้วยว่า การตกลุมอากาศก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่อากาศแจ่มใสก็ตาม โดยสิ่งนี้ถูกเรียกว่า ‘ความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส’ (Clear Air Turbulence)
Clear Air Turbulence หมายถึง การตกลุมอากาศโดยที่เครื่องบินไม่ได้บินเข้าไปในเมฆแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากการที่กระแสลมเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน และนักบินก็อาจจะไม่ได้รู้มาก่อนล่วงหน้า
ทั้งนี้ทั้งนั้น เครื่องบินแทบทั้งหมดที่ผ่านการทดสอบคุณภาพและความปลอดภัย จะถูกผลิตและออกแบบมาเพื่อรองรับการตกหลุมอากาศมาเป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้น การตกหลุมอากาศจะไม่ส่งผลให้เครื่องบินตกได้แน่นอน
แต่การตกหลุมอากาศจึงสามารถเกิดได้ในหลายช่วงเวลา มีทั้งสิ่งที่นักบินสามารถวิเคราะห์ได้ล่วงหน้า และไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ นี่จึงเป็นเหตุที่นักบินและลูกเรือของสายการบินต่างๆ มักจะแนะนำให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดอยู่เสมอๆ เพื่อความปลอดภัย ไม่ว่ากำลังนั่ง หรือกำลังปรับเบาะเพื่อเอนนอนลงไปอยู่ก็ตาม เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/travel/how-air-turbulence-creates-danger-in-the-skies/index.html
http://www2.aeromet.tmd.go.th/KnowledgeOCAT.php